สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กับงานสมบัติศิลปวัฒนธรรม
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเอาพระทัยใส่ในงานด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติเสมอมา โปรดพระราชทานแนวพระราชดำริในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และสืบทอดภารกิจในด้านต่าง ๆ ของกรมศิลปากรอย่างมีระบบ ทั้งยังทรงแสดงพระอัจฉริยภาพด้านการอนุรักษ์และสืบทอดงานศิลปวัฒนธรรมอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ทรงพระปรีชาสามารถในการทรงดนตรีทั้งดนตรีไทยและดนตรีสากล มีพระอัจฉริยภาพทางอักษรศาสตร์และทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมทั้งสารคดีและบันเทิงคดีที่ทรงคุณค่าด้านวรรณศิลป์ จนเป็นที่ประจักษ์แก่พสกนิกรชาวไทยและชาวต่างชาติโดยทั่วกัน นอกจากนั้น ยังโปรดให้จัดการแสดงโขนแบบกลางแปลงขึ้น ณ อุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และโขนหน้าจอแบบโบราณที่หาชมได้ยาก ณ สังคีตศาลาของกรมศิลปากร รวมถึงการจัดแสดงดนตรีในการแสดงระบำผ้าไทย ๔ ภาค และมีพระราชดำริให้ประดิษฐ์ท่ารำระบำไดโนเสาร์ เพื่อสนองความสนใจของเด็ก ๆ ทำให้การแสดงของกรมศิลปากรมีคุณค่า เป็นที่สนใจของอนุชน อย่างไรก็ดีงานศิลปะทุกสาขาของกรมศิลปากรก็ยังได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานกำลังใจ ร่วมสืบทอดและบำรุงรักษาศิลปวัฒธรรมของชาติเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานในพิธีไหว้ครู และสืบทอดผู้ประกอบพิธีไหว้ครูด้านโขน – ละคร ดนตรี และช่าง ในโอกาสครบรอบ ๑๐๐ ปีของกรมศิลปากร นำความปีติปลาบปลื้มใจในพระเมตตาและพระกรุณาที่มีต่อหน่วยงานและผู้ปฏิบัติงานเป็นอย่างยิ่ง
งานด้านโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์ เป็นงานที่ทรงรักและสนพระราชหฤทัยมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ โปรดเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมชมแหล่งโบราณคดีและโบราณสถานในประเทศอยู่เนือง ๆ ทั้งทรงนำนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าไปศึกษาเรียนรู้ เพื่อให้เป็นประสบการณ์ตรง นอกจากนั้นทุกครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชภารกิจยังต่างประเทศก็จะทรงหาโอกาสเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์และแหล่งโบราณคดีในต่างประเทศ ทรงจดบันทึกความรู้และทรงสอบถามแนวคิด และแนวทางในการดำเนินงานด้านโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์อย่างละเอียดทุกแง่มุม ก่อนพระราชทานความรู้อันเป็นแนวคิดและแนวทางการดำเนินงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์ให้แก่ข้าราชการของกรมศิลปากรทุกครั้ง นอกจากนั้นยังพระราชทานแนวพระราชดำริในการจัดพิมพ์เอกสารประกอบการทัศนศึกษาแหล่งโบราณให้มีคุณค่า ด้วยการทรงพระราชนิพนธ์คำนำ และทรงเป็นบรรณาธิการ ในการจัดพิมพ์เอกสารนั้นด้วยพระองค์เอง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่การเผยแพร่ความรู้ของกรมศิลปากรเป็นอย่างยิ่ง
พระราชจริยาวัตรอีกประการหนึ่งที่ทำให้ข้าราชการสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติซาบซึ้ง และประทับใจมิรู้ลืมก็คือ ทุกครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเยี่ยมชมกิจการของสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ หรือเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดนิทรรศการของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จะทรงตรัสถามถึงความเป็นอยู่และสุขภาพพลานามัยของเจ้าหน้าที่หอจดหมายเหตุด้วยความห่วงใย ทั้งยังมีพระเมตตาโปรดให้คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และโรงพยาบาลศิริราชมาตรวจสุขภาพให้แก่เจ้าหน้าที่ของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เมื่อ พุทธศักราช ๒๕๓๐ ด้วย นอกจากนั้นยังพระราชทานแนวพระราชดำริในการอนุรักษ์เอกสารจดหมายเหตุด้วยกระดาษสาชนิดบาง เพื่อให้สามารถอ่านต้นฉบับได้เหมือนเดิม รวมถึงทรงศึกษาดูงานและทรงเรียนรู้การดำเนินงานของหอจดหมายเหตุในนานาอารยประเทศมาพระราชทานให้สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติพัฒนางานจดหมายเหตุให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
งานด้านหอสมุดแห่งชาติพระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยการพัฒนาด้านการให้บริการของหอสมุดแห่งชาติ และทรงสนับสนุนกิจการของหอสมุดแห่งชาติทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังพระราชทานแนวพระราชดำริให้นำเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน รวมถึงพระราชทานแนวพระราชดำริให้กรมศิลปากรส่งเจ้าหน้าที่ไปศึกษาดูงานจากประเทศที่เป็นต้นแบบการบริหารจัดการด้านห้องสมุด
อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้บุคลากรนำความรู้และประสบการณ์มาพัฒนางานในภารกิจที่รับผิดชอบอย่างมืออาชีพ และพัฒนาการให้บริการอย่างมีมาตรฐานเทียบเท่าหอสมุดแห่งชาติในนานาอารยประเทศ
ข้าราชการกรมศิลปากรทุกหน่วยงานต่างซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีอย่างหาที่สุดมิได้ และจะเทิดทูนพระมหากรุณาธิคุณไว้เหนือเศียรเกล้า
พร้อมจะสนองพระมหากรุณาธิคุณด้วยการปฏิบัติหน้าที่ข้าราชการของแผ่นดินให้เต็มกำลังความสามารถ
เพื่อประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติสืบไป
ในโอกาสมหามงคลที่จะเจริญพระชนมายุครบ ๕ รอบ ๒ เมษายน ๒๕๕๘ นี้ ปวงข้าพระพุทธเจ้าเหล่าข้าราชการกรมศิลปากร ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระพรชัยมงคลให้ทรงพระเจริญยั่งยืนนาน
สถิตเป็นมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทยตราบกาลนานเทอญ
ที่มาข้อมูล : บทคัดย่อ หนังสือสิปปธัช : พระผู้เป็นธงชัยแห่งสรรพศิลป์ (จัดพิมพ์เนื่องในโอกาส ๑๐๔ ปี แห่งการสถาปนากรมศิลปากร)
(จำนวนผู้เข้าชม 4176 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน