ขอเชิญร่วมกิจกรรมนำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นกรณีพิเศษ หัวข้อ “มะโรงนักษัตรทัวร์”
สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ร่วมมอบของขวัญปีใหม่จากใจกรมศิลปากร จัดกิจกรรมส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๖๗ ให้รุ่งเรืองสดใส ดุจมังกรทะยานฟ้า นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นกรณีพิเศษ หัวข้อ “มะโรงนักษัตรทัวร์” เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้เกี่ยวกับสัตว์ในตำนานทั้งงูหงอน นาค มกร มังกร และเหรา ในความเหมือนและแตกต่างซึ่งมีความสัมพันธ์กับปีมะโรงที่กำลังมาถึงในพุทธศักราช ๒๕๖๗ ผ่านโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ซึ่งจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ระหว่างวันที่ ๒๙ - ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๖ วันละ ๑ รอบ โดยเปิดรับลงทะเบียนเวลา ๑๗.๐๐ น. ณ บริเวณศาลาลงสรง และเริ่มนำชมเวลา ๑๘.๐๐ น. โดยภัณฑารักษ์และเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ ซึ่งแบ่งการนำชมออกเป็น ๓ เส้นทาง โดยทั้งสามเส้นทางมีตัวอย่างโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ สำคัญที่น่าชม อาทิ
๑. พุทธบูชานาคสัมพัจฉร์ (พระที่นั่งพุทไธสวรรย์)
สักการะพระพุทธรูปสำคัญรับพรปีใหม่ และเรียนรู้เรื่องราวของนาคต่าง ๆ ในพระพุทธศาสนา
๒. หลีฮื้อกระโดดข้ามประตูมังกร (พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย)
ภาพจิตรกรรมปลาไนกระโดดข้ามประตูมังกรจนกลายร่างเป็นมังกรห้าเล็บ ที่หลังพระทวารคู่กลางในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย โดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
๓. ธรรมาสน์กลมยอดทองจากวัดค้างคาว (มุขเด็จ)
ธรรมาสน์กลมยอดทองสมัยกรุงศรีอยุธยาที่มีรูปลักษณ์หาชมได้ยากและบันไดมนุษยนาค พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงได้มาจากวัดค้างคาว เมืองนนทบุรี ต่อมาพระราชทานแด่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
๔. นาฬิกาธูปรูปเรือมังกร (พระที่นั่งพรหมเมศธาดา-ล่าง)
นาฬิกาธูปรูปเรือมังกรประดับมุก (ไม่มีรางจับเวลาและลูกตุ้มบอกเวลา) สันนิษฐานว่า มีกำเนิดมาจากประเทศอินเดีย ซึ่งจะจุดธูปจับเวลาในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา โดยเฉพาะในพระพุทธศาสนามหายาน และแพร่หลายเข้าสู่ประเทศจีนจนพัฒนารูปแบบของตนเอง และส่งต่อสู่เวียดนาม เกาหลี รวมถึงญี่ปุ่นด้วย
๕. นารายณ์บรรทมสินธุ์ (ห้องลพบุรี)
ทับหลังสลักภาพพระนารายณ์บรรทมบนหลังมกรที่เกษียรสมุทร (ทะเลน้ำนม) จากปรางค์กู่สวนแตง บ้านดงยาง ตำบลกู่สวนแตง อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นเทวาลัยในศาสนาฮินดู สร้างขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๗
๖. นางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาส (ห้องชวา - ศรีวิชัย)
ภาพสลักจากบุโรพุทโธเป็นภาพนางสุชาดาพร้อมเหล่านางทาสีถวายข้าวมธุปายาสแด่พระโคตมโพธิสัตว์ใต้ต้นไทรด้วยเข้าใจว่าเป็นรุกขเทวดาที่นางเคยขอสามีและบุตรชายไว้ ก่อนที่พระโพธิสัตว์จะเสวยข้าวนั้นแล้วลอยถาดที่แม่น้ำเนรัญชรา โดยอธิษฐานเสี่ยงพระบารมีว่า “ถ้าจะได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ขอให้ถาดทองลอยทวนกระแสน้ำ หากไม่สำเร็จสมประสงค์ ขอให้ถาดลอยไปตามกระแสน้ำ” ในพระพุทธประวัติกล่าวว่า ถาดนั้นได้ลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไปจนถึงวังน้ำวนแห่งหนึ่งจึงจมลงสู่นาคพิภพ ไปกระทบกับถาดสามใบของพระอดีตพุทธเจ้าสามพระองค์คือ พระกกุสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า และพระกัสสปพุทธเจ้า พญานาคราชซึ่งกำลังหลับอยู่ในนาคพิภพ เมื่อได้ยินเสียงถาดกระทบกันจึงรู้ได้ทันทีว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะบังเกิดขึ้นในโลกมนุษย์อีกหนึ่งพระองค์แล้ว
๗. พระอิศวร (ห้องสุโขทัย)
พระอิศวรทรงสังวาลนาคจากการกวนเกษียรสมุทร เดิมประดิษฐานที่หอเทวาลัยเกษตรพิมาน โบสถ์พราหมณ์ เมืองเก่าสุโขทัย
๘. ตู้พระธรรมจำหลักเล่าเรื่องทศชาติ (ห้องอยุธยา)
๙. พระแท่น (ห้องธนบุรี - รัตนโกสินทร์)
สันนิษฐานเป็นของพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้มาจากเมืองแกลง จังหวัดระยอง เป็นของอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มาแต่เดิม
๑๐. พระเก้าอี้พับ (ห้องธนบุรี - รัตนโกสินทร์)
พระเก้าอี้พับในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ใช้ในกระบวนเสด็จพระราชดำเนิน เจ้าพนักงานจะเชิญพระเก้าอี้ทอดถวายแทนในกรณีที่ไม่ได้ทอดพระแท่นที่ประทับถวาย รวมถึงใช้ในการเสด็จงานพระราชสงครามด้วย
๑๑. อรหันต์ปราบมังกร - ศาลเจ้าพ่อหอแก้ว
เซียงหลงหลอฮั่นหรืออรหันต์ปราบมังกร (降龍羅漢) หนึ่งในสิบแปดอรหันต์ของจีน ท่านมีนามว่า พระมหากัศยปะ ซึ่งบางคนเชื่อว่า พระอรหันต์จี้กงก็คือร่างหนึ่งของอรหันต์ปราบมังกร เดิมที มีเพียงสิบหกอรหันต์เท่านั้นที่กล่าวถึงในพระสูตรจากอินเดีย ต่อมามีการเพิ่มพระอรหันต์เข้าไปอีกสองรูปช่วงปลายราชวงศ์ถังต่อกับสมัยห้าราชวงศ์สิบอาณาจักรของจีนคือ อรหันต์ปราบมังกรกับอรหันต์ปราบเสือ
ทั้งนี้ กิจกรรมนำชม “มะโรงนักษัตรทัวร์” ระหว่างวันที่ ๒๙ - ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๖ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีสิทธิ์ลุ้นรางวัล เครื่องรางแก้ชงปี ๒๕๖๗ โอมาโมริไท่ส่วยครองชะตา วันละ ๑๐ ชิ้น และกาชาปองชุดพิเศษรับปีมังกรทอง ชุดที่สอง “ลูกมังกรทั้งเก้า” โดยศิลปินอาร์ตทอย วันละ ๙ ตัว เมื่อจบกิจกรรมในแต่ละวัน นอกจากนี้ยังเปิดตลาดอาร์ตทอย ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน เวลา ๑๐.๐๐ น. - ๒๐.๐๐ น. อีกด้วย
(จำนวนผู้เข้าชม 8048 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน