พระวิษณุสี่กร พุทธศตวรรษที่ ๑๓ จากเมืองศรีเทพ

พระวิษณุสี่กร
พุทธศตวรรษที่ ๑๓
ได้มาจากเมืองศรีเทพ พระยานครพระราม สมุหเทศาภิบาล มณฑลพิษณุโลก ส่งมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒
ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องลพบุรี อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
_________________________________________
พระวิษณุสี่กร ทรงยืนตริภังค์ พระเศียรทรงกิรีฏมกุฎ* (หมวกทรงกระบอก) พระขนงต่อกันเป็นรูปปีกกา พระเนตรโปน พระนาสิกใหญ่ พระโอษฐ์หนา พระวรกายท่อนบนเปลือย พระวรกายท่อนล่างทรงพระภูษาสั้น ยืนตริภังค์ ทรงยืนบนฐานสี่เหลี่ยม พระวิษณุมีสี่กร จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า พระวิษณุจตุรภุช กล่าวคือ “จตุร” หมายถึงสี่ “ภุช” หมายถึงกรหรือแขน
 
ประติมากรรมองค์นี้ยังคงแสดงอิทธิพลจากศิลปะอินเดียอย่างชัดเจน ได้แก่ การยืนตริภังค์ แสดงการยืนเอียงส่วนพระโสณี (สะโพก) ค่อนข้างมาก รูปแบบดังกล่าวนี้ปรากฏในงานประติมากรรมศิลปะอินเดียอย่างชัดเจนตั้งแต่สมัยคุปตะ (พุทธศตวรรษที่ ๙-๑๑) เป็นต้นมา และส่วนพระเศียรที่ทรงกิรีฏมกุฎนั้นแสดงถึงรูปแบบเดียวกับ กิรีฏมกุฎที่ปรากฏในศิลปะปัลลวะ ของอินเดียใต้ ซึ่งมีลักษณะสำคัญคือ เป็นหมวกทรงกระบอกเรียบ ตั้งตรงไม่สอบเข้าหากัน ไม่มีลวดลาย มีเส้นรอบวงเท่ากับพระเศียร และไม่มีกระบังหน้า รูปแบบดังกล่าวปรากฏในประติมากรรมที่ทรงกิรีฏมกุฎ อาทิ พระวิษณุ พระสุริยะ แพร่กระจายทั่วพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายแห่ง ทั้งในศรีวิชัย ทวารวดี และเขมรก่อนเมืองพระนคร**
 
อำมาตย์โท พระยานครพระราม สมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก มีจดหมายรายงานการพบเทวรูป องค์นี้ ถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ลงวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๒ ความตอนหนึ่งกล่าวว่า
 
“..ข้าพระพุทธเจ้าได้ไปตรวจพบรูปพระนารายณ์หินอีกองค์หนึ่งอยู่ห่างจากกำแพงเมืองศรีเทพทางทิศใต้ราว ๒๕ เส้น มีขนาดเท่าคนร่างใหญ่ เบื้องล่างหักเพียงข้อพระบาท แต่ฐานที่ตั้งและพระบาทยังอยู่พอจะต่อเข้ารูปกันได้ ส่วนเบื้องบนพระกรขวาหักเพียงศอก พระกรซ้ายหักเพียงศอกกรหนึ่งเพียงข้อพระหัดถ์กรหนึ่ง พระพักตร์กะเทาะบ้างเล็กน้อย นอกนั้นยังดีอยู่ แต่ที่หักแล้วหายหาไม่พบ ทรงเครื่องอย่างเขมรขัดเตี่ยว (เหมือนผู้ที่แต่งตัวจะเข้าชกมวย) แต่สนับเพลาสั้นมาก มาลาที่ทรงคล้ายหมวกเตอร์กี ข้าพระพุทธเจ้าได้สั่งให้นำมาไว้ที่อำเภอวิเชียรแล้ว...”
 
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยำรงราชานุภาพทรงมีลายพระหัตถ์ตอบกลับ อำมาตย์โท พระยานครพระราม สมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก ลงวันที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๒ ความตอนหนึ่งว่า
 
“...ของโบราณซึ่งได้พบมาแล้วที่เมืองศรีเทพมักเปนของดี ๆ เสมอ ฉันคิดว่ายังจะมีของดี ๆ เหลืออยู่อีกขอให้เจ้าคุณพยายามค้นหาต่อไป พระนารายณ์ที่เจ้าคุณได้พบแล้วนั้นก็คงจะเปนของดีอีก ขอให้จัดการส่งลงไปเถิด ฉันขอขอบใจเจ้าคุณเปนอันมากที่เอาใจใส่ในเรื่องของโบราณอันเปนราชการสำคัญของบัณฑิตยสภา...”
 
 
*กิรีฏะ  ในภาษาสันสกฤตแปลว่า มงกุฎ ดังนั้นจึงปรากฏกับประติมากรรม เทพเจ้า หรือบุคคลที่มีอำนาจ เช่น พระวิษณุ พระอินทร์ พระสูรยะ และบุคคลที่เป็นกษัตริย์ 
**โดยเฉพาะในวัฒนธรรมเขมรสมัยก่อนเมืองพระนคร มีวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมสมัยราชวงศ์ปัลลวะค่อนข้างชัดเจน อาทิ สร้อยพระนามกษัตริย์จะลงท้ายด้วย “-วรมัน” เช่นเดียวกับกษัตริย์ในราชวงศ์ปัลลวะของอินเดีย
-------------------------------------------------
 
อ้างอิง
เชษฐ์ ติงสัญชลี. บทบาทของศิลปะอินเดียต่อเครื่องแต่งกายประติมากรรมบุคคลในเอเชียอาคเนย์. กรุงเทพฯ: มติชน,๒๕๖๒.
เชษฐ์ ติงสัญชลี. มุทรา ท่าทาง เครื่องทรง สิ่งของรูปเคารพในศาสนาพุทธ เชน ฮินดู. นนทบุรี: มิวเซียมเพรส, ๒๕๖๕.
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. (๔)ศธ. ๒.๑.๑/๕๐. เอกสารกระทรวงศึกษาธิการ กรมศิลปากร เรื่อง เทวรูปศิลาซึ่งพบที่เมืองศรีเทพ เข้ามายังพิพิธภัณฑสถานฯ (๑๓-๑๕ เมษายน ๒๔๗๒).
-------------------------------------------------
 
ที่มาของข้อมูล  
Facebook : National Museum Bangkok : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
https://www.facebook.com/nationalmuseumbangkok/posts/pfbid02Hi1YQT6zNb6ZYtFFSMfvBMBjpUUiDtfv6KKVQ8mSZATLr2j2AEWoetDpBJr8TNAgl

(จำนวนผู้เข้าชม 1408 ครั้ง)