วรรณกรรมและประวัติศาสตร์ตามรอยพระบาทสยามบรมราชกุมารี
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงตระหนักในคุณค่าของหนังสือ
โปรดการอ่าน การศึกษาค้นคว้า และการจดบันทึกเรื่องราวต่างๆ เป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งพระองค์ยังทรงสนพระราชหฤทัยในวรรณคดีไทยและงานกวีนิพนธ์ ซึ่งเป็นผลมาจากทรงได้รับการปลูกฝังพระอุปนิสัย
ดังกล่าวมาจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงเล่าเรื่องในวรรณคดีไทยพระราชทานมาตั้งแต่ครั้งทรงพระเยาว์ ดังบทความตอนหนึ่งในพระราชนิพนธ์เรื่อง “แม่” ว่า
********************************************
เมื่อตอนเล็กๆ ตั้งแต่เริ่มเรียนประถม ท่านสอนภาษาไทย โดยการให้อ่านวรรณคดี เรื่องยืนโรง
สามเรื่อง คือ พระอภัยมณี อิเหนา และรามเกียรติ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องอิเหนา ท่านให้ท่องกลอนตอนที่
เพราะๆ เช่น “ว่าพลางทางชมคณานก โผนผกจับไม้อึงมี่” ฯลฯ
คงจะเป็นเพราะได้อ่านกลอนมาแต่เล็กๆ ทำให้ข้าพเจ้าชอบเรียนวรรณคดีไทยชอบแต่งกลอน
********************************************
และในบทพระราชนิพนธ์เรื่อง “ฉันชอบอ่านหนังสือ” พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่า
********************************************
... หนังสือทางวรรณคดีก็ก่อให้เกิดความเพลิดเพลินและความรู้อย่างกว้างขวาง เช่น หนังสือรามเกียรติ์ พระอภัยมณี ฯลฯ ก็มีเรื่องที่น่าสนใจมาก นอกจากจะเป็นกลอนที่ไพเราะแล้ว
ยังได้รับความรู้และคติเตือนใจ...
********************************************
นอกจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสนพระราชหฤทัยด้านวรรณคดีกวีนิพนธ์แล้ว ยังโปรดการอ่านหนังสือหลากหลายประเภท ซึ่งทำให้ทรงรอบรู้ในศิลปวิทยาการหลายแขนง ทั้งยัง
มีพระปรีชาสามารถด้านการประพันธ์เป็นที่ประจักษ์ ได้ทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมไว้เป็นจำนวนมาก ทั้งประเภทสารคดี บันเทิงคดี และบทความต่างๆ ทั้งที่เป็นร้อยแก้วและร้อยกรอง ผลงานพระราชนิพนธ์มีคุณค่าทางวรรณศิลป์ แสดงให้เห็นถึงความเอาพระราชฤทัยใส่ในความสำคัญของการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง รวมทั้งสาระความรู้และข้อคิด อันเป็นคุณประโยชน์แก่เยาวชนและผู้อ่าน ทรงเห็นคุณค่าและความสำคัญของวรรณคดีไทยโบราณ ตลอดจนการแต่งคำประพันธ์ตามขนบวรรณคดีทรงพระราชนิพนธ์บทกวีนิพนธ์ที่มีความไพเราะและทรงคุณค่าหลายเรื่อง เช่น กษัตริยานุสรณ์ คำฉันท์ดุษฎีสังเวยกล่อมพระศรีนรารัฐราชกิริณี คำฉันท์ดุษฎีสังเวยกล่อมช้างสำคัญ ๓ เชือก กาพย์ขับไม้กล่อมช้างสำคัญ ๓ เชือก และฉันท์ดุษฎีสังเวยสมโภชพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร นับว่าทรงอนุรักษ์และสืบทอดขนบการแต่งวรรณคดีโบราณให้คงอยู่สืบไป
นอกจากนี้ การที่พระองค์โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ไปทอดพระเนตรงานด้านการอนุรักษ์และส่งเสริมวัฒนธรรมไทย หรือได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงประกอบพระราชกรณียกิจและทรงเยือนแหล่งโบราณสถาน และพิพิธภัณฑสถานต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้ทรงสนพระราชหฤทัยงานด้านศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และโบราณคดีอันเป็นเรื่องราวในอดีตของชนชาติไทย ดังนั้นเมื่อทรงเข้าศึกษาระดับปริญญาตรีในคณะอักษรศาสตร์ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระองค์จึงทรงเลือกศึกษาในสาขาวิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาเอก ทั้งยังทรงเข้าเป็นสมาชิกของชมรมประวัติศาสตร์ ชมรมภาษาไทย ชมรมภาษาตะวันออก ชมรมวรรณศิลป์ ฯลฯ ทรงเป็นกรรมการจัดหาเรื่องลงพิมพ์ในหนังสือ “อักษรศาสตร์พิจารณ์”ของชุมนุมวิชาการอักษรศาสตร์ ในบางครั้งก็พระราชทานบทพระราชนิพนธ์ลงพิมพ์ในหนังสือนี้ด้วย เช่นเรื่อง “การเดินทางไปร่วมพิธีพระบรมศพ พระเจ้ากุสตาฟที่ ๖ อดอล์ฟ”และได้ทุนวิชาภาษาไทยจากทุนพระวรเวทย์พิสิฐ อีกด้วย
เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว พระองค์ทรงเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโทในบัณฑิตวิทยาลัย
ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในสาขาวิชาภาษาบาลีและสันสกฤต และมหาวิทยาลัยศิลปากรในสาขาวิชาจารึกภาษาตะวันออก ทรงศึกษารอบรู้และมีพระปรีชาสามารถอย่างลึกซึ้ง ได้ทรงพระราชนิพนธ์งานวิชาการ
ด้านประวัติศาสตร์ที่สำคัญหลายเรื่อง อีกทั้งทรงพระมหากรุณารับเป็นอาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์
แก่นักเรียนโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และทรงดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองประวัติศาสตร์ ทรงมีบทบาทในการวางรากฐานการศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ โดยปรับให้นักเรียนฝึกหัดตามวิธีการทางประวัติศาสตร์ในการคิดหาเหตุผลและมีสำนึกทางประวัติศาสตร์ ทรงปรับหลักสูตรให้นักเรียนนายร้อยมีความรู้ในประวัติศาสตร์บ้านเมือง และตระหนักในคุณค่ามรดกสำคัญของชาติในฐานะที่เป็นประชาชนคนไทย และเป็นบุคคลที่จะ
ทำหน้าที่รักษาความมั่นคงของประเทศต่อไปในอนาคต เพื่อให้ได้รู้จักรากฐานของความเป็นชาติไทย
และมีความรู้ความเข้าใจสังคมไทยในปัจจุบันดีขึ้น พร้อมทั้งสามารถเชื่อมโยงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ในสังคมโลก ซึ่งจะอำนวยประโยชน์ให้การทำงานประสบผลสำเร็จยิ่งขึ้น นอกจากทรงวางรากฐาน
และทรงบรรยายพระราชทานแก่นักเรียนนายร้อยแล้ว ยังได้ทรงพานักเรียนไปทัศนศึกษาตามแหล่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีสำคัญทั้งในและต่างประเทศ ทรงกำหนดสถานที่โดยทรงคำนึงถึงความรู้
ทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี รวมทั้งภูมิศาสตร์ สภาพสังคมและเศรษฐกิจของแต่ละท้องถิ่น เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่นักเรียน
การดำเนินงานด้านวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ตามรอยพระยุคลบาท
สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ดำเนินภารกิจหลักในการศึกษาค้นคว้า วิเคราะห์ วิจัย แปลเอกสารต่างประเทศ และเรียบเรียงหนังสือและเอกสารทางวิชาการด้านภาษา วรรณกรรม ประวัติศาสตร์ และจารีตประเพณี รวมทั้งตรวจสอบชำระและจัดพิมพ์หนังสือในสาขาดังกล่าวออกเผยแพร่สู่สาธารณชน เพื่อประโยชน์แก่วงวิชาการ ตลอดจนอนุญาตให้หน่วยงานอื่นๆ และเอกชนนำต้นฉบับของ กรมศิลปากรออกพิมพ์เผยแพร่ เพื่อให้ในท้องตลาดมีหนังสือด้านวรรณกรรมและประวัติศาสตร์สำหรับการศึกษาค้นคว้าอย่างเพียงพอและกว้างขว้างขึ้น รวมถึงจัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้และความสำคัญของวรรณคดีกวีนิพนธ์ เช่น โครงการประกวดอ่านทำนองเสนาะ โครงการส่งเสริมยุวกวี ซึ่งจัดการประกวดแต่งคำประพันธ์ประเภทต่างๆ กิจกรรมส่งเสริมการใช้ภาษาไทยในการพูด อ่าน เขียน อย่างถูกต้อง เช่น โครงการประกวดสุนทรพจน์ โครงการประกวดคัดเขียนไทย และกิจกรรมด้านประวัติศาสตร์ และจารีตประเพณี เช่น โครงการจัดสัมมนาและประชุมทางวิชาการ ซึ่งนักอักษรศาสตร์ของสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ทุกคนได้ร่วมกันปฏิบัติงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อธำรงรักษาส่งเสริม และสืบทอดมรดกศิลปวัฒนธรรมและทรัพย์ทางปัญญาของชาติให้รุ่งเรื่องและพัฒนาถาวร และต่างน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีต่องานด้านวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ของชาติตลอดมา
งานด้านการส่งเสริมและสืบทอดวรรณคดีกวีนิพนธ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเป็นกวีและทรงตระหนักถึงคุณค่าของวรรณคดีกวีนิพนธ์ มีพระราชประสงค์ให้คนไทยช่วยกันธำรงรักษาและสืบทอดไว้ให้งดงามยั่งยืน ดังพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่กรมศิลปากร ความว่า
*******************************************
วรรณคดีกวีนิพนธ์เป็นทรัพย์สินทางปัญญา ที่บรรพบุรุษได้สั่งสมและทำนุบำรุงมอบไว้ให้เป็นมรดกตกทอดที่ล้ำค่าหาที่เปรียบมิได้ จึงเป็นภาระหน้าที่และความภูมิใจของชาวไทยทั้งมวลที่ควรช่วยกันผดุงรักษาและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมนี้ให้เจริญรุ่งเรือง และธำรงอยู่สืบไปชั่วกาลนาน
*******************************************
นอกจากนี้ พระองค์ยังมีพระมหากรุณาเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานในพิธีพระราชทานรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวดอ่านทำนองเสนาะ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๒๐ – ๒๕๓๗ ซึ่งสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ จัดขึ้นเป็นโครงการต่อเนื่อง เพื่อเผยแพร่ศิลปะการอ่านร้อยกรองและส่งเสริมให้เยาวชนตระหนักถึงคุณค่ากวีนิพนธ์ รวมทั้งเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานในพิธีพระราชทานรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวดแต่งคำประพันธ์ในโครงการส่งเสริมยุวกวี การเสด็จพระราชดำเนินในงานดังกล่าว พระองค์ได้พระราชทานพระราชดำรัสอันเป็นประโยชน์แก่การดำเนินงานด้านวรรณกรรมของชาติ ซึ่งนับเป็นสิริมงคลและกำลังใจแก่ข้าราชการและบรรดาผู้เข้าประกวดอย่างยิ่ง ดังพระราชดำรัสที่พระราชทาน ความว่า
*******************************************
การแต่งกาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ หรือคำประพันธ์ร้อยกรองใดๆ บุคคลจะรู้รสไพเราะของกวี
นิพนธ์ได้ด้วยการอ่าน ฟังเสียง หรืออ่านเป็นทำนองเท่านั้น บทกวีของชนทุกชาติทุกภาษามีวัตถุประสงค์คล้ายคลึงกันฉะนี้ การอ่านทำนองเสนาะจึงเป็นการทำให้บทร้อยกรองหรืองานนิพนธ์ของกวีมีชีวิตจิตใจขึ้น รวมทั้งทำให้ผู้ฟังเข้าถึงรสและท่วงทำนองของภาษากวีอีกด้วย
******************************************
งานด้านประวัติศาสตร์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระปรีชาสามารถในงานด้านประวัติศาสตร์อย่างยิ่ง โปรดที่จะร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ในการประชุม และการสัมมนาทางประวัติศาสตร์ ที่หน่วยงานและสถาบันการศึกษาต่างๆ จัดขึ้น ดังเช่นการสัมมนาเรื่อง “หน้าประวัติศาสตร์ไทยจากเอกสารต่างประเทศ” ซึ่งสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากรจัดขึ้น ณ โรงแรมโซฟิเทล ราชาออร์คิด จังหวัดขอนแก่น ระหว่างวันที่ ๑๒ – ๑๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๔๐ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินไปเป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนา พร้อมทั้งทรงร่วมประชุมในวันแรกของการสัมมนา ทรงฟังปาฐกถาพิเศษของศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล และเสวยพระกระยาหารกลางวัน แล้วจึงเสด็จกลับ ยังความปลาบปลื้มและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมแก่บรรดาข้าราชการผู้จัดงาน วิทยากร ตลอดจนผู้เข้าร่วมการสัมมนาโดยถ้วนหน้า
นอกจากนี้ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ยังดำเนินงานสนองพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วยพระองค์ทรงตระหนักถึงคุณค่าของหนังสือและวรรณคดีโบราณ มีพระราชดำริว่า หนังสือวรรณกรรมเก่าเหล่านี้ล้วนแต่จะเสื่อมสูญไปตามกาลเวลา ต่อไปจะไม่มีผู้ใดรู้จัก จึงพระราชทานแนวพระราชดำริให้กรมศิลปากรพิจารณาคัดเลือกหนังสือเก่าและต้นฉบับวรรณคดีโบราณมาจัดพิมพ์ให้แพร่หลายกว้างขวางทั้งนี้เพื่อสืบทอดอายุหนังสือที่ทรงคุณค่า และเพื่อให้เยาวชนได้อ่าน ได้เข้าใจ และตระหนักถึงคุณค่าทางวรรณกรรมไทย กรมศิลปากรจึงสนอง แนวพระราชดำริมาดำเนินการเป็น ๒ โครงการ คือ โครงการจัดพิมพ์หนังสือเก่าหายาก และโครงการตรวจสอบชำระวรรณคดีและประวัติศาสตร์ไทย โดยมอบให้สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์เป็นผู้รับผิดชอบ
โครงการจัดพิมพ์หนังสือเก่าหายาก สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์คัดเลือกหนังสือเก่าหายากที่มีคุณค่าด้านวรรณคดีและประวัติศาสตร์มาจัดพิมพ์เผยแพร่เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๕๒ จนถึงปัจจุบัน มีหนังสือเก่าที่พิมพ์เผยแพร่แล้วจำนวน ๖ เรื่อง คือ ๑) ประชุมหนังสือเก่า ภาคที่ ๑ – ๒ ๒) โคลงเรื่องพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๕ ๓) รามเกียรติ์บทร้องและบทพากย์ พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ๔) สมุดมาลัยและสุบินกลอนสวด ๕) ประชุมเชิญขวัญ ๖) จดหมายเหตุเรื่องรับเสด็จแลสมโภชพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จกลับจากยุโรปคราวแรก พ.ศ. ๒๔๔๐
โครงการตรวจสอบชำระวรรณคดีและประวัติศาสตร์ไทย สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ได้มอบหมายให้นักอักษรศาสตร์ดำเนินการศึกษาค้นคว้าวรรณคดีจากต้นฉบับสมุดไทย รวมทั้งเอกสารประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เคยพิมพ์เผยแพร่มาก่อน มาดำเนินการตรวจสอบชำระและจัดพิมพ์เผยแพร่เพื่อให้เกิดความรู้ด้านวรรณคดีและได้มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน นับเป็นการอนุรักษ์และสืบทอดอายุวรรณคดีไทยและภูมิปัญญาของบรรพบุรุษตามแนวพระราชดำริ
ที่มาข้อมูล : หนังสือสิปปธัช : พระผู้เป็นธงชัยแห่งสรรพศิลป์ (จัดพิมพ์เนื่องในโอกาส ๑๐๔ ปี แห่งการสถาปนากรมศิลปากร)
(จำนวนผู้เข้าชม 8761 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน