องค์ความรู้จากเอกสารจดหมายเหตุ : ระเบิดหินสร้างทางรถไฟ





          ข้อมูลที่ปรากฏในเอกสารจดหมายเหตุทำให้เราทราบว่า การสร้างโครงข่ายเส้นทางคมนาคมในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างทางรถไฟนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะการก่อสร้างที่ต้องบุกเบิกขนอุปกรณ์ก่อสร้างเข้าไปในพื้นที่ที่ไม่มีเส้นทางคมนาคมประเภทอื่นที่เหมาะสมนอกจากทางน้ำ ดังตัวอย่างการก่อสร้างทางรถไฟสายเหนือที่บริเวณเมืองพิจิตร ที่ปรากฏในเอกสารจดหมายเหตุชุด กรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 กระทรวงโยธาธิการ ดังนี้
           เมื่อเดือนตุลาคม ร.ศ. 122 (พ.ศ. 2446) พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงษ์ เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ (พระยศและตำแหน่งในขณะนั้น – สะกดตามต้นฉบับ) ทรงมีลายพระหัตถ์กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความว่า ทรงได้รับรายงานจากเจ้ากรมรถไฟว่า การก่อสร้างทางรถไฟสายเหนือซึ่งต้องขนส่งเครื่องเหล็กก่อสร้างไปทางเรือนั้นไม่สะดวก เนื่องจากติดแก่งสะพานหิน 2 แห่ง บริเวณใต้เมืองพิจิตรลงมา เจ้ากรมรถไฟเสนอให้ระเบิดศิลาใต้น้ำเป็นช่องเล็กๆ พอให้เรือสามารถแล่นผ่านไปได้ ประมาณการค่าใช้จ่ายทั้งหมดไม่เกิน 1,000 บาท ซึ่งกรมขุนนริศรานุวัดติวงษ์ทรงเห็นว่าการระเบิดศิลานี้จะเป็นประโยชน์ไม่เฉพาะการก่อสร้างทางรถไฟเท่านั้น หากจะเป็นประโยชน์ต่อการสัญจรของประชาชนด้วย ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายนั้น กรมรถไฟจะออกแต่ค่าแรง ส่วนค่าสิ่งของจะขอให้กระทรวงพระคลังมหาสมบัติโอนเงินเหลือจ่ายในกระทรวงโยธาธิการไปจ่าย เนื่องจากการบำรุงรักษาแม่น้ำลำคลองเป็นหน้าที่ของกระทรวงโยธาธิการที่ต้องทำอยู่แล้ว ซึ่งในเวลาต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบกลับว่า ทรงทราบเรื่องแล้ว และทรงเห็นว่าเป็นการดีควรจะระเบิด
           หากพูดถึงการระเบิดหินในสมัยเมื่อร้อยกว่าปีก่อน อาจมีข้อสงสัยว่าจะระเบิดกันอย่างไร ใช้ระเบิดประเภทไหน แม้ว่าในเอกสารเรื่องนี้จะไม่ได้กล่าวถึงการดำเนินการระเบิดหินหลังจากที่มีพระราชหัตถเลขาแล้ว แต่ในเอกสารเรื่องเดียวกันนี้ได้ปรากฏหลักฐานการขออนุญาตสั่งเครื่องระเบิดของกรมรถไฟเพื่อใช้ในการสร้างรถไฟสายเหนือเมื่อเดือนสิงหาคม ร.ศ. 122 (ก่อนมีลายพระหัตถ์เรื่องขอระเบิดศิลาราว 2 เดือน) เครื่องระเบิดนี้ประกอบด้วย แก๊บดีโตเนเตอร์ (Blasting cap / Detonator) 25 หีบ หีบละ 10,000 ดอก ดินนาไมต์ (Dynamite) 200 หีบ หีบละ 50 ปอนด์ และฝักแค 50 ถัง ถังละ 250 ขด ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่า การขออนุญาตสั่งเครื่องระเบิดจำนวนมากเช่นนี้ นอกเหนือจากการระเบิดหินเพื่อประโยชน์ในการวางรางรถไฟแล้ว เครื่องระเบิดส่วนหนึ่งอาจจะนำมาใช้ระเบิดหินในแม่น้ำด้วย
-------------------------------------------
 
ผู้เขียน: นายธัชพงศ์ พัตรสงวน (นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา)
-------------------------------------------
 
เอกสารอ้างอิง:
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารชุดกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 กระทรวงโยธาธิการ ร.5 ยธ. 5.9/17 เรื่อง ระเบิดแก่งสพานหินใต้เมืองพิจิตรเพื่อการรถไฟสายเหนือ [ 5 ส.ค. – 31 ต.ค. 122 ]. 
-------------------------------------------
 
ที่มาของข้อมูล: เฟสบุ๊ก  หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ ฯ พะเยา https://www.facebook.com/PhayaoNationalArchives

https://www.facebook.com/PhayaoNationalArchives/posts/pfbid02Tm14Y8xMd8Nzfdb9ewQ5A4AmMAGpWUbcyPMBX8TFnbjfod4vVnLmtWdvUTKa8wNVl

(จำนวนผู้เข้าชม 519 ครั้ง)

Messenger