เครื่องมือช่วยการเข้าถึง
color contrast
text size
highlighting content
zoom in


“สุดาวรรณ” ตรวจติดตามโบราณสถานสำคัญเชียงใหม่ที่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหว

“สุดาวรรณ” ตรวจติดตามโบราณสถานสำคัญเชียงใหม่ที่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหว 
ไม่กระทบโครงสร้าง สั่งการกรมศิลป์เร่งบูรณะตามหลักวิชาการ
              วันที่ 5 เมษายน 2568 นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) 
ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ไปยัง วัดเจดีย์เหลี่ยม วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร และวัดอุโมงค์ เพื่อตรวจติดตามโบราณสถานที่ได้รับผลกระทบจากเหตุภัยพิบัติ (แผ่นดินไหว) เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 โดยมี นายประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ผู้บริหาร ตัวแทนชุมชนท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
              รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กรมศิลปากร โดยสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ได้รายงานสรุปความเสียหายของโบราณสถานและแนวทางการแก้ไข ดังนี้
              1. วัดเจดีย์เหลี่ยม ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ องค์เจดีย์มีรอยแตกร้าว ชั้นปูนฉาบซึ่งโป่งพองอยู่แล้วได้กะเทาะและหลุดร่วง เจดีย์รายด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือหักพังลงมา จะได้ดำเนินการบูรณะและเสริมความมั่นคงในส่วนที่แตกร้าว ซ่อมแซมชั้นปูนฉาบที่ชำรุดเสื่อมสภาพ 


              2. วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร ตำบลศรีภูมิ อำเภอ เมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พบว่า วิหารหลวงมีการแตกร้าวของผนังด้านในของวิหาร ระดับธรณีหน้าต่าง ตั้งแต่คูหาประตูด้านข้างถึงผนังด้านหลัง เป็นการแตกร้าวของผิวปูนฉาบ ไม่มีผลกระทบต่อโครงสร้างของวิหาร นอกจากนี้ เจดีย์เล็ก ด้านทิศเหนือ พบมีรอยแตกร้าวบริเวณองค์เจดีย์ เป็นการแตกร้าวของผิวปูนฉาบ ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อโครงสร้างขององค์เจดีย์ และแผ่นจังโกบริเวณชั้นปล้องไฉนหลุดร่วง สำหรับแนวทางแก้ไขความเสียหายจะดำเนินการสกัดหรือกะเทาะส่วนที่แตกร้าว ฉาบปูนหมักสูตรโบราณ และตกแต่งสีให้เรียบร้อย รวมทั้งซ่อมแซมแผ่นจังโกบริเวณปล้องไฉน








              3. วัดอุโมงค์ สวนพุทธธรรม ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง เชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พบผนังอุโมงค์มีรอยแตกร้าว แนวทางแก้ไขคือดำเนินการเสริมความมั่นคงแข็งแรงของอุโมงค์ โดยการนำดินที่ทับถมออก ใส่โครงสร้าง
คอนกรีตเสริมเหล็ก เพื่อลดปัญหาการน้ำหนักกดทับของชั้นดิน หรือใช้วัสดุทางวิทยาศาสตร์ที่มีน้ำหนักเบาแต่แข็งแรง พร้อมทั้งจัดทำระบบการระบายน้ำด้านบนอุโมงค์ สำหรับจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโมงค์ จะได้ทำการผนึกและถอดภาพจิตรกรรมออกจากที่เดิม ปรับปรุงผนังและเพดานของอุโมงค์ให้เรียบและแข็งแรง ก่อนจะนำภาพจิตรกรรมผนึกกลับเข้าไปตำแหน่งเดิม อนุรักษ์สี เส้น และลวดลายให้คงสภาพเดิม




             นางสาวสุดาวรรณ กล่าวว่า ได้สั่งการให้กรมศิลปากรเร่งดำเนินการบูรณะโบราณสถานที่เสียหายตามหลักวิชาการที่เหมาะสม และเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เนื่องจากโบราณสถานเป็นมรดกวัฒนธรรมและเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมโบราณสถานได้อย่างปลอดภัย

(จำนวนผู้เข้าชม 165 ครั้ง)