๑๐๐ เรื่องกรมศิลปากร : กรมศิลปากรให้บริการพิสูจน์และอนุรักษ์โบราณสถานและศิลปวัตถุหรือไม่ ?
กรมศิลปากรให้บริการพิสูจน์และอนุรักษ์โบราณวัตถุและศิลปวัตถุหรือไม่ ?
ตอบ กรมศิลปากรมีบริการตรวจพิสูจน์ ในกรณีที่เกี่ยวกับคดี เช่น เป็นของกลางที่ยึดมาได้ ฯลฯ เพื่อ ประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี ส่วนในกรณีอื่น ต้องทำหนังสือถึงอธิบดีกรมศิลปากร หรือหัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแล้วแต่กรณี การพิจารณาอนุญาตขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของอธิบดีกรมศิลปากร หรือหัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เนื่องจากอาจมีผู้ขอบริการตรวจพิสูจน์ โบราณวัตถุและศิลปวัตถุ เพื่อนำไปเป็นประโยชน์ทางการค้า
บริการตรวจพิสูจน์
กรมศิลปากรให้บริการตรวจพิสูจน์เฉพาะโบราณวัตถุและศิลปวัตถุประเภทต่อไปนี้
๑.ประติมากรรมเนื่องในศาสนา ได้แก่ พระพุทธรูป เทวรูป และพระพิมพ์
๒.เครื่องปั้นดินเผาและเครื่องถ้วยประเภทต่าง ๆ
๓.เหรียญกษาปณ์และเหรียญที่ระลึก ทั้งนี้ผู้นำโบราณวัตถุและศิลปวัตถุมาตรวจพิสูจน์ จะต้องชำระค่าธรรมเนียมหรือค่าบำรุงด้วย
บริการอนุรักษ์
ทำหนังสือขออนุญาตอธิบดี กรมศิลปากรเพราะการอนุรักษ์โบราณวัตถุและศิลปวัตถุต้อง อาศัยผู้เชี่ยวชาญที่มีความสามารถพิเศษ และต้องทำอย่างละเอียดประณีต การขอรับบริการอนุรักษ์โบราณวัตถุและศิลปวัตถุนั้น อาจใช้เวลานานและมีค่าใช้จ่ายสูงเพราะต้องขึ้นอยู่กับงานประจำในหน้าที่ของ นักอนุรักษ์เป็นหลัก
วิทยาศาสตร์กับงานอนุรักษ์
การอนุรักษ์โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุ ต้องอาศัยหลักการทางวิทยาศาสตร์หลากหลายสาขา เช่น ความรู้ด้านเคมี ทำให้เข้าใจวัสดุและองค์ประกอบของวัตถุ ความรู้ในเชิงเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในการกำหนดอายุ และเทคโนโลยีการผลิต ฯลฯ เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติของโบราณวัตถุจนเข้าใจอย่างถูกต้อง
ขั้นตอนการอนุรักษ์
๑. การทำความสะอาด โดยใช้อุปกรณ์เฉพาะทาง เช่น ใช้แปรงที่มีขนอ่อนนุ่ม ใบมีดผ่าตัด เครื่องกรอ ตลอดจนใช้น้ำยาบางชนิด
๒. การเสริมความแข็งแรงและป้องกันการเสื่อมสภาพ สารเคมีที่ใช้ต้องไม่ส่งผลเสียหายต่อเนื้อวัสดุเดิม
๓. การเก็บรักษาต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อม อุณหภูมิ ความชื้น แสง ตลอดจนมลภาวะที่อาจมีผลทำให้โบราณวัตถุเสื่อมสลายได้
สอบถามรายละเอียดการบริการตรวจ พิสูจน์และการอนุรักษ์โบราณวัตถุและศิลปวัตถุ ติดต่อสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โทร. ๐ ๒๖๒๘ ๕๖๖๐, ๐ ๒๒๘๑ ๖๗๖๖
(จำนวนผู้เข้าชม 3953 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน