สงขลาเปิดไฟโบราณสถานป้อมหมายเลข 9 ให้ชมโบราณสถานยามค่ำคืน ผลักดันสงขลาสู่มรดกโลก


            นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า สำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา ได้ดำเนินการติดตั้งไฟฟ้าและแสงสว่าง (Light up) บริเวณโบราณสถานเมืองสงขลาเก่า (ป้อมหมายเลข 9) ตำบลหัวเขา อำเภอ สิงหนคร จังหวัดสงขลา และเปิดให้ประชาชน นักท่องเที่ยว รวมถึงผู้ที่สัญจรไปมาได้มองเห็นถึงความสวยงาม และคุณค่าของโบราณสถานป้อมหมายเลข 9 ในยามค่ำคืนทุกวัน ระหว่างเวลา 18.00 - 22.00 น. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการท่องเที่ยวประวัติศาสตร์ 

            อธิบดีกรมศิลปากร  กล่าวอีกว่า การดำเนินการติดตั้งไฟฟ้าและแสงสว่าง (Light up) โบราณสถานในเขตเมืองเก่าสงขลา โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันสงขลาสู่มรดกโลก และการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในพื้นที่ ตามนโยบาย  ซอฟพาวเวอร์ของรัฐบาล และนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมในการขับเคลื่อนงานวัฒนธรรม ส่งเสริม สร้างสรรค์ ผลักดันทุนทางวัฒนธรรมให้เป็นทุนทางเศรษฐกิจ โดยหลังจากนำร่องที่โบราณสถานป้อมหมายเลข 9 แล้ว จะได้ดำเนินการกับโบราณสถานอื่น ๆ ในเมืองสงขลาเก่า ต่อไป

            ป้อมเมืองสงขลาเก่า หมายเลข 9 เป็นโบราณสถานที่มีความงามทางสถาปัตยกรรมโดดเด่น ตั้งอยู่ใกล้ริมถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 408 ระหว่างตำบลหัวเขากับตำบลสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา เป็นป้อมปราการเมืองสงขลาเก่า ปรากฎชื่ออยู่ในเอกสารโบราณว่า SINGORA เป็นเมืองท่าที่เจริญรุ่งเรืองขึ้นในสมัยอยุธยาเมื่อราวกลางพุทธศตวรรษที่ 22 ถึงพุทธศตวรรษที่ 23 มีผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีคูเมือง กำแพงเมือง และป้อมปราการเป็นอาณาเขตและเป็นปราการของเมือง โดยมีคูเมืองและกำแพงเมืองเป็นปราการด้านทิศเหนือ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ส่วนทางด้านทิศใต้มีเขาแดงและเขาค่ายม่วงเป็นปราการ ป้อมเมืองเก่าสงขลาหมายเลข 9 เป็นป้อมก่อด้วยหินที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบเชิงเขาน้อยบริเวณมุมตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองสงขลาเก่า โดยอยู่ห่างจากโบราณสถานเจดีย์ภูเขาน้อยประมาณ 300 เมตร อยู่ห่างจากป้อมเมืองสงขลาเก่าหมายเลข 1 ประมาณ 1,072 เมตร ทำหน้าที่เป็นป้อมตรวจการณ์ด้านทิศใต้และด้านตะวันตกของเมืองสงขลาเก่า กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานป้อมหมายเลข 9 เป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานเมืองสงขลาเก่า ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 109 ตอนที่ 119 หน้า 10190 วันที่ 17 กันยายน 2535 พื้นที่โบราณสถานประมาณ 2,460 ไร่






(จำนวนผู้เข้าชม 33 ครั้ง)

Messenger