กรมศิลปากรถวายผ้าพระกฐินพระราชทานประจำปี พุทธศักราช ๒๕๖๗ ณ วัดมงคลนิมิตร จังหวัดภูเก็ต






            วันเสาร์ที่ ๒ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๗ เวลา ๑๐.๐๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานผ้าพระกฐินให้กรมศิลปากรนำไปถวายพระสงฆ์ที่จำพรรษาครบถ้วนไตรมาส ณ วัดมงคลนิมิตร ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต โดยมีนายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานในพิธี  นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายรณรงค์ ทิพย์ศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายวรศิษย์ พุฒจีบ นายอำเภอเมืองจังหวัดภูเก็ต ผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ตลอดจนผู้แทนหน่วยงาน ภาครัฐ ภาคเอกชน และพุทธศาสนิกชนในจังหวัดภูเก็ต เข้าร่วมพิธี
            ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าพระกฐินให้กรมศิลปากร ตามที่ขอพระราชทานไปทอดถวายที่ชุมนุมสงฆ์ ณ วัดมงคลนิมิตร ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมืองภูเก็ต  จังหวัดภูเก็ต โดยวันศุกร์ที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๗ เวลา ๑๙.๐๐ น.กรมศิลปากร ได้จัดการแสดงโขน รามเกียรติ์ ตอน ขับพิเภก - พิเภกสวามิภักดิ์ - ถอนต้นรัง - ยกรบ สมโภชองค์พระกฐิน เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ชื่นชมการแสดงศิลปวัฒนธรรม ซึ่งเป็นนาฏศิลป์ชั้นสูงอย่างหนึ่งของไทย และถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ในวันเสาร์ที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๗ เวลา ๑๐.๐๐ น. พร้อมทั้งบริจาคปัจจัยนำเข้าสมทบถวายบำรุง พระอารามหลวงณ วัดมงคลนิมิตร ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต รวมเป็นเงินทั้งสิ้น  ๓,๑๓๘,๓๕๕.๕๐ บาท (สามล้านหนึ่งแสนสามหมื่นแปดพันสามร้อยห้าสิบห้าบาทห้าสิบสตางค์)
           วัดมงคลนิมิตร ได้รับพระราชทานยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๖ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่เลขที่ ๓ ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต วัดมงคลนิมิตรเป็นวัดโบราณสร้างขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ประมาณ พ.ศ. ๒๓๘๖ - ๒๓๙๒ มีพระภูเก็ต (แก้ว) ผู้ว่าราชการเมืองภูเก็ตเป็นผู้สร้าง โดยสร้างขึ้นเป็นวัดแรกพร้อมกับการสร้างเมืองภูเก็ต ปรากฏหลักฐาน ในใบบอกของพระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์ (ลำดวน) ผู้ว่าราชการเมืองภูเก็ต เมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๒๔
            กรมศิลปากร ได้จัดพิมพ์จัดทำหนังสือปกิณกศิลปวัฒนธรรม เพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสที่กรมศิลปากร นำผ้าพระกฐินพระราชทานไปทอดถวาย ณ พระอารามหลวงประจำจังหวัดต่างๆ และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับท้องถิ่นนั้น ๆ สู่สาธารณชนในวงกว้าง รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการผ่านการสำรวจเก็บข้อมูล และแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างหน่วยงาน สถาบันการศึกษา ผู้เชี่ยวชาญหรือปราชญ์ท้องถิ่น อันเป็นรากฐานสำคัญที่จะทำให้การผลิตงานด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี ประเพณี และศิลปวัฒนธรรมของกรมศิลปากรในปัจจุบัน มีความหลากหลายครอบคลุมมิติต่าง ๆ มากขึ้น หนังสือปกิณกศิลปวัฒนธรรม ซึ่งจัดพิมพ์เผยแพร่ในพุทธศักราช ๒๕๖๗ นี้ นับเป็นเล่มที่ ๓๐ มีเนื้อหาว่าด้วยประวัติความเป็นมาของวัดมงคลนิมิตร พระอารามหลวงเพียงแห่งเดียวของจังหวัดภูเก็ต รวมถึงประวัติความเป็นมาของจังหวัดภูเก็ต และวิถีวัฒนธรรมหลากแง่มุม ตลอดจนข้อมูลภารกิจกรมศิลปากรในเขตพื้นที่จังหวัดภูเก็ต
​            กรมศิลปากรหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หนังสือปกิณกศิลปวัฒนธรรม เล่ม ๓๐ จังหวัดภูเก็ต จะเป็นแหล่งความรู้และอำนวยประโยชน์ทางวิชาการแก่ผู้ได้รับหนังสือเป็นอภินันทนาการ รวมทั้งผู้สนใจศึกษาค้นคว้าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปวัฒนธรรมโดยทั่วกัน




















(จำนวนผู้เข้าชม 4 ครั้ง)

Messenger