ทรงเปิดโลกพิพิธภัณฑสถานสู่สากล
ทรงเปิดโลกพิพิธภัณฑสถานสู่สากล
“...โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และโบราณสถานทั้งหลายนั้นล้วนเป็นของมีคุณค่าและจำเป็นแก่การศึกษาค้นคว้าในทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ และโบราณคดี เป็นเครื่องแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของชาติไทยที่มีมาแต่อดีตกาล สมควรจะสงวนรักษาให้คงทนถาวรเป็นสมบัติส่วนรวมของชาติไว้ตลอดกาล โดยเฉพาะโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ ควรจะได้มีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเก็บรักษาและตั้งแสดงให้นักศึกษาและประชาชนได้ชม และศึกษาหาความรู้ให้มากและทั่วถึงยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้...”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๐๔
พิพิธภัณฑสถานในประเทศไทยกำเนิดขึ้นจากพระราชดำริและความสนพระราชหฤทัยของพระมหากษัตริย์ในโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ ดังที่ปรากฏว่าในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งจัดพิพิธภัณฑสถานส่วนพระองค์ขึ้นเป็นครั้งแรก ณ พระที่นั่งราชฤดี ภายในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดศาลาสหทัยสมาคม หรือหอคองคอเดียเป็นพิพิธภัณฑสถานหรือมิวเซียมหลวง จัดแสดงโบราณวัตถุ เครื่องราชูปโภค และสิ่งของหลากหลาย และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปิดพิพิธภัณฑสถาน เพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๑๗ เหตุนี้รัฐบาลจึงประกาศให้วันที่ ๑๙ กันยายนของทุกปีเป็นวันพิพิธภัณฑ์ไทย เนื่องจากเป็นวันที่คนไทยทั้งชาติได้รับพระราชทานพิพิธภัณฑสถานสำหรับประชาชนเป็นครั้งแรก
การดำเนินงานพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของไทยตั้งแต่อดีต ล้วนได้รับพระมหากรุณาธิคุณอย่างต่อเนื่องมาทุกรัชสมัย ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงสนพระราชหฤทัยในวิทยาการอันหลากหลายและตั้งพระราชหฤทัยที่จะพัฒนาประเทศในทุกด้าน ทรงเล็งเห็นคุณค่าของโบราณสถาน โบราณวัตถุ อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่ง จำเป็นต้องให้การคุ้มครอง ดูแล และอนุรักษ์ไว้เป็นสมบัติของชาติ
พระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีต่อกิจการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากรนั้น ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าส่วนหนึ่งมาจากแรงบันดาลใจที่ทรงได้รับจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงสนพระราชหฤทัย และทรงเห็นคุณค่าของโบราณวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
เสด็จพระราชดำเนินพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ครั้งแรก
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นครั้งแรกเมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๑ โดยทรงเล่าไว้ในหนังสือพระราชทานเพลิงศพนางจิรา จงกล อดีตผู้อำนวยการกองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ว่า
“...เมื่ออายุได้ ๑๑ ปี ได้ตามเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ไปประเทศอังกฤษ เด็กในวัย ๑๐ ปี กำลังซน อยากรู้อยากเห็นและพร้อมที่จะเรียนและจดจำ ถ้าปล่อยให้ว่างก็อาจเสียโอกาสที่จะได้ประโยชน์อันควร พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวิภาวดี รังสิต หรือท่านหญิงวิภาฯ ในขณะนั้น ทรงสอนประวัติศาสตร์อังกฤษ พาไปดูพิพิธภัณฑ์และสถานที่น่าสนใจต่างๆ เมื่อกลับถึงเมืองไทยแล้วข้าพเจ้าจึงมีโอกาสต่อเนื่องที่จะไปศึกษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ผู้ที่ให้ความรู้แก่ข้าพเจ้าในช่วงนั้นมีศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ศาสตราจารย์ชิน อยู่ดี เป็นต้นที่จำได้แน่นอนคือ อาจารย์จิรา จงกล...”
การเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครในครั้งนั้น นอกจากจะทำให้พระองค์ทรงมีความรู้เรื่องประวัติศาสตร์โบราณคดีที่สนพระราชหฤทัยมากขึ้นแล้ว ยังทำให้พระองค์ตระหนักถึงพิพิธภัณฑสถานมาแต่ทรงพระเยาว์อีกด้วย
ต่อมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรพิพิธภัณฑสถานในต่างประเทศทั่วโลกด้วย เนื่องจากทรงตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ของพิพิธภัณฑสถานว่าเป็นแหล่งให้ความรู้แก่คนทุกๆ ด้าน มีประโยชน์แก่คนทุกวัย ทุกอาชีพจริงๆ
พระราชกรณียกิจในงานพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการที่เกี่ยวข้องกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินับแต่ทรงพระเยาว์สืบเนื่องกระทั่งถึงปัจจุบัน อาทิ การเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ทรงเป็นประธานในพิธีเปิดนิทรรศการพิเศษเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทยเป็นประจำทุกปี ทรงนำเสด็จประมุขหรือผู้นำประเทศต่างๆ คณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลในพระบรมราชูปถัมภ์ รวมทั้งทรงนำนักเรียนโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าทัศนศึกษา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เป็นต้น โดยทุกครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินจะพระราชทานแนวพระราชดำริหรือทรงรับสั่งเกี่ยวกับพิพิธภัณฑสถาน นิทรรศการหรือโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่ได้ทอดพระเนตรแก่ผู้บริหารกรมศิลปากร ซึ่งล้วนก่อให้เกิดคุณประโยชน์ต่อกิจการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติและการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของชาติเป็นอย่างยิ่ง
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๒๐ กระทั่งถึงปัจจุบันมี ๑๖ แห่ง ได้แก่
๑. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป กรุงเทพฯ วันที่ ๘ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๒๐
๒. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย จังหวัดลำพูน วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๒๒
๓. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ประวัติศาสตร์ชาติไทย
ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร วันที่ ๒๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๒๕
๔. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก จังหวัดสุโขทัย วันที่ ๑๕ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘
๕. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี วันที่ ๒๗ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๒๘
๖. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน วันที่ ๑๔ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๓๐
๗. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติถลางจังหวัดภูเก็ต วันที่ ๑๔ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๓๒
๘. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี วันที่ ๓๐ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๓๒
๙. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี วันที่ ๑๔ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๓๔
๑๐. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย จังหวัดนครราชสีมา วันที่ ๔สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๓๖
๑๑. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน จังหวัดเชียงราย วันที่ ๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๔๐
๑๒. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ร้อยเอ็ด วันที่ ๒๐ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๔๑
๑๓. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพร วันที่ ๓๐ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๔๒
๑๔. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สตูล วันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๔๓
๑๕. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ วันที่ ๑๗ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๒
๑๖. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง วันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๕๓
นอกจากการเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในจังหวัดต่างๆแล้ว ยังทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดนิทรรศการพิเศษที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากรจัดขึ้น เช่น
· นิทรรศการพิเศษเนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พุทธศักราช ๒๕๒๖ และ ๒๕๒๗
นิทรรศการพิเศษเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๒๘ ประกาศให้วันที่ ๒ เมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ องค์เอกอัคราชูปถัมภกมรดกวัฒนธรรมไทย เป็นวันอนุรักษ์มรดกไทย ด้วยตระหนักในพระปรีชาสามารถทางด้านศิลปวัฒนธรรมของพระองค์ และพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงอนุเคราะห์และสนับสนุนกิจกรรมอันเนื่องด้วยงาน วัฒนธรรมของชาติตลอดมา ในการนี้ กรมศิลปากรจึงได้จัดนิทรรศการเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย เป็นประจำทุกปี และกราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ โดยเสมอกระทั่งถึงปัจจุบัน
การพัฒนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติตามแนวพระราชดำริ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสนพระราชหฤทัยและทรงห่วงใยการดำเนินงานด้านพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติโดยเสมอมา พระองค์ได้พระราชทานแนวพระราชดำริหรือทรงรับสั่งเกี่ยวกับพิพิธภัณฑสถานในด้านต่างๆ เช่น งานวิชาการ งานคลัง งานจัดแสดงนิทรรศการ งานอนุรักษ์โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ เป็นต้น
แนวพระราชดำริด้านคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงสนพระราชหฤทัยและให้ความสำคัญกับเรื่องคลังพิพิธภัณฑ์ ทรงใช้บริการของคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขณะนั้น ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครตั้งแต่ทรงศึกษาในชั้นปีที่ ๔ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อศึกษาศิลาจารึกปราสาทพนมรุ้งที่กรมศิลปากรขุดค้นพบใหม่ขณะบูรณะปราสาทและอีกหลายคราเมื่อทรงศึกษาในบัณฑิตวิทยาลัยที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาวิชาภาษาบาลี สันสกฤต กับที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร สาขาวิชาจารึกภาษาตะวันออกและอีกหลายครา ได้พระราชทานแนวพระราชดำรัสเกี่ยวกับการปรับปรุงพัฒนาคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในโอกาสต่างๆ ดังนี้
พุทธศักราช ๒๕๓๒ ทรงเป็นประธานพิธีเปิดนิทรรศการเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย เรื่อง ประชาชนพร้อมพรักอนุรักษ์มรดกไทย ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ขณะทอดพระเนตรนิทรรศการได้รับสั่งถึงคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่เคยเสด็จมาศึกษาค้นคว้าศิลาจารึกว่ามีการปรับปรุงหรือย้ายไปที่อื่นบ้างหรือไม่ เพราะการจัดวางโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ อยู่ในสภาพแออัด ทรงแนะนำว่า เราควรจะปรับปรุงพัฒนาคลังให้มีระบบ เป็นระเบียบ สามารถใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น
พุทธศักราช ๒๕๓๔ เมื่อครั้งทรงนำนักเรียนโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าไปทัศนศึกษาอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและศรีสัชนาลัย ทรงมีพระราชดำรัสว่า
“... เรื่องของโบราณวัตถุอันที่จริงไม่นิยมนักสะสมของเก่า แต่เมื่อกรมศิลปากรไม่มีสถานที่พอจะเก็บโบราณวัตถุและในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ก็มีคลังเก็บโบราณวัตถุ ซึ่งเก็บไว้แน่นมาก ไม่สามารถจัดให้เป็นระบบได้ก็จนใจ โบราณวัตถุบางชิ้นที่มีผู้มอบให้ไม่เคยได้นำมาจัดแสดง เข้าใจว่าของที่มีอยู่ในคลังก็คงจะจัดแสดงหมุนเวียนไม่ทั่วถึงอยู่แล้ว ดังนั้นการที่มีผู้สะสมเก็บรักษาไว้ก็นับเป็นการช่วยอนุรักษ์โบราณวัตถุทางหนึ่ง และกรมศิลปากรน่าจะสร้างคลังพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่เพื่อจัดของให้เป็นระบบและใช้เป็นสถานที่ศึกษาเปรียบเทียบโบราณวัตถุได้...”
ในปีเดียวกันเมื่อพระองค์พระราชทานเครื่องดนตรีญี่ปุ่น ซึ่งได้รับการทูลเกล้าฯถวายจากบริษัทสยามกลการ จำกัด ให้แก่กองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเก็บรักษาไว้ ครั้งนั้นทรงรับสั่งถึงคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติว่า คลังพิพิธภัณฑ์ต้องเก็บโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก ยังไม่เป็นคลังที่มีระบบและไม่สามารถทำเป็นศูนย์กลางการศึกษาวิจัยหรือ Study Collection ได้ ซึ่งจะเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก สมควรจัดให้มีขึ้น
พุทธศักราช ๒๕๔๔ เมื่อครั้งเสด็จเป็นการส่วนพระองค์ ทอดพระเนตรพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร รวมทั้งคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติด้วย ทรงมีพระราชดำรัสว่า
“... รู้สึกพิพิธภัณฑ์ก็มี ๒ เรื่อง คือ เป็นที่เก็บของเก่าๆหรือเก็บของ จะเก่ามาก เก่าน้อยก็ตาม คือเป็นโกดังเก็บของ … ที่เป็นของส่วนมากก็จัดระเบียบของที่เป็นงานศิลปะหรือเป็นของที่น่าสนใจที่ควรจะเก็บรักษาไว้ก็เก็บ …ก็ที่เคยปรึกษากันว่าจะทำอย่างไร ว่าจะเป็นเหมือนกับบริษัทหรือโรงงานเขาก็เก็บของในสต็อก คือ วางไว้เป็นระเบียบ เป็นประเภทเป็นหมวด เป็นหมู่ …มีระบบบัญชีเรื่องการเรียก โดยใช้อุปกรณ์สมัยใหม่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ ถ้าทำได้ก็สะดวกดี ก็ทำได้ทั้งพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็กขนาดใหญ่ ถ้าฝ่ายในสต็อกดีก็จะดูได้ว่าของต่างๆอยู่ในสภาพใดควรจะจัดการอย่างไร เช่น ควรจะซ่อมหรือว่าซ่อมแล้ว ควรจะทำหรือเก็บจัดวางลักษณะไหนให้สิ่งนั้นได้อยู่นานเป็นที่ชื่นชม แล้วก็ให้ความรู้กับอื่นอีกต่อไปได้ …”
วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๔๖ ทรงนำคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ เข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง มีนางอมรา ศรีสุชาติ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง นำเสด็จฯ ทอดพระเนตร และในระหว่างการเสด็จฯ มีพระกระแสรับสั่งถึงเรื่องการจัดการโบราณวัตถุของชาติที่มีเป็นจำนวนมาก จึงควรสร้างคลังในส่วนภูมิภาคเพื่อเก็บโบราณวัตถุเหล่านั้น และการดำเนินการคลังเปิดที่สามารถให้ประชาชนเข้าไปศึกษาได้ รวมทั้งการจัดทำฐานข้อมูลทะเบียนโบราณวัตถุที่สามารถให้บริการเผยแพร่ต่อสาธารณชนในวงกว้าง
การพัฒนาคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติตามแนวพระราชดำริ
ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๓๕ เป็นต้นมา กรมศิลปากรสนองแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ด้วยการปรับอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ซึ่งมีแผนจะจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานด้านชาติพันธุ์วิทยา จำนวน ๒ หลัง มาเป็นคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในลักษณะคลังกลาง (Central storage) มีการพัฒนาระบบทะเบียนบัญชีและบัตรรายการโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุในรูปแบบของฐานข้อมูล (Database system) การจัดเก็บโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ เป็นหมวดหมู่ตามชนิดวัตถุในรูปแบบของคลังกึ่งจัดแสดง (Visible storage) และสามารถให้บริการสืบค้นข้อมูลโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ เพื่อการศึกษาวิจัยหรือ Study Collection ได้ ส่วนคลังพิพิธภัณฑ์ตามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติต่างๆ ก็ได้รับการปรับปรุงพัฒนาทั้งในเรื่องขนาดพื้นที่ ระบบทะเบียนบัญชี ระบบจัดเก็บและระบบรักษาความปลอดภัยโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ อย่างต่อเนื่อง
ในอนาคต ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ๔๐ แห่ง พุทธศักราช ๒๕๕๘-๒๕๖๓ ของกรมศิลปากร จะมีการก่อสร้างอาคารคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหลังใหม่รวมกับศูนย์วิทยาศาสตร์ เพื่อการอนุรักษ์มรดกศิลปวัฒนธรรมในบริเวณที่ดิน ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี รวมทั้งการสร้างคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประจำภูมิภาคต่างๆ อีก ๔ แห่ง เพื่อรองรับจำนวนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่มีเพิ่มมากขึ้นทุกปี และเพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลและอนุรักษ์โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่ได้มาตรฐานสากล สามารถให้บริการสาธารณชนในฐานะแหล่งเรียนรู้สำคัญประเภทหนึ่งของประเทศ ส่วนอาคารคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (คลังกลาง) เดิม ๒ หลังจะใช้จัดแสดงวัตถุชาติพันธุ์ในประเทศไทยตามวัตถุประสงค์แรกเริ่มของกรมศิลปากร
แนวพระราชดำริด้านการอนุรักษ์โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ
การเสด็จพระราชดำเนินมายังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ทุกครั้ง ทุกครั้งมักมีรับสั่งถามเกี่ยวกับศิลปโบราณวัตถุ และเรื่องราวเกี่ยวกับนิทรรศการ นอกจากนี้ในครั้งที่เสด็จฯ ทอดพระเนตรการจัดแสดงภายในอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ นายสมชาย ณ นครพนม ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในขณะนั้นซึ่งเป็นผู้ถวายคำบรรยายนำชม ได้เล่าว่า มีรับสั่งเกี่ยวกับตู้พระธรรมวัดเซิงหวายว่า เมื่อทรงพระเยาว์ได้ทอดพระเนตรตู้ใบเดียวกันนี้ ในตอนนั้นมีสีชัดกว่า แต่ตอนนี้สีซีดลง จึงควรมีวิธีการดูแลอย่างไร และควรปรับปรุงการจัดแสดงโดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อม โดยมีเทคนิคทางวิทยาศาสตร์ เพื่อเป็นการอนุรักษ์ตู้พระธรรมดังกล่าว
นอกจากนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง วันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๕๓ ทรงมีพระแสรับสั่งว่าอยากให้คนไทยเห็นความสำคัญของการเก็บรักษาโบราณวัตถุ และให้เก็บรักษาไว้ให้ดี เพราะโบราณวัตถุเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อแผ่นดิน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงโบราณวัตถุที่ค้นพบ กับวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น เพื่อที่จะได้ทราบความเป็นมาของโบราณวัตถุชิ้นต่างๆ ว่าอยู่ในยุคสมัยใด มีอารยธรรมมาจากชนชาติใด รวมทั้งทรงรับสั่งว่า ประเทศไทยมีมรดกทางวัฒนธรรมมากมายต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการอนุรักษ์ จึงอยากให้ประชาสัมพันธ์แก่ประชาชนและภาคเอกชนได้รับรู้และเข้าใจ เพื่อร่วมกันบริจาคเงินและมีส่วนร่วมอนุรักษ์มรดกของชาติไว้ และใช้ประโยชน์จากพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ให้เพิ่มมากขึ้น
การพัฒนางานด้านอนุรักษ์ตามแนวพระราชดำริ
กรมศิลปากรได้ตระหนักถึงความสำคัญของกระแสพระราชดำรัสดังกล่าว และได้น้อมนำมาถือปฏิบัติอย่างเต็มกำลัง รวมทั้งศึกษาหาวิธีการที่เหมาะสมมาใช้อนุรักษ์โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุชนิดต่างๆ นอกจากนี้ กรมศิลปากรได้จัดทำโครงการสร้างศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์มรดกศิลปวัฒนธรรม เพื่อรองรับปริมาณโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่ต้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ และเพื่อติดตั้งเครื่องมือขนาดใหญ่ที่มีความจำเป็นต่อการปฏิบัติงานเพิ่มขึ้น อีกทั้งเพื่อเป็นศูนย์กลางการบริการการศึกษา ฝึกอบรม สัมมนา ที่ทันสมัยและเป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล
แนวพระราชดำริด้านการจัดแสดงนิทรรศการ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระกระแสรับสั่งเกี่ยวกับการจัดแสดงนิทรรศการหลายครั้ง ให้กรมศิลปากรใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงการจัดแสดง เพื่อให้ผู้เข้าชมได้รับประโยชน์และได้ความรู้จากนิทรรศการมากที่สุด
“...ในพิพิธภัณฑ์ก็มีอีกหน้าที่คือ หน้าที่การจัดแสดง ของที่ตั้งวางให้ชมนี้ เป็นเหมือนอุปกรณ์การสอน หรือที่เรียกว่าสื่อการสอน เพื่อที่จะให้คนมีความรู้ในเรื่องต่างๆ ...ดึงความรู้จากสิ่งของนั้นมากที่สุด คุณค่าของมันไม่ได้อยู่ที่ว่าทำด้วยเงินทำด้วยทอง แต่อยู่ที่ว่าสิ่งนั้นเหมือนหนังสือที่จะให้ความรู้เหมือนครูสอน ความรู้ได้ที่ไหน จากคนที่ไปพิพิธภัณฑ์...แต่ก็ต้องมีคนนำชม คนนำชมนี้น่าจะอบรม หรือว่าให้ความรู้เขาเป็นอย่างดี นอกจากความรู้ที่ได้จากการอบรมแล้ว ก็น่าจะมีการส่งเสริมเขาให้มีการค้นคว้า...”
พระราชดำรัสของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งเสด็จฯ เป็นการส่วนพระองค์ ทอดพระเนตรพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อพุทธศักราช ๒๕๔๔
“...พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์หรือพื้นบ้านต้องมืดๆ ...ถ้าพิพิธภัณฑ์ศิลปะนี่ เราต้องเห็นรายละเอียดว่าเป็นอย่างไรทำอย่างไร จะเป็นผ้า เครื่องถ้วย รูปเขียน ของชาติพันธุ์ ที่สำคัญความรู้อย่างหนึ่ง มักโยงกันหลายเรื่อง โยงกับชีวิตประจำวัน โยงกับงานช่างฝีมือของคน สติปัญญาและเทคโนโลยีสมัยต่างๆ มันจึงจัดยาก...”
บทพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มักทรงเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพิพิธภัณฑสถานต่างๆ ที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทอดประเนตร อาทิ เรื่อง ข้างเขาดิน ทรงถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรพิพิธภัณฑสถานต่างๆ ในประเทศญี่ปุ่น จำนวน ๑๐ แห่ง นอกจากเรื่องราวทางวิชาการประวัติศาสตร์ โบราณคดีแล้ว พระองค์ยังได้ทรงกล่าวถึงวิธีการจัดแสดงนิทรรศการให้น่าสนใจ ให้พิพิธภัณฑสถานเป็นแหล่งให้ความรู้แก่คนทุกๆ ด้าน มีประโยชน์แก่คนทุกวัย ทุกอาชีพจริงๆ
เมื่อครั้งที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดนิทรรศการพิเศษ เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย พุทธศักราช ๒๕๕๗ พระองค์ทรงแสดงความห่วงใยงานด้านพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ซึ่งอยู่ในการกำกับดูแลของกรมศิลปากร พร้อมทรงรับสั่งแก่ นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และผู้บริหารกรมศิลปากรว่าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศเก็บรักษาโบราณวัตถุที่มีค่าไว้มาก จึงควรมีรูปแบบการจัดแสดงที่น่าสนใจและมีชีวิตชีวา รวมทั้งรับสั่งให้กรมศิลปากรส่งเจ้าหน้าที่ไปศึกษาดูงาน ในต่างประเทศซึ่งเป็นต้นแบบการบริหารจัดการงานที่มีประสิทธิภาพ ทั้งประเทศสิงคโปร์ ฝรั่งเศส และอังกฤษ เพื่อให้บุคลากรด้านวัฒนธรรมนำความรู้และประสบการณ์การทำงานมาใช้พัฒนางานอย่างมืออาชีพและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สำหรับการจัดแสดงในต่างประเทศที่เคยทอดพระเนตร ทรงรับสั่งว่า
“...ที่น่าดูอีกอย่างคือภาพแสดงชีวิตชาวไอนุ เป็นภาพวาดบนผ้า จิตรกรเป็นซามูไรสมัยโตกุกาวะ แบ่งช่องเป็นเดือนๆ ตั้งแต่มกราคมถึงธันวาคม แสดงให้เห็นพิธีกรรมของความเจริญรุ่งเรืองโดยปักกะโหลกหมีไว้หน้าบ้าน มีการใช้ฉมวกจับปลา พวกผู้ชายไปจับปลาลึกๆ ส่วนผู้หญิงกับเด็กจับที่ชายหาดและในแม่น้ำ การเก็บสาหร่ายทะเล พวกไอนุกลั่นน้ำมันจากปลา กากที่เหลือทำปุ๋ย สำหรับการล่าสัตว์ต้องมีเครื่องราง เพื่อให้ล่าสัตว์ได้ดี และมีเครื่องมือพวกกับดักสัตว์ต่างๆ กระเป๋าใส่เครื่องมือเครื่องใช้ ฉมวกสำหรับแทงปลาแซมมอนโดยเฉพาะ ลูกศรพิษ ข้าพเจ้าดูของที่เขาเก็บมาจัดแสดงแล้วรู้สึกทึ่งว่าหามาได้มากมาย นอกจากของที่เจอในเกาะฮอกไกโด แล้วยังมีของที่มาจากเกาะซักการีนอีกด้วย เขาว่าเขารวบรวมได้จากการจัดนิทรรศการใหญ่คนที่มีเชื้อสายบริจาคบ้าง พ่อค้าของเก่าเอามาบ้าง...”
การพัฒนางานด้านการจัดแสดงตามแนวพระราชดำริ
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้รับสนองรับสั่งโดยจะมอบหมายให้ นายบวรเวท รุ่งรุจี อธิบดีกรมศิลปากร เร่งปรับปรุงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ให้เป็นโครงการนำร่องในการจัดทำระบบคลังข้อมูลพิพิธภัณฑ์ เพื่อจัดเก็บโบราณวัตถุให้เป็นระเบียบ สามารถสืบค้นได้ง่ายและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการคัดเลือกโบราณวัตถุมาจัดแสดงได้ง่ายขึ้นด้วย นอกจากนี้จะต้องปรับปรุงนิทรรศการจัดแสดงโบราณวัตถุให้มีความน่าสนใจ สลับสับเปลี่ยนโบราณวัตถุออกมาจัดแสดง ตลอดจนแลกเปลี่ยนโบราณวัตถุไปจัดแสดงหมุนเวียน ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอื่นๆ เพื่อให้ประชาชนต่างพื้นที่ได้เรียนรู้
จากที่กล่าวข้างต้น นับเป็นเพียงส่วนน้อยหากเทียบกับพระราชกรณียกิจนานับปการของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีที่ทรงมีต่อกิจการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระองค์ทรงห่วงใย และพระราชทานแนวพระราชดำริในการปรับปรุง พัฒนา ให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณค่าต่อคนทุกเพศทุกวัยอย่างแท้จริง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้
ที่มาข้อมูล : หนังสือสิปปธัช : พระผู้เป็นธงชัยแห่งสรรพศิลป์ (จัดพิมพ์เนื่องในโอกาส ๑๐๔ ปี แห่งการสถาปนากรมศิลปากร)
(จำนวนผู้เข้าชม 6848 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน