กรมศิลปากรคว้ารางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2567 “บริการภาครัฐ ประเภทนวัตกรรมบริการ”
![](https://finearts.go.th/uploads/tinymce/source/13/News2567/67-09-18/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%A5%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90%20(1).jpg)
![](https://finearts.go.th/uploads/tinymce/source/13/News2567/67-09-18/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%A5%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90%20(2).jpg)
![](https://finearts.go.th/uploads/tinymce/source/13/News2567/67-09-18/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%A5%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90%20(4).jpg)
นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร มอบหมายให้นางสาวขนิษฐา โชติกวณิชย์ รองอธิบดีกรมศิลปากร เป็นผู้แทนกรมศิลปากร เข้ารับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2567 “รางวัลบริการภาครัฐ ระดับดี” ประเภทนวัตกรรมบริการ ผลงาน Application AR Smart Heritage รูปแบบสันนิษฐานโบราณสถานในพื้นที่มรดกโลก ของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศมรดกศิลปวัฒนธรรม จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) โดยมีนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2567 ณ อาคารชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) ได้จัดพิธีมอบรางวัลเลิศรัฐอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ให้แก่หน่วยงานที่มุ่งมั่นปฏิบัติราชการจนประสบความสำเร็จมีความเป็นเลิศ ซึ่งผลงาน Application AR Smart Heritage รูปแบบสันนิษฐานโบราณสถานในพื้นที่มรดกโลก ของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศมรดกศิลปวัฒนธรรม กรมศิลปากร ได้รับรางวัลบริการภาครัฐ ประเภทนวัตกรรมบริการ ที่มีการพัฒนาการให้บริการด้วยการนำนวัตกรรมที่เกิดจากการนำแนวคิด องค์ความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ และเทคโนโลยีดิจิทัล มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาคุณภาพการให้บริการแก่ประชาชนให้ได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว และเกิดความพึงพอใจ ถือได้ว่าเป็นการยกระดับคุณภาพการให้บริการที่ประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง
AR Smart heritage เป็นแอพพลิเคชั่นที่สามารถใช้ได้กับโทรศัพท์ Smart Phone และ Tablet บนระบบ Android และ iOS ซึ่งกรมศิลปากร โดยศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศมรดกศิลปวัฒนธรรมได้พัฒนาขึ้น เพื่อสร้างการเรียนรู้และประสบการณ์ใหม่ในการท่องเที่ยวโบราณสถานผ่านสื่อเทคโนโลยีระบบ AR หรือ Augmented Reality ภายใต้แนวความคิดเรื่องการย้อนรอยความรุ่งเรืองในอดีต สู่ความภาคภูมิใจในปัจจุบัน โดยนำรูปแบบสันนิษฐานโบราณสถานมาผสานเข้ากับโบราณสถานในสถานที่จริง เพื่อให้ผู้เข้าชมได้จินตนาการถึงความรุ่งเรือง ความงดงามของสถาปัตยกรรมไทยและความยิ่งใหญ่แห่งมรดกโลกของไทย ได้แก่ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร และอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา โดยมีรูปแบบสันนิษฐานโบราณสถาน รวมทั้งสิ้น 36 แห่ง ให้ผู้เข้าชมได้สัมผัสกับการชมโบราณสถานในรูปแบบใหม่ได้อย่างเต็มอิ่มและมีอรรถรสมากยิ่งขึ้น ด้วยเทคโนโลยีที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย สะดวก ส่งเสริมเพิ่มมูลค่าและคุณค่า ให้แก่แหล่งโบราณสถาน กระตุ้นให้นักท่องเที่ยว ผู้เข้าชมโบราณสถานเรียนรู้ศึกษาเพิ่มเติม เข้าใจในรูปแบบของโบราณสถานและสถาปัตยกรรมไทยมากยิ่งขึ้น
(จำนวนผู้เข้าชม 136 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน