ขอเชิญสักการะพระพุทธรูป “นบพระปฏิมา ๙ นครามหามงคล ๒๕๖๘” เนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่





           วันพุธที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๗ เวลา ๐๙.๑๙ น. นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วยนายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม และกรมศิลปากร ร่วมสักการะพระพุทธรูปวังหน้า พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน “นบพระปฏิมา ๙ นครามหามงคล ๒๕๖๘” เป็นปฐมฤกษ์ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
            เนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๖๘ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ได้จัดกิจกรรมสักการะพระพุทธรูปวังหน้า พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน “นบพระปฏิมา ๙ นครามหามงคล ๒๕๖๘” อัญเชิญพระพุทธรูปที่มีพุทธศิลป์อันงดงาม มีประวัติความเป็นมาจากนครโบราณต่าง ๆ ของไทย โดยมีพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) เป็นประธาน พร้อมด้วยพระพุทธรูปอีก ๙ องค์ ที่จัดแสดงและสงวนรักษา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จำนวน ๔ องค์ คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดปทุมธานี จำนวน ๓ องค์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี จำนวน ๑ องค์ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา จำนวน ๑ องค์ มาประดิษฐานให้ประชาชนได้สักการบูชา เพื่ออำนวยความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลในวาระแห่งการเริ่มต้นศักราชใหม่ ประกอบด้วย
            ๑. พระพุทธสิหิงค์ ศิลปะล้านนา ปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๑ 
            ๒. พระพุทธรูปปางมารวิชัย เมืองเชียงใหม่ ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๐
            ๓. พระพุทธรูปยืนปางแสดงธรรม ๒ พระหัตถ์ เมืองลพบุรี ศิลปะลพบุรี พุทธศตวรรษที่ ๑๘ - ๑๙ 
            ๔. พระพุทธรูปปางมารวิชัย เมืองสรรคบุรี ศิลปะลพบุรี ก่อนอยุธยาแบบอู่ทองรุ่นที่ ๑ พุทธศตวรรษที่ ๑๙ 
            ๕. พระพุทธรูปยืนปางประทานอภัย เมืองสุโขทัย ศิลปะสุโขทัย พุทธศตวรรษที่ ๒๐ 
            ๖. พระพิมพ์ลีลาในซุ้มเรือนแก้ว (พระกำแพงศอก) เมืองสุพรรณบุรี ศิลปะอยุธยา พุทธศตวรรษที่ ๒๐ 
            ๗. พระพุทธรูปปางมารวิชัย พระนครศรีอยุธยา ศิลปะอยุธยาตอนต้น แบบอู่ทองรุ่นที่ ๓ พุทธศตวรรษที่ ๒๐
            ๘. พระพุทธรูปปางมารวิชัย เมืองนครศรีธรรมราช ศิลปะอยุธยา สกุลช่างนครศรีธรรมราช พุทธศตวรรษที่ ๒๑ - ๒๒ 
            ๙. พระพุทธรูปยืนปางประทานอภัย ๒ พระหัตถ์ เมืองพิษณุโลก ศิลปะอยุธยาตอนกลาง พุทธศตวรรษที่ ๒๑ - ๒๒
            ๑๐. พระชัยเมืองนครราชสีมา เมืองนครราชสีมา ศิลปะอยุธยา พุทธศตวรรษที่ ๒๒ - ๒๓ 
            ขอเชิญพุทธศาสนิกชนสักการะพระพุทธรูปวังหน้า พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน “นบพระปฏิมา ๙ นครามหามงคล ๒๕๖๘” ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ระหว่างวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๗ ถึงวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๖๘ เวลา ๐๙.๐๐ น. - ๑๖.๐๐ น. ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ
-----------------------------------------------------------------------
พระพุทธรูปทั้ง ๑๐ องค์ ประกอบด้วย

๑.  พระพุทธสิหิงค์

ศิลปะ  ล้านนา ปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๑ (๕๐๐ ปีมาแล้ว)
ขนาด  สูงพร้อมฐาน  ๑๓๕  เซนติเมตร หน้าตักกว้าง ๖๓ เซนติเมตร  
องค์พระสูง  ๗๙ เซนติเมตร  
ประวัติ  สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (วังหน้าพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์)  ทรงอัญเชิญมาจากเมืองเชียงใหม่เมื่อพุทธศักราช ๒๓๓๘  ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

            พระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปสัมฤทธิ์กะไหล่ทอง ประทับขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ทั้งสองวางซ้อนกันบนพระเพลาแสดงปางสมาธิ  เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ตามตำนานพระพุทธสิหิงค์ได้รับการอัญเชิญไปประดิษฐานเป็นสิริยังพระนครหลวงโบราณหลายแห่ง นับแต่สุโขทัย เชียงใหม่ พระนครศรีอยุธยา ตราบเท่าถึงกรุงรัตนโกสินทร์ 

๒. พระพุทธรูปปางมารวิชัย เมืองเชียงใหม่

ศิลปะ  ล้านนา พุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐ (๖๐๐-๗๐๐ ปีมาแล้ว)
ขนาด  สูงพร้อมฐาน ๓๑.๒ เซนติเมตร หน้าตักกว้าง ๑๔.๓ เซนติเมตร
ประวัติ  ขุดได้ที่จังหวัดเชียงใหม่ ครูบาเจ้าศรีวิชัยถวายสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ด้วยวิธีเสี่ยงทาย) พระโอรสและพระธิดาประทานยืม
 
            พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย ประทับขัดสมาธิราบ พระวรกายเพรียวบาง และชายสังฆาฏิเป็นแถบเล็กยาวพาดพระอังสาเหนือพระนาภี ใกล้เคียงกับพระพุทธรูปแบบเชียงแสนสิงห์หนึ่งกลุ่มที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะสุโขทัย พระพุทธรูปองค์นี้ มีประวัติระบุว่าชาวกะเหรี่ยงขุดได้จึงนำมาถวายครูบาเจ้าศรีวิชัย ครั้งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จประพาสมณฑลพายัพ พ.ศ. ๒๔๖๔ ครูบาเจ้าศรีวิชัยจึงถวายสมเด็จฯ  กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
 
๓. พระพุทธรูปยืนปางแสดงธรรม ๒ พระหัตถ์ เมืองลพบุรี
 
ศิลปะ  ลพบุรี พุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ (๗๐๐-๘๐๐ ปีมาแล้ว)
ขนาด  สูงพร้อมฐาน ๖๕ เซนติเมตร กว้าง ๒๓ เซนติเมตร
ประวัติ  พระยาพินิจสารา ถวายสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระโอรสและพระธิดาประทานยืม
 
           พระพุทธรูปยืนทรงเครื่องแสดงปางประทานอภัย ๒ พระหัตถ์ พระองค์นี้จัดอยู่ในกลุ่มพระพุทธรูปศิลปะลพบุรี ที่สืบเนื่องมาจากพระพุทธรูปในศิลปะเขมรโบราณแบบบายน รูปแบบพระพุทธรูปลักษณะดังกล่าวพบมากในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะที่ “เมืองลพบุรี” ในเวลาต่อมากลุ่มชนชั้นปกครองของเมืองลพบุรีที่ปัจจุบันรู้จักกันในนาม “ราชวงศ์อู่ทอง” ได้รวมอำนาจเข้ากับราชวงศ์สุพรรณภูมิสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๑๘๙๓
 
๔. พระพุทธรูปปางมารวิชัย เมืองสรรคบุรี

ศิลปะ  ลพบุรี ก่อนอยุธยาแบบอู่ทองรุ่นที่ ๑ พุทธศตวรรษที่ ๑๙ (๗๐๐ ปีมาแล้ว)
ขนาด  สูงพร้อมฐาน ๒๙.๕ เซนติเมตร หน้าตักกว้าง ๒๓ เซนติเมตร 
ประวัติ  ย้ายมาจากห้องกลางกระทรวงมหาดไทย เดิมได้มาจากเมืองสรรค์ (อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท)
 
            พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย  จากพุทธศิลป์แสดงความคาบเกี่ยวกับพระพุทธรูปในช่วงปลายของศิลปะลพบุรี พบมากบริเวณเมืองโบราณก่อนสมัยอยุธยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตอำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท จนในอดีตขนานนามพระพุทธรูปกลุ่มนี้ว่า “พระเมืองสรรค์” เมื่อภายหลังการสถาปนาอาณาจักรอยุธยา เมืองสรรคบุรีจึงกลายเป็นเมืองสำคัญในฐานะเมืองลูกหลวงและเมืองหน้าด่าน 
 
๕. พระพุทธรูปยืนปางประทานอภัย เมืองสุโขทัย
 
ศิลปะ  สุโขทัย พุทธศตวรรษที่ ๒๐ (๖๐๐ ปีมาแล้ว)
ขนาด  สูงพร้อมฐาน ๗๗ เซนติเมตร 
ประวัติ  สมบัติเดิมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
 
            พระพุทธรูปยืนปางประทานอภัย พุทธลักษณะพระพักตร์รูปไข่ มีพระรัศมีเป็นเปลวเพลิง ครองจีวรห่มคลุมเรียบไม่มีริ้วและจีวรแนบพระวรกาย อันเป็นรูปแบบพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย บริเวณส่วนฐานด้านหลังของพระพุทธรูปมีจารึกอักษรไทยภาษาไทยสมัยรัตนโกสินทร์ว่า “วัดกะพังทอง เมืองโสกโขไทย” ดังนั้นสันนิษฐานว่าพระพุทธรูปองค์นี้ถูกเคลื่อนย้ายมาจากวัดตระพังทอง ภายในเมืองเก่าสุโขทัย

๖. พระพิมพ์ลีลาในซุ้มเรือนแก้ว (พระกำแพงศอก) เมืองสุพรรณบุรี

ศิลปะ  อยุธยา พุทธศตวรรษที่ ๒๐ (๖๐๐ ปีมาแล้ว)
ขนาด  กว้าง ๑๑ เซนติเมตร สูง ๓๒ เชนติเมตร
ประวัติ  ย้ายมาจากห้องกลางกระทรวงมหาดไทย เดิมได้มาจากจังหวัดสุพรรณบุรี
 
            พระพิมพ์เนื้อชินรูปพระพุทธเจ้าในอิริยาบถลีลาภายในเรือนแก้ว พระพิมพ์แบบนี้พบมากในกรุพระปรางค์วัดพระศรีมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรี จึงสันนิษฐานว่าน่าจะได้จากกรุนี้เช่นกัน และนิยมเรียกกันทั่วไปว่า "พระกำแพงศอก" ตามขนาดของพระพิมพ์ที่ค่อนข้างใหญ่ จึงไม่สามารถพกติดตัวได้ มักบูซาที่บ้านเรือน โดยมีความเชื่อถือว่าเป็นพระพิมพ์ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ สามารถป้องกันอัคคีภัยได้ 
๗. พระพุทธรูปปางมารวิชัย พระนครศรีอยุธยา
 
ศิลปะ  อยุธยาตอนต้น แบบอู่ทองรุ่นที่ ๓ พุทธศตวรรษที่ ๒๐ (๖๐๐ ปีมาแล้ว)
ขนาด  สูงพร้อมฐาน ๕๔.๕ เซนติเมตร  หน้าตักกว้าง ๒๖ เซนติเมตร 
ประวัติ  ได้จากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ ๒๑-๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๑
 
            พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย พุทธศิลปะของพระพุทธรูปองค์นี้นักวิชาการเรียกว่า “ศิลปะแบบอู่ทอง” ด้วยเชื่อว่ารูปแบบศิลปะนี้เกิดขึ้นในช่วงของรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ หรือพระเจ้าอู่ทอง และจำแนกออกเป็น ๓ รุ่น  สำหรับวัดราชบูรณะสถานที่พบพระพุทธรูปองค์นี้นั้น สร้างขึ้นโดยพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) จากการขุดค้นภายในกรุพระปรางค์ พบพระพุทธรูปศิลปะต่างๆ จำนวนมาก โดยพระพุทธรูปในกลุ่มศิลปะแบบอู่ทองรุ่นที่ ๓ พบมากที่สุดจำนวนกว่า ๓๕๖ องค์ 
 
๘. พระพุทธรูปปางมารวิชัย เมืองนครศรีธรรมราช
ศิลปะ  อยุธยา สกุลช่างนครศรีธรรมราช พุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ (๔๐๐-๕๐๐ ปีมาแล้ว)
ขนาด  สูงพร้อมฐาน ๕๙ เซนติเมตร หน้าตักกว้าง ๒๗.๕ เซนติเมตร
ประวัติ  สมบัติเดิมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร  นำไปจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๒
 
           พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางมารวิชัยสกุลช่างนครศรีธรรมราช เป็นพระพุทธรูปกลุ่มที่ได้รับรูปแบบมาจากพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรสมัยอยุธยาตอนกลาง (พุทธศตวรรษที่ ๒๑-ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๓) ซึ่งมีแรงบันดาลใจและรูปแบบจากพระพุทธสิหิงค์ หรือพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชร ศิลปะล้านนา ตามตำนานระบุว่าเมื่อพระพุทธสิหิงค์เชิญมาจากประเทศศรีลังกาเคยพักประดิษฐานที่นครศรีธรรมราชก่อนอัญเชิญไปเมืองสุโขทัย
 
๙. พระพุทธรูปยืนปางประทานอภัย ๒ พระหัตถ์ เมืองพิษณุโลก
 
ศิลปะ  อยุธยาตอนกลาง พุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ (๔๐๐-๕๐๐ ปีมาแล้ว)
ขนาด  สูงพร้อมฐาน ๕๐.๕ เซนติเมตร กว้าง ๑๓.๕ เซนติเมตร
ประวัติ  ย้ายมาจากห้องกลางกระทรวงมหาดไทย เดิมได้มาจากมณฑลพิษณุโลก
 
          พระพุทธรูปยืนทรงเครื่องน้อย ตามประวัติกล่าวว่าได้มาจากพื้นที่มณฑลพิษณุโลก ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๔๓๕ ประกอบด้วยเมืองพิจิตร เมืองพิชัย เมืองสวรรคโลก เมืองสุโขทัย และเมืองพิษณุโลก โดยมีเมืองเอกคือเมืองพิษณุโลก สำหรับเมืองพิษณุโลกเดิมมีนามว่า “สองแคว” เรียกตามสภาพภูมิศาสตร์ที่มีลำน้ำสองสายบรรจบกันบริเวณพื้นที่ทิศเหนือนอกตัวเมืองพิษณุโลก คือแม่น้ำน่าน (แควใหญ่) และแม่น้ำแควน้อย 
 
๑๐. พระชัยเมืองนครราชสีมา เมืองนครราชสีมา
 
ศิลปะ  อยุธยา พุทธศตวรรษที่ ๒๒–๒๓ (๓๐๐-๔๐๐ ปีมาแล้ว)
ขนาด  สูงพร้อมฐาน ๒๕ เซนติเมตร  หน้าตักกว้าง ๑๕.๔ เซนติเมตร
ประวัติ   ย้ายมาจากห้องกลางกระทรวงมหาดไทย เดิมได้มาจากไหนไม่ปรากฏ
 
           พระพุทธรูปปางมารวิชัยบนพระวรกายโดยรอบปรากฎมีจารึกพระคาถาอักษรขอม คติการสร้างพระชัยประจำตัวแม่ทัพยึดถือปฏิบัติมาแต่โบราณ เพื่อคุ้มครองป้องกันภัย นอกจากนี้ยังพบการสร้างพระชัยสำหรับเมืองเพื่อเป็นมิ่งขวัญและสวัสดิมงคล ดังตัวอย่าง พระชัยเมืองนครราชสีมา เมืองหน้าด่านสำคัญที่ป้องกันข้าศึกจากทิศตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือ

(จำนวนผู้เข้าชม 9 ครั้ง)

Messenger