กิจกรรมสักการะพระพุทธรูป “พุทธบูชานาคสัมพัจฉร์ ๒๕๖๗” เนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๖๗

           กรมศิลปากร โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำหนดจัดกิจกรรมสักการะพระพุทธรูป “พุทธบูชานาคสัมพัจฉร์ ๒๕๖๗” ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ระหว่างวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๖ ถึงวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๖๗
   คติการสร้างพระพุทธรูป เป็นการสร้างขึ้นเพื่อแทนคุณแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประกอบด้วย พระมหากรุณาธิคุณ (มีคุณด้วยความเมตตากรุณาต่อสัตว์โลก) พระวิสุทธิคุณ (มีคุณด้วยจิตวิสุทธิ์) และพระปัญญาธิคุณ (มีคุณด้วยปัญญา) พระพุทธรูปจึงมิใช่รูปเสมือนจริง แต่สร้างขึ้นตามอุดมคติ ตามลักษณะของมหาบุรุษ ผู้บำเพ็ญบารมีพร้อมสมบูรณ์ กอปรด้วยความงาม ตามสุนทรียภาพหรือความรู้สึกถึงความงดงามของช่างฝีมือแต่ละสมัย พระพุทธรูปแต่ละองค์ที่สร้างขึ้น ต่างมีคุณลักษณะเปี่ยมด้วยสรรพสิริสวัสดิมงคลต่าง ๆ อันเป็นเครื่องน้อมนำให้พุทธศาสนิกชนยึดมั่น ศรัทธาต่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นกุศโลบายให้ตรึกถึงพระธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงอันเป็นหนทางพ้นทุกข์ภัยในวัฏสงสาร
     เนื่องในเทศกาลปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๖๗ ปีมะโรงนักษัตร กรมศิลปากร โดยสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้อัญเชิญพระพุทธรูปที่มีคติการสร้างเกี่ยวข้องกับพญานาค  มีพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ตามตำนานปั้นหล่อจากต้นแบบพญานาคแปลงนิมิตสำแดงพระพุทธลักษณะ เป็นพระประธาน พร้อมด้วยพระพุทธรูปอีก ๙ องค์ ที่จัดแสดงและสงวนรักษา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จำนวน ๗ องค์ คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดปทุมธานี ๑ องค์ และวัดชนะสงคราม ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ จำนวน ๑ องค์ มาประดิษฐานให้ประชาชนได้สักการบูชา เพื่อความเป็นสิริมงคลในวาระแห่งการเริ่มต้นศักราชใหม่ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ระหว่างวันพฤหัสบดีที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ ถึงวันอาทิตย์ที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๗  พระพุทธรูปทั้ง ๑๐ องค์ ประกอบด้วย
 
๑. พระพุทธสิหิงค์
แบบศิลปะ/อายุสมัย ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ ๒๑ (๕๐๐ ปีมาแล้ว)
ชนิด          สัมฤทธิ์  กะไหล่ทอง
ขนาด         สูงพร้อมฐาน ๑๓๕ เซนติเมตร หน้าตักกว้าง ๖๓ เซนติเมตร องค์พระสูง ๗๙ เซนติเมตร  
ประวัติ                          สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (วังหน้ารัชกาลที่ ๑) ทรงอัญเชิญมาจากเมืองเชียงใหม่เมื่อ พุทธศักราช ๒๓๓๘  ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคล
 
            พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์  จาก “นิทานพระพุทธสิหิงค์” ซึ่งพระโพธิรังสี พระภิกษุชาวเชียงใหม่นิพนธ์เป็นภาษาบาลี ระหว่างพุทธศักราช ๑๙๔๕-๑๙๘๕ เนื้อความกล่าวถึงตำนานพระพุทธสิหิงค์ว่าสร้างโดยพระมหากษัตริย์กรุงลังกาเมื่อพุทธศักราช ๗๐๐ กำหนดพระลักษณะให้ละม้ายองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามากที่สุด เนื่องจากได้ถอดมาจากรูปแปลงของพญานาคที่เคยเห็นพระพุทธองค์ เนรมิตกายให้ดูเป็นแบบอย่าง 
           ในครั้งนั้นสีหฬทวีป เกาะลังกา มีพระมหากษัตริย์เสวยราชสมบัติ ๓ พระองค์ วันหนึ่งพระราชาได้ตรัสถามเหล่าพระอรหันต์ว่า บรรดาพระคุณเจ้าทั้งหลายมีรูปใดบ้างที่ได้เคยเห็นพระบรมศาสดาเมื่อยังทรงพระชนม์ชีพ แต่พระอรหันต์ทั้ง ๒๐ องค์ ไม่มีรูปใดที่เคยเห็น  พญานาคตนหนึ่งที่อยู่ในที่ประชุมนั้นซึ่งเคยได้เห็นจึงอาสานิรมิตองค์แทนสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระอสีติมหาสาวกถวาย เมื่อพุทธบริษัททั้งหลายได้กระทำบูชาพระพุทธรูปครบ ๗ วันแล้ว นาคราชจึงกลายเพศเป็นมานพถวายอภิวาทพระอรหันต์ทั้งหลาย แล้วกำชับว่า “ขอพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายจงได้กำหนดจดจำพระพุทธลักขณะไว้เถิด” แล้วก็ไปสู่นาคพิภพแห่งตน  พระมหากษัตริย์กรุงลังกาจึงโปรดให้ช่างหล่อที่มีฝีมือดีเยี่ยมปั้นขี้ผึ้งเป็นพระพุทธรูปมีลักษณะเหมือนกับที่ได้จดจำมา
           กล่าวกันว่า เมื่อหล่อพระพุทธสิหิงค์ขึ้นแล้ว เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เหาะเหินเดินอากาศได้ ต่อมาพระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัย โปรดเกล้าฯ ให้พญาสิริธรรมนคร ผู้ปกครองเมืองสิริธรรมนคร (ปัจจุบันคือ นครศรีธรรมราช) แต่งทูตอัญเชิญพระราชสาสน์ทูลขอพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานสักการบูชา ณ กรุงสุโขทัย ครั้นกรุงสุโขทัยเสื่อมอำนาจลง พระมหากษัตริย์หรือเจ้าเมืองผู้มีอำนาจได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปประดิษฐานตามเมืองสำคัญหลายแห่ง ได้แก่ พิษณุโลก พระนครศรีอยุธยา กำแพงเพชร เชียงราย และเชียงใหม่ 
 
๒. พระพิมพ์ปางมหาปาฏิหาริย์ที่เมืองสาวัตถี
แบบศิลปะ/อายุสมัย ศิลปะทวารวดี พุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔ (๑,๒๐๐-๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว)
ชนิด          ดินเผา  ปิดทอง
ขนาด         สูงพร้อมฐาน ๑๙.๕ เซนติเมตร  กว้าง ๒๑.๕ เซนติเมตร
ประวัติ                  สมบัติเดิมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
สถานที่เก็บรักษา         ห้องทวารวดี อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
 
            พระพิมพ์ดินเผาสี่เหลี่ยมผืนผ้า ๓ องค์ ประดิษฐานเรียงกันบนฐานไม้ องค์กลางซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าด้านหน้าพิมพ์ภาพพุทธประวัติตอนมหาปาฏิหาริย์ที่เมืองสาวัตถี  เป็นรูปพระพุทธเจ้าประทับใต้ร่มไม้ พระพุทธองค์ประทับขัดสมาธิราบบนดอกบัวที่เนรมิตขึ้นโดยพญานาคนันทะและอุปนันทะประคองถือก้านบัวอยู่ด้านล่าง แวดล้อมด้วยพระอินทร์ พระพรหม และเหล่าเทวดาทั้งหลายที่ลงมาเฝ้า ด้านหลังพระพิมพ์จารึกคาถาเย ธมฺมาฯ ด้วยอักษรปัลลวะ ภาษาบาลี ๔ บรรทัด ความว่า “เย ธมฺมา เหตุปปฺภวา เยสํ เหตุ ตถาคโต อาห เตสญฺ จ โย นิโรโธ เอวํ วาที มหาสมโณ” แปลว่า “ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีปกติทรงสั่งสอนอย่างนี้”  
            พระพิมพ์ปางมหาปาฏิหาริย์ที่เมืองสาวัตถี องค์นี้ไม่ปรากฏหลักฐานว่าพบจากที่ใด แต่พระพิมพ์แบบนี้ได้พบที่เมืองโบราณในวัฒนธรรมทวารวดีหลายแห่งบริเวณภาคกลางของประเทศไทย อาทิ จังหวัดราชบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ ได้อธิบายถึงก้านบัวที่มีพญานาค ๒ ตนประคองในฉากมหาปาฏิหาริย์ ว่ามีที่มาจากคัมภีร์ทิวยาวทาน ซึ่งเป็นคัมภีร์ภาษาสันสกฤตของพุทธศาสนาหีนยานนิกายสรวาสติวาท ว่า “พระยานาค ๒ ตน ชื่อ นันทะ และอุปนันทะ ได้เนรมิตดอกปทุมดอกหนึ่ง มีกลีบหลายพันกลีบใหญ่เท่าล้อรถ กลีบดอกปทุมทั้งหลายเหล่านี้ล้วนด้วยทองทั้งสิ้นแต่ก้านเป็นเพชรพลอย แล้วจึงนำดอกปทุมนี้เข้าไปถวายพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคเสด็จขึ้นไปนั่งประทับขัดสมาธิบนกลีบบัวนั้น...” แต่ด้านหลังปรากฏจารึกคาถาเย ธมฺมาฯ ภาษาบาลี ซึ่งมีที่มาจากคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท ด้วยเหตุนี้นักวิชาการจึงสันนิษฐานว่าพระพิมพ์แบบนี้ทำขึ้นโดยผู้นับถือพุทธศาสนาเถรวาท แต่หยิบยืมรูปแบบและประติมานวิทยาของพุทธศาสนานิกายอื่นมาใช้
 
๓. พระไภษัชยคุรุนาคปรก
แบบศิลปะ/ยุคสมัย ศิลปะลพบุรี  พุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ (๘๐๐-๙๐๐ ปีมาแล้ว)
ชนิด         สัมฤทธิ์
ขนาด สูงพร้อมฐาน ๖๐ เซนติเมตร หน้าตักกว้าง ๒๗.๕ เซนติเมตร 
ประวัติ                 กรมศิลปากรซื้อมาจากพิพิธภัณฑ์ของหม่อมเจ้าปิยะภักดีนาถ สุประดิษฐ์ เมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙
สถานที่เก็บรักษา ห้องศิลปะลพบุรี อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
 
พระไภษัชยคุรุ องค์นี้มีสุนทรียภาพที่ได้รับอิทธิพลศิลปะขอมแบบบายน - หลังบายน อันเป็นรูปแบบงานศิลปกรรมช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ (หรือประมาณ ๘๐๐-๙๐๐ ปีมาแล้ว) พระไภษัชยคุรุ เป็นพระพุทธเจ้าในพุทธศาสนานิกายมหายาน มีประวัติกล่าวว่าเมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ ทรงตั้งปณิธานว่าจะช่วยเหลือสัตว์โลกทั้งปวงให้มีชีวิตยืนยาว พ้นโรคภัย ทั้งจากทางกายและทางใจ เป็นที่นิยมนับถือในกลุ่มชนต่าง ๆ ทั้งชาวทิเบต ชาวจีน และชาวเขมร ดังปรากฏบุคคลผู้มีบทบาทในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ คือ พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ กษัตริย์ผู้ทรงอุทิศพระราชทรัพย์และข้าทาสบริวาร เพื่อสร้างสถานอภิบาลผู้ป่วย นามว่า “อาโรคยศาล” ทั้งยังโปรดให้สร้างพระไภษัชยคุรุเป็นประธานในศาสนสถานเพื่อบำบัดทุกข์และโรคภัยดังปณิธานในฐานะพระพุทธเจ้าแพทย์ โดยลักษณะพระไภษัชยคุรุที่พบจากอาโรคยศาลส่วนใหญ่ เป็นพระพุทธรูปนาคปรก ที่มีหม้อยาหรือตลับวางอยู่ในพระหัตถ์ แม้ตามประติมานวิทยาระบุเพียงว่าพระไภษัชยคุรุมี ๒ พระกร ครองจีวรแบบพระภิกษุก็ตาม แต่งานศิลปกรรมในวัฒนธรรมขอมยังมีองค์ประกอบสำคัญที่เพิ่มขึ้นมา คือ ฐานนาคปรก 

๔. พระรัตนตรัยมหายาน
แบบศิลปะ/ยุคสมัย    ศิลปะลพบุรี พุทธศตวรรษที่ ๑๘ (๘๐๐ ปีมาแล้ว)
ชนิด                    ศิลา
ขนาด                    สูง ๓๕.๕ เซนติเมตร กว้าง ๓๑ เซนติเมตร
ประวัติ                    สมบัติเดิมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
สถานที่เก็บรักษา    คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดปทุมธานี
 
          พระรัตนตรัยมหายาน สัญลักษณ์แทนของคุณธรรม ๓ ประการ สำหรับผู้ต้องการตรัสรู้ อันได้แก่ อุบาย ความกรุณา และปัญญา มักพบในรูปแบบประติมากรรมรูปเคารพรูปบุคคลสามคนอยู่บนฐานเดียวกัน หรือเป็นกลุ่มประติมากรรมลอยตัวที่มีขนาดใกล้เคียงกัน โดยเบื้องกลางคือพระพุทธรูปนาคปรก ปางสมาธิ ประทับขัดสมาธิราบเหนือขนดนาค เป็นตัวแทน อุบาย หรือการสั่งสอนธรรม ถัดไปทางเบื้องขวาเป็นรูปบุรุษมีสี่กร คือ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร บุคคลาธิษฐานความกรุณา เสมือนความปรารถนาช่วยให้สัตว์โลกทั้งปวงหลุดพ้นจากวัฏสงสาร และเบื้องซ้ายรูปสตรี ยกกรทั้งสองข้างขึ้นถือหนังสือและดอกบัว คือ นางปรัชญาปารมิตา บุคคลาธิษฐานแห่งคัมภีร์ปรัชญาปารมิตา พระคัมภีร์สำคัญสูงสุดของฝ่ายมหายานและปัญญาสูงสุดของพระพุทธเจ้า โดยทั้งมหาปัญญาและมหากรุณาเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มพูนโพธิจิตสู่การเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล 

๕. พระพุทธรูปปางมารวิชัย
แบบศิลปะ/ยุคสมัย   ศิลปะอยุธยาตอนกลาง พุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ (๔๐๐-๕๐๐ ปีมาแล้ว)
ชนิด   สัมฤทธิ์
ขนาด   สูงพร้อมฐาน ๔๓ เซนติเมตร หน้าตักกว้าง ๑๑.๒ เซนติเมตร  
ประวัติ                   เป็นของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เดิมอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร
สถานที่เก็บรักษา   พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
 
          พระพุทธรูปประทับขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ทั้งสองข้างวางซ้อนบนพระเพลาในอิริยาบถสมาธิ เบื้องหลังมีแผ่นโลหะรูปต้นโพธิ์ รองรับด้วยฐานภาพเล่าเรื่องรูปกองทัพพญามาร โดยมีรูปนาค ๒ ตนแผ่พังพานอยู่ทั้งสองข้าง รวมถึงมารบางตนชูศีรษะงูในมือทั้งสองข้าง สอดรับกับเรื่องราวใน “ชินมหานิทานกถา” คัมภีร์พุทธศาสนาสมัยอยุธยา อันเป็นต้นเค้าของปฐมสมโพธิกถา ปรากฎเนื้อหาว่า “...เอกจฺจา อุปริมกายโต นาคสรีรา เหฏฺฐิมกายโต มนุสฺสสรีรา. เอกจฺจา เหฏฺฐิมกายโต นาคสรีรา อุปริมกายโต มนุสฺสสรีรา...” แปลความว่า “...บางพวกท่อนบนเป็นร่างนาค ท่อนล่างเป็นร่างมนุษย์ บางพวกกายท่อนบนเป็นร่างมนุษย์ ท่อนล่างเป็นร่างนาค...” จากบริบทดังกล่าวแสดงให้เห็นว่านาคเหล่านี้ คือบริวารของพญามารที่เข้ารังควานพระพุทธเจ้า สอดรับกับเรื่องราวของ นาค ในคัมภีร์พุทธศาสนา ซึ่งแบ่งได้เป็น ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มนาคผู้พิทักษ์พระพุทธเจ้าที่ยอมรับนับถือพุทธศาสนา กับนาคที่เป็นปฏิปักษ์ มิจฉาทิฐิ หรือนาคที่ก่อให้เกิดอันตรายแก่มนุษย์

๖. พระบัวเข็ม
แบบศิลปะ/ยุคสมัย   ศิลปะพม่า พุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๔ (๒๐๐-๔๐๐ ปีมาแล้ว)
ชนิด  ไม้ลงรักปิดทอง
ขนาด   สูงพร้อมฐาน ๑๕ เซนติเมตร หน้าตักกว้าง ๗.๓ เซนติเมตร
ประวัติ   สมบัติเดิมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
สถานที่เก็บรักษา   พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
 
           พระบัวเข็ม หรือพระทักษิณสาขา เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ มีคุณอันวิเศษที่นิยมเคารพนับถือกันในหมู่ชาวพม่า มอญ และไทใหญ่ โดยเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นจากไม้ของพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งเป็นไม้ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสรู้ พุทธลักษณะที่สำคัญ คือ ส่วนพระเศียรมีใบบัวปรกอยู่ บริเวณใต้ฐานมักนิยมแกะสลักเป็นภาพงู นาค และสัตว์น้ำ ในพระราชพิธีพิรุณศาสตร์ (ขอฝน) และพระราชพิธีพืชมงคล มีการประดิษฐานพระบัวเข็มร่วมกับพระคันธารราษฎร์ และประติมากรรมรูปนาคและปลาช่อนด้วย จึงกล่าวได้ว่าราชสำนักไทย นับถือพระบัวเข็มในฐานะพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ มีพุทธคุณที่สำคัญเกี่ยวเนื่องกับน้ำและความอุดมสมบูรณ์
           อนึ่งมีข้อน่าสังเกตว่าพระบัวเข็มบางรูปแบบมีการทำเป็นพระพุทธรูปนาคปรก และมีสระน้ำ ซึ่งมุจลินทนาคราชมีความสัมพันธ์กับสระน้ำ และฝนด้วย ดังนั้นจึงอาจมีความเป็นไปได้ว่าพระบัวเข็มอาจสามารถหมายถึงพุทธประวัติตอนเสวยวิมุติสุขในสัปดาห์ที่ ๖ ใต้ต้นจิกริมสระน้ำของพญามุจลินทนาคราชได้ด้วยเช่นกัน

๗. พระพุทธเจ้า ๕ พระองค์นาคปรก
แบบศิลปะ/ยุคสมัย     ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๔ (๑๐๐ ปีมาแล้ว)
ชนิด             งาช้าง ไม้ลงรักปิดทองประดับกระจก
ขนาด             สูง ๑๒๓ เซนติเมตร
ประวัติ             สมบัติเดิมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
 
           พระพุทธรูปปางสมาธิ ประทับในซุ้มเรือนแก้ว ๕ องค์  แกะสลักบนงาช้างที่บิดเป็นเกลียว  ส่วนปลายงาแกะเป็นรูปนาคปรก  คนไทยถือว่างาช้างที่งอกผิดจากรูปทรงปกติเป็นของขลังสูงค่านิยมนำมาแกะเป็นพระพุทธรูป  โดยพระพุทธรูป ๕ พระองค์  หมายถึง พระพุทธเจ้าห้าพระองค์ในภัทรกัลป์ ซึ่งได้อุบัติขึ้นมาแล้วสี่องค์ ได้แก่ พระกกุสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า พระกัสสปพุทธเจ้า พระโคตมพุทธเจ้า และพระอนาคตพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่ง คือ พระศรีอริยเมตไตย
           ในคัมภีร์ทางพุทธศาสนาในไทยและมุขปาฐะพื้นบ้าน เล่าถึงตำนาน “แม่กาเผือก” การกำเนิดของพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ กล่าวถึงเมื่อครั้งช่วงต้นกัลป์ มีแม่กาเผือกได้วางไข่ไว้ที่รังบนยอดไม้ริมแม่น้ำ วันหนึ่งเกิดพายุพัดรังกาแตก ไข่ตกลงสู่แม่น้ำกระจัดกระจายไป ไข่ห้าใบได้ไหลไปตามกระแสน้ำ กระทั่งไปเกยกับฝั่งเรียงถัดกันไปเรื่อย ๆ โดยไข่ใบแรก คือ พระกกุสันธโพธิสัตว์ได้แม่ไก่รับไปดูแล พระโกนาคมนโพธิสัตว์ได้นางนาคนำไปดูแล พระกัสสปโพธิสัตว์มีแม่เต่าเป็นผู้ดูแล พระโคตมโพธิสัตว์ถูกเลี้ยงดูโดยแม่โค และไข่ใบที่ห้าพระศรีอริยเมตไตยโพธิสัตว์ได้นางสิงห์นำไปฟูมฟัก กระทั่งไข่ฟักออกมาเป็นเด็กทารกและเติบใหญ่เป็นชายหนุ่ม จึงอำลาเหล่าแม่บุญธรรมของตนออกบวช กระทั่งได้บรรลุโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้าในที่สุด โดยไล่เรียงกันไปทั้งห้าพระองค์
            การสร้างสรรค์งานศิลปกรรมอันเนื่องมาจากคติพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ ตามตำนานแม่กาเผือก มักมีรูปแบบเป็นภาพพระพุทธเจ้าจำนวน ๕ พระองค์ หรือรูปพระพุทธเจ้า ๔ พระองค์ และพระโพธิสัตว์ ๑ พระองค์ ปรากฏคู่กับรูปสัตว์ประจำพระองค์ สำหรับเป็นสัญลักษณ์บ่งชี้ว่ารูปพระพุทธเจ้าองค์นั้น ๆ คือ พระพุทธองค์ใดในภัทรกัลป์ นอกจากนี้ การปรากฏรูปสลักรูปเศียรนาคที่ปลายสุดของงาช้างบิดเกลียวกิ่งนี้ ชวนให้นึกถึง พญากาฬนาคราช สักขีพยานในการอุบัติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งจะตื่นทุกครั้งที่ได้ยินเสียงถาดที่พระอดีตพุทธเจ้าทรงลอยอธิษฐานตกลงมากระทบกัน
 
๘. พระพุทธรูปนาคปรกไม้จันทน์
แบบศิลปะ/ยุคสมัย  ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๔-๒๕ (ประมาณ ๑๐๐-๒๐๐ ปีมาแล้ว)
ชนิด  ไม้ ลงรักปิดทอง ประดับกระจก
ขนาด  สูงพร้อมฐาน ๔๐.๕ เซนติเมตร หน้าตักกว้าง ๙ เซนติเมตร
ประวัติ  ราชบัณฑิตยสภานำมาเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานเมื่อพุทธศักราช ๒๔๖๙
สถานที่เก็บรักษา  พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
 
          พระพุทธรูปไม้จันทน์ปางสมาธิ ประทับขัดสมาธิราบบนฐานบัวหงาย กลีบบัวซ้อนกันสองชั้นเหนือขนดนาค ๔ ชั้น ด้านบนเป็นพังพานนาค ๗ เศียรแผ่ปรกเหนือพระเศียร พระพุทธรูปนาคปรกสื่อถึงพุทธประวัติหลังการตรัสรู้ในสัปดาห์ที่ ๖ ขณะที่พระพุทธเจ้าเสวยวิมุติสุขอยู่ใต้ต้นจิก บังเกิดพายุฝนโหมกระหน่ำเป็นเวลา ๗ วัน พญานาคมุจลินทร์ซึ่งอาศัยอยู่ในหนองน้ำ (สระโบกขรณี) ใกล้กับต้นจิกเกรงว่าพระองค์จะทรงถูกพายุฝนรบกวน จึงเลื้อยขึ้นมาจากหนองน้ำและขนดกายรอบพระพุทธองค์ แล้วแผ่พังพานปรกเหนือพระเศียรพระพุทธเจ้าไว้ เป็นการป้องกันพระพุทธองค์มิให้ถูกแดด ฝน ตลอดจนแมลงต่าง ๆ มารบกวน 
           พระพุทธรูปนาคปรกปรากฏหลักฐานในประเทศไทยตั้งแต่สมัยทวารวดีเป็นต้นมา และใน “ตำราพระพุทธรูปปางต่าง ๆ” ตามพระมติสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงกำหนดให้พระพุทธรูปนาคปรกเป็นพระพุทธรูปประจำวันเสาร์
 
๙. พระพุทธรูปนาคปรกนอระมาด
แบบศิลปะ/ยุคสมัย   ศิลปะรัตนโกสินทร์ (ท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) พุทธศตวรรษที่ ๒๔-๒๕ (ประมาณ ๑๐๐-๒๐๐ ปีมาแล้ว)
ชนิด   นอระมาด
ขนาด   สูงพร้อมฐาน ๑๘.๕ เซนติเมตร หน้าตักกว้าง ๖.๕ เซนติเมตร
ประวัติ นายซาทองยศ ภูดวงศรี บ้านเสียว ตำบลอุ่มเม่า อำเภอตลาด จังหวัดมหาสารคาม มอบให้เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๕
สถานที่เก็บรักษา พระตำหนักแดง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
 
           พระพุทธรูปนาคปรกแสดงปางมารวิชัยแกะจากนอระมาด (แรด) ฝีมือช่างท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  พระพุทธรูปนาคปรกองค์นี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของการสร้างพระพุทธรูปนาคปรกในศิลปะลาว ซึ่งปรากฏรูปแบบที่หลากหลายต่างกับพระพุทธรูปในศิลปะอื่น ๆ แบ่งออกได้เป็นสองกลุ่มที่สำคัญคือกลุ่มที่ทำพังพานนาคปรกแบบซุ้มโขง  ซึ่งกลุ่มนี้พบมากในกลุ่มงานช่างแถบจังหวัดอุบลราชธานี กับกลุ่มที่พังพานนาคแคบมีขนาดเท่ากับองค์พระพุทธรูป ซึ่งพบได้ทั่วไปพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต่อเนื่องไปถึงกลุ่มพระไม้ทางภาคเหนือของประเทศไทย เช่น พระไม้นาคปรกปางสมาธิ พบที่วัดชนะไพรี อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน
         สำหรับ “นอระมาด” หรือ “นอแรด” เป็นของป่ามีมูลค่าและเป็นทั้งของบรรณาการและส่วยที่หัวเมืองทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยรวมถึงลาวส่งให้กับกรุงเทพฯ ตามความเชื่อในสังคมไทย-ลาว นอระมาดนอกจากมีสรรพคุณทางด้านการรักษาโรคแล้ว ยังถือเป็นเครื่องรางของขลังประเภทหนึ่ง ที่มีอานุภาพบันดาลทรัพย์สิน และความอุดมสมบูรณ์แก่ผู้ครอบครอง รวมทั้งมีคุณด้านป้องกันอัคคีภัยได้
 
๑๐. พระนิรโรคันตราย
แบบศิลปะ/ยุคสมัย    ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศักราช ๒๕๔๕
ชนิด   โลหะผสมปิดทอง
ขนาด   สูงพร้อมฐาน ๓๗ เซนติเมตร  หน้าตักกว้าง ๑๕ เซนติเมตร
ประวัติ                   สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพันณวดี ทรงพระราชศรัทธา พระราชทานประจำวัดชนะสงคราม ราชวรมหาวิหาร เมื่อพุทธศักราช ๒๕๔๖
สถานที่เก็บรักษา   วัดชนะสงคราม ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ
 
  พระนิรโรคันตราย เป็นพระพุทธรูปที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๖๙ ภายหลังทรงหายจากพระอาการประชวรร้ายแรงเกี่ยวกับพระอันตะ (ลำไส้ใหญ่) โดยมีลักษณะเป็นพระพุทธรูปนาคปรก ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางประจำวันเสาร์และนักษัตรปีมะโรง อันเป็นวันและปีพระบรมราชสมภพ แต่ก็ทรงมีพระราชประสงค์ให้มีความแปลกใหม่แตกจากพระพุทธรูปนาคปรกแบบเดิมที่ปรากฏโดยทั่วไป กล่าวคือเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิที่มีมนุษยนาคจำแลง ๒ ตน อัญเชิญฉัตรและพัดโบกอยู่งานถวายแด่พระพุทธเจ้าแทน สอดคล้องกับพุทธประวัติตอนเสวยวิมุติสุขในสัปดาห์ที่ ๖ ซึ่งนอกจากมุจลินทนาคราชจะแผ่พังพานปกคลุมพระพุทธองค์แล้ว เมื่อพายุฝนหายไปมุจลินทนาคราชได้แปลงกายเป็นมานพเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า
           ลักษณะพิเศษอีกประการหนึ่งคือมนุษยนาคจำแลงเป็นประติมากรรมรูปบุรุษใส่เครื่องทรงคล้ายศิลปะชวา-ปาละ และศรีวิชัย มีพังพานนาคด้านบน ขาข้างหนึ่งเป็นขาแบบมนุษย์ส่วนขาอีกข้างหนึ่งเป็นหางคล้ายงู ซึ่งมนุษยนาคลักษณะนี้ยังปรากฏในงานจิตรกรรมของพระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) จิตรกรเอกในสมัยรัชกาลที่ ๖ ในสถานที่สำคัญอันเกี่ยวเนื่องกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่น ห้องพระเจ้า พระที่นั่งพิมานปฐม พระราชวังสนามจันทร์ และพระวิหารหลวง วัดพระปฐมเจดีย์ เป็นต้น

(จำนวนผู้เข้าชม 3126 ครั้ง)

Messenger