คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ





คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ 
สังกัด :
สำนักพิพิธภัณฑสถ่านแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
ที่ตั้ง : ภายในพื้นที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
จัดสร้าง : พ.ศ.๒๕๕๙-๒๕๖๖
พิธีเปิด : วันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๖ เวลา ๙.๐๐ น. โดยองค์ประธาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
พร้อมเปิดให้บริการ : วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๖๖






ภารกิจหน้าที่ :
           กรมศิลปากรจัดสร้างอาคารคลังกลางโบราณวัตถุหลังใหม่ เพื่อกำหนดหน้าที่ให้เป็นคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ดำเนินงานโดยกลุ่มทะเบียนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและสารสนเทศ สังกัดสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โดยมีหน้าที่ดังต่อไปนี้  
           ๑. ศูนย์กลางรวบรวม จัดเก็บ และบริการด้านโบราณวัตถุของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในสังกัดกรมศิลปากร ดูแลรักษาโบราณวัตถุให้อยู่ในสภาพปลอดภัย พร้อมให้บริการหมุนเวียนไปจัดแสดงในนิทรรศการถาวร หรือนิทรรศการพิเศษในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศ ตลอดจนสนับสนุนโครงการความร่วมมือด้านการอนุรักษ์ และประชาสัมพันธ์คุณค่ามรดกศิลปวัฒนธรรมของกรมศิลปากร และประเทศไทย
           ๒. เป็นต้นแบบมาตรฐานสากลการบริหารจัดการคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในการดูแลรักษาโบราณวัตถุให้มีความยั่งยืนและปลอดภัย
           ๓. ให้บริการศึกษาค้นคว้าโบราณวัตถุฯ (Study Collection) จากฐานข้อมูลโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ทั้งที่คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และทางแพลตฟอร์มออนไลน์ บริการภาพถ่ายโบราณวัตถุ และบริการการศึกษาชิ้นงานโบราณวัตถุในพื้นที่คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ แก่นักวิชาการ นักศึกษา และประชาชน ตามระเบียบวิธีการที่กรมศิลปากรกำหนด 
           ๔. เก็บรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่อยู่ระหว่างดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๔ (แก้ไขเพิ่มเติมฯ พ.ศ.๒๕๓๕)  และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง 

อาคาร : 
           อาคารคอนกรีตเสริมเหล็กขนาดใหญ่ มีพื้นที่ใช้สอย ๓๐,๐๐๐ ตารางเมตร ความสูง ๔ ชั้น รูปทรงอาคารเป็นทรงไทยประยุกต์ นำเส้นสายฐานบัวในงานสถาปัตยกรรมไทยเข้ามาใช้เป็นกรอบด้านนอกของอาคาร เพื่อสร้างเอกลักษณ์ไทยด้วยวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่ แต่ยังคงไว้ซึ่งการระบายอากาศที่ดี สามารถนำแสงธรรมชาติเข้ามาใช้ในอาคาร และเหมาะสมกับสถานที่ตั้งที่มีภูมิอากาศร้อนชื้น วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในอาคารเลือกใช้วัสดุประเภทเหล็ก คอนกรีต อลูมิเนียมและกระจกเป็นหลัก ไม่ใช้วัสดุประเภทไม้เพื่อลดโอกาสที่จะมีแมลงเข้ามาอยู่อาศัย ซึ่งอาจทำลายโบราณวัตถุที่จัดเก็บอยู่ภายใน

ห้องคลังโบราณวัตถุ : 
           ปัจจุบันกรมศิลปากรดำเนินการเคลื่อนย้ายโบราณวัตถุจากอาคารคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเดิมและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศ รวมจำนวน ๑๑๓,๘๔๙ รายการ เข้าเก็บรักษาตามประเภทวัสดุ ภายในอาคารคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแห่งใหม่ รวมพื้นที่ใช้สอย ๒๖,๑๔๐ ตารางเมตร จำแนกห้องคลังตามประเภทวัสดุ รวม ๑๐ ห้องคลัง ดังนี้
           ๑. คลังโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ประเภทหินและปูนปั้น
           ด้วยปัจจัยของขนาดและน้ำหนักของโบราณวัตถุประเภทหินและปูนปั้น ห้องคลังโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุประเภทหินและปูนปั้น จึงกำหนดไว้ที่ชั้น ๑ รวมพื้นที่ ๓,๐๐๐ ตารางเมตร 
           ๒. คลังโบราณวัตถุฯ ประเภทดินเผาและแก้ว
           วัสดุโบราณวัตถุดินเผาและแก้วเป็นอนินทรีย์วัตถุที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก จึงจัดวางในห้องคลังบนชั้น ๒ ฝั่งตะวันออก พื้นที่ ๒,๕๐๐ ตารางเมตร แยกเป็น ๒ ห้องย่อย ประกอบด้วย ห้องคลังเครื่องปั้นดินเผา ๑ จัดเก็บเครื่องปั้นดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ถึงสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ จัดวางเป็นกลุ่มตามแหล่งที่มาและกลุ่มวัตถุเอกลักษณ์พิเศษ ห้องคลังเครื่องปั้นดินเผา ๒ จัดเก็บเครื่องปั้นดินเผาสมัยลพบุรี ถึงสมัยรัตนโกสินทร์ 
           ๓. คลังโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ประเภทโลหะ
           คลังโบราณวัตถุฯ ประเภทโลหะอยู่บนชั้น ๒ ฝั่งตะวันตกมีพื้นที่ ๔,๑๐๐ ตารางเมตร แบ่งเก็บโบราณวัตถุตามหน้าที่ใช้สอบใน ๓ ห้องย่อย ได้แก่ 
               ห้องคลังโลหะ ๑ ประกอบด้วยโบราณวัตถุเนื่องในพระพุทธศาสนา ได้แก่ พระพุทธรูป ศาสนสถานจำลอง รอยพระพุทธบาท พระศรีอารยเมตรัย พระสาวก พระพิมพ์ เป็นต้น
               ห้องคลังโลหะ ๒ ประกอบด้วยเครื่องมือเครื่องใช้ ได้แก่ อาวุธ เงินตรา วิทยุ โทรศัพท์ ภาชนะ กล้องส่องทางไกล กล้องถ่ายภาพยนตร์ กล้องถ่ายภาพ เครื่องพิมพ์ดีด เครื่องทำบัญชี เครื่องคิดเลข เครื่องบดยาสมุนไพร เป็นต้น
               ห้องคลังโลหะ ๓ ประกอบด้วยโบราณวัตถุเนื่องในศาสนาความเชื่ออื่นๆ ได้แก่ เทวรูป พระโพธิสัตว์ เทพเจ้า แม่โพสพ แม่ซื้อ บุคคล รูปสัตว์ และเครื่องดนตรี เป็นต้น
           ๔. คลังโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ประเภทไม้

           โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ประเภทไม้ จัดเก็บในห้องคลังชั้น ๓ ขนาด ๓,๖๐๐ ตารางเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ประเภทอินทรียวัตถุโดยเฉพาะ โดยแบ่งเป็น ๒ ห้องย่อยคือ
               ห้องคลังโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ไม้ ๑ จัดเก็บงานประณีตศิลป์ แบ่งกลุ่มจัดวางตามหน้าที่ใช้งาน ได้แก่ เครื่องเรือน ชิ้นส่วนประดับสถาปัตยกรรม และเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน 
               ห้องคลังโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ไม้ ๒ จัดเก็บศาสนวัตถุ แบ่งกลุ่มจัดวางตามหน้าที่ใช้สอย ได้แก่ รูปเคารพในศาสนา และเครื่องใช้ในพิธีกรรม 
           ๕. คลังโบราณวัตถุฯ ประเภทอินทรีย์วัตถุอื่นๆ
           โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ประเภทอินทรียวัตถุที่มีความอ่อนไหวสูงต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งอุณหภูมิ ความชื้น ความร้อน จัดเก็บตามประเภทในห้องคลังชั้น ๓ พื้นที่รวม ๓,๐๐๐ ตารางเมตร แบ่งกลุ่มวัตถุออกเป็น ๒ ห้องย่อย คือห้องคลังโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุประเภทผ้า กระดาษ กระดูก งา เขาสัตว์ และห้องคลังโบราณวัตถุศิลปวัตถุประเภทหนังสัตว์  
 
โบราณวัตถุ :
            จำนวนโบราณวัตถุ ๑๑๓,๘๔๙ รายการ ที่จัดเก็บภายในคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  มีที่มาจากการดำเนินงานปกป้องมรดกศิลปวัฒนธรรมของประเทศไทย ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ ถึงปัจจุบัน ประกอบด้วย
            ๑. โบราณวัตถุจากคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเดิม ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร 
            ๒. โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ จากการสำรวจขุดค้นทางโบราณคดีและขุดแต่งโบราณสถานของกรมศิลปากร
            ๓. โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ จากการรับมอบ รับบริจาค และจัดซื้อจากหน่วยงานและภาคประชาชน
            ๔. โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ จากคดีลักลอบค้าโดยผิดกฎหมาย
            ๕. โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ จากการดำเนินงานของคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย
            ๖. โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ นำส่งมาเก็บรักษาจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติต่าง ๆ
 
การบริการ คลังเพื่อการศึกษา Study Collection :
           ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์หลายแห่งทั่วโลกได้พัฒนางานบริการทางวิชาการ โดยออกแบบและบริหารจัดการคลังพิพิธภัณฑ์ให้สามารถให้บริการในรูปแบบ “คลังเพื่อการศึกษา” แก่นักวิชาการ นักศึกษาที่สนใจศึกษาวัตถุพิพิธภัณฑ์โดยเฉพาะ ทั้งโดยการศึกษาวัตถุ และสอบค้น จากฐานข้อมูลโบราณวัตถุศิลปวัตถุบนแพลตฟอร์มออนไลน์ 
           คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จึงจัดการให้บริการศึกษาค้นคว้าโบราณวัตถุ เป็น ๒ ระดับ ได้แก่ ระดับแรก คือบริการการศึกษาค้นคว้าในห้องฐานข้อมูลโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ห้องสมุด และแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งผู้ศึกษาสามารถเข้าใช้บริการได้ในพื้นที่บริการทั่วไป ระดับที่ ๒ คือการศึกษาโบราณวัตถุ ซึ่งต้องแจ้งขออนุญาตเข้าศึกษาในพื้นที่ชั้นใน โดยการดูแลของเจ้าหน้าที่ 
           ๑. พื้นที่ให้บริการระดับแรก  
               ๑.๑ ห้องสมุดเฉพาะด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะ และพิพิธภัณฑ์วิทยา 
               ๑.๒ ห้องสืบค้นฐานข้อมูลโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ    
               ผู้ศึกษาสามารถเข้าใช้บริการคอมพิวเตอร์สอบค้นโบราณวัตถุ จากฐานข้อมูลโบราณวัตถุ   ศิลปวัตถุ โดยมีเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือในการค้นคว้าโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุทั้งที่อยู่ในคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และประสานขอข้อมูลโบราณวัตถุที่เก็บรักษาในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศ ทั้งนี้ผู้ศึกษายังสามารถเข้าศึกษาฐานข้อมูลโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุทางช่องทางแพลตฟอร์มออนไลน์  findantique.finearts.go.th 
สำหรับผู้ใช้บริการแอพพลิเคชั่นสืบค้นทะเบียนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ จะต้องลงทะเบียนสมัครเป็นสมาชิกทาง https://findantiue.finearts.go.th  กำหนดรหัสผ่านส่วนตัว และยืนยันรหัสผ่านส่วนตัวแล้วจึงสามารถเข้าสืบค้นฐานข้อมูลทะเบียนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศ 


               ๑.๓ บริการสำเนาไฟล์ภาพถ่ายโบราณวัตถุ โดยมีค่าธรรมเนียมตามระเบียบกรมศิลปากร
               คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมีภาพถ่ายโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุจัดเก็บไว้จำนวนมากกว่าหนึ่งแสนรูป พร้อมให้บริการไฟล์ภาพถ่ายเพื่อใช้ในการศึกษาค้นคว้าได้ โดยผู้ศึกษาไม่ต้องถ่ายภาพโบราณวัตถุด้วยตนเอง ผู้สนใจสามารถยื่นคำร้องได้ที่ห้องสอบค้นฐานข้อมูลโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ หรือสืบค้นด้วยตนเองทางช่องทางเว็บไซต์ findantique.finearts.go.th แล้วยื่นคำร้องขอสำเนาไฟล์ภาพถ่ายโบราณวัตถุทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ registraonm@gmail.com หรือเว็บเพจ facebook.com/nationalmuseumstorage
           ๒. พื้นที่ให้บริการระดับที่ ๒
                ๒.๑ บริการศึกษาโบราณวัตถุ
                คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ให้บริการศึกษาโบราณวัตถุแก่ผู้ยื่นคำร้องขอเข้าศึกษาโบราณวัตถุ ในพื้นที่ควบคุมชั้นใน ตามขั้นตอนและระเบียบวิธีที่กรมศิลปากรกำหนด ดังนี้
                - สืบค้นฐานข้อมูลโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และเลือกรายการโบราณวัตถุที่ต้องการศึกษา 
                - กรอกคำร้องขอเข้าศึกษาโบราณวัตถุ โดยระบุรายละเอียดโบราณวัตถุ เช่น ชื่อโบราณวัตถุ เลขทะเบียน ชนิด จำนวน ให้ถูกต้องครบถ้วน แล้วยื่นคำร้องขอเข้าศึกษาโบราณวัตถุต่อผู้ช่วยภัณฑารักษ์
                - เมื่อได้รับอนุญาต จะได้เข้าใช้บริการในห้องศึกษาโบราณวัตถุในพื้นที่ควบคุม โดยการอำนวยความสะดวกของผู้ช่วยภัณฑารักษ์
                - เมื่อศึกษาโบราณวัตถุเสร็จสิ้น ผู้ช่วยภัณฑารักษ์จะตรวจสอบสภาพโบราณวัตถุว่าไม่มีการทำลายหรือทำให้โบราณวัตถุชำรุดเสื่อมสภาพ จากนั้นลงนามส่งคืนโบราณวัตถุกลับห้องคลังพิพิธภัณฑ์
                กรณียื่นคำร้องผ่านช่องทางออนไลน์ จะได้รับการนัดหมายวันเวลาเข้าศึกษาโบราณวัตถุจากเจ้าหน้าที่
                 ๒.๒ บริการศึกษา ดูงาน และการอบรมต่างๆ
                 องค์กรหรือหน่วยงานที่สนใจศึกษาดูงานด้านการบริหารจัดการคลังพิพิธภัณฑ์ สามารถส่งหนังสือแจ้งขออนุญาตเข้าศึกษาดูงานล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๓ วัน เพื่อจัดเตรียมเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกและข้อมูลที่จำเป็น ทั้งนี้คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติยังให้บริการห้องประชุมขนาด ๔๐ ที่นั่ง โดยมีขั้นตอนการขอใช้บริการดังนี้
                  - ส่งหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ แจ้งขออนุญาตเข้าศึกษาดูงาน หรือขอใช้พื้นที่ฝึกอบรม โดยระบุชื่อหน่วยงานหรือโครงการที่จะอบรม วัน เวลา จำนวนผู้เข้าศึกษาดูงาน หรือรายละเอียดการฝึกอบรม หมายเลขติดต่อ ตลอดจนความต้องการวิทยากร โดยขอให้แจ้งขออนุญาตล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน 
                   - กรณีขออนุญาตใช้พื้นที่จัดการฝึกอบรม จะมีค่าธรรมเนียมตามระเบียบกรมศิลปากรว่าด้วยการขออนุญาตใช้สถานที่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2548
           ๓. ระบบให้บริการคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเสมือนจริง  Virtual Smart Museum 
กรมศิลปากรออกแบบจัดทำสื่อ “คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเสมือนจริง” เพื่อให้ประชาชน นักเรียน นักศึกษาผู้สนใจได้ “สร้างประสบการณ์เสมือนจริง” เสมือนได้เข้ามาภายในพื้นที่ควบคุมของคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ด้วยระบบ Virtual Reality คือ การจำลองสภาพแวดล้อมเสมือนจริงของห้องคลังโบราณวัตถุต่างๆ ผ่านซอฟต์แวร์และอุปกรณ์ ผู้ใช้สื่อสามารถรับรู้จากการมองเห็น การได้ยินผ่านจอคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์แสดงผลสามมิติ นอกจากนี้ยังนำเสนอภาพโบราณวัตถุชิ้นสำคัญแบบ 360 องศา ที่ผู้ชมสามารถขยายภาพชมรายละเอียดได้โดยสะดวก
 
           ๔. ระบบให้บริการ FADiscovery
           กรมศิลปากรได้พัฒนาระบบนำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ผ่านแอพพลิเคชั่น FADiscovery โดยเชื่อมโยงความสนใจของผู้เข้าชมเข้ากับข้อมูลองค์ความรู้ผ่านฐานข้อมูลองค์ความรู้ของกรมศิลปากร ระบบ FADiscovery จะจัดเก็บข้อมูลความต้องการของผู้เข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติผ่านกำไลข้อมืออัจฉริยะ (Wristband) หรือแอพพลิเคชั่นผ่านโทรศัพท์มือถือ ระบบจะจดจำเส้นทาง บันทึกความชื่นชอบ ความสนใจในการเข้าชม แล้วแยกความสนใจออกเป็นประเภท เช่น  ห้องจัดแสดง โบราณวัตถุ แล้วประมวลผลในทันที เพื่อให้ได้ทราบความสนใจพิเศษ แล้วระบบจะส่งข้อมูลความรู้ที่สนใจกลับไปยังผู้เข้าชมทันทีแบบรายบุคคล (Individual Experience) เช่น ระบบประมวลผลพบว่าผู้เข้าชมสนใจเรื่องประวัติศาสตร์ชาติไทย ระบบจะสืบค้นข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากฐานข้อมูลกรมศิลปากร แล้วส่งข้อมูลกลับไปยังผู้เข้าชมคนนั้นทันที 

(จำนวนผู้เข้าชม 3316 ครั้ง)

Messenger