โครงการขุดค้นทางโบราณคดีเพื่อศึกษาแหล่งโบราณคดี วัดโพธาราม ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
โครงการขุดค้นทางโบราณคดีเพื่อศึกษาแหล่งโบราณคดี วัดโพธาราม ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี 
           ปีงบประมาณ 2566 สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช ดำเนินโครงการขุดค้นทางโบราณคดีเพื่อศึกษาแหล่งโบราณคดีวัดโพธาราม ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการศึกษาโครงการสำรวจ ขุดค้นเพื่อศึกษาเส้นทางข้ามคาบสมุทรในภาคใต้ตอนบนของประเทศไทย  
           เนื่องจากพื้นที่บริเวณชุมชนโบราณเมืองไชยาตั้งอยู่บนเส้นทางข้ามคาบสมุทรที่สำคัญ พบแหล่งโบราณคดี/โบราณสถาน/โบราณวัตถุ 
ที่สำคัญเป็นจำนวนมาก และในปีงบประมาณ 2565 สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช ได้ดำเนินการขุดค้นแหล่งโบราณคดีหลายแห่งในพื้นที่เมืองโบราณไชยา ประกอบกับเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2566 มีการขุดพบพานทองคำ ที่วัดโพธาราม สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราชจึงดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีที่วัดโพธาราม ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อศึกษาพัฒนาการทางโบราณคดีของแหล่งโบราณคดีดังกล่าวและศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดีในเส้นทางข้ามคาบสมุทรเพิ่มเติม
           การดำเนินงานขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณพื้นที่วัดโพธาราม ดำเนินการขุดเป็นหลุมขุดค้นขนาด 2 x 2 เมตร ตั้งอยู่ห่างจากกำแพงวัดด้าน ทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 1 เมตร หลุมขุดค้นวางตัวขนานกับแนวกำแพงวัด กำหนดระดับอ้างอิงหลักไว้ที่บริเวณหลังกำแพงวัด  
การดำเนินงานขุดค้น
          การดำเนินงานขุดค้นได้ทำการขุดค้นตามระดับชั้นดินสมมติครั้งละ 10  เซนติเมตร จนถึงระดับชั้นดินธรรมชาติ เเละในระหว่างขุดค้นได้ทำ
การร่อนดินในแต่ละระดับชั้นดินสมมติควบคู่กันไปเพื่อตรวจสอบลูกปัดแก้วที่อาจปะปนอยู่ในดินที่ขุดค้น เนื่องจากสภาพพื้นที่ในบริเวณตำบลพุมเรียงเป็นพื้นที่ที่พบการกระจายตัวของลูกปัดแก้วอยู่ทั่วไป
ผลการดำเนินงาน
           จากการขุดศึกษาทางโบราณคดีพบว่าสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่ในหลุมขุดค้น มีลักษณะของชั้นดินที่ถูกรบกวนจากกิจกรรมในปัจจุบันในช่วงตั้งแต่ระดับชั้นผิวดิน (65 cm.dt.) จนถึงระดับความลึกประมาณ 75 เซนติเมตรจากผิวดิน (140 cm.dt.) ดินที่พบในระดับชั้นนี้มีลักษณะเป็นดินร่วนปนทราย เนื้อดินละเอียด มีเศษชิ้นส่วนวัสดุและขยะปัจจุบันปะปนอยู่ร่วมกับโบราณวัตถุประเภทต่าง ๆ โดยโบราณวัตถุที่พบมากสุดในระดับชั้นดินนี้ ได้แก่ เศษกระเบื้องมุงหลังคาดินเผาประเภทกาบกล้วย เศษอิฐหัก ภาชนะดินเผาประเภทเนื้อแกร่ง และชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีน ลูกปัดแก้ว ชิ้นส่วนต่างหูทองคำ (?) เหรียญอีแปะจีน 
           ระดับชั้นดินตั้งแต่ 75 เซนติเมตรจากผิวดิน (140 cm.dt.) ลงมาจนถึงระดับ 115 เซนติเมตร จากผิวดิน (180 cm.dt.) ในระดับชั้นดินนี้ไม่ปรากฏการปะปนของเศษวัสดุหรือขยะในปัจจุบันแล้ว ลักษณะของดินที่พบในระดับชั้นนี้มีลักษณะเป็นดินร่วนปนทราย ในระดับชั้นนี้ได้ปรากฏ
           1. ร่องรอยของแนวอิฐที่วางเรียงกันเป็นลักษณะวงกลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 120 เซนติเมตร ปรากฏอยู่ในบริเวณผนังหลุมด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ (SW)  ลักษณะเป็นเศษอิฐไม่เต็มก้อนวางปูเรียงกันเพียงชั้นเดียวคล้ายพื้น หรือฐานรากของสิ่งก่อสร้างที่ถูกขุดรื้อออกไป 
           2. ร่องรอยของหลุม ภายในหลุมปรากฏหม้อดินเผา เนื้อดิน ก้นกลม ตกแต่งด้วยลายกดประทับจำนวน 1 ใบ วางคว่ำอยู่ ภายในหม้อดินเผาบรรจุเศษกระดูกที่หลงเหลือจากการเผาศพไว้ ไม่ปรากฏโบราณวัตถุใด ๆ อยู่ภายใน 
           นอกจากนี้ในระดับชั้นดินนี้ยังพบ เศษกระเบื้องมุงหลังคาดินเผาประเภทกาบกล้วย ภาชนะดินเผาประเภทเนื้อแกร่ง ภาชนะดินเผาประเภทเนื้อดิน และชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีน พบลูกปัดแก้วปะปนอยู่แต่มีปริมาณน้อยกว่าระดับชั้นดินช่วงบน
ระดับชั้นดินตั้งแต่ 115 เซนติเมตรจากผิวดิน (180 cm.dt.) จนถึงระดับ 160 เซนติเมตรจากผิวดิน (225 cm.dt.) ดินในระดับชั้นนี้มีลักษณะเป็นดินทราย เนื้อละเอียด มีสีเทา ลักษณะคล้ายดินชายทะเล มีความชื้นในดินมาก และปรากฏน้ำใต้ดินซึมขึ้นมาตั้งแต่ระดับ 150 เซนติเมตรจากผิวดิน (215 cm.dt.) ในระดับชั้นนี้ไม่ปรากฏโบราณวัตถุใด ๆ ปรากฏอยู่ ซึ่งกำหนดให้เป็นระดับชั้นสิ้นสุดวัฒนธรรม ประกอบกับน้ำใต้ดินขึ้นสูงมากจนไม่สามารถดำเนินการขุดค้นต่อได้ จึงยุติการขุดค้นที่ระดับความลึก 160 เซนติเมตร จากผิวดิน (225 cm.dt.)
โบราณวัตถุ
1. โบราณวัตถุประเภทชิ้นส่วนประกอบสถาปัตยกรรม ได้แก่ ชิ้นส่วนกระเบื้องมุงหลังคาดินเผาประเภทกระเบื้องกาบกล้วย และกระเบื้องปลายตัด, ชิ้นส่วนกระเบื้องดินเผาปูพื้น และชิ้นส่วนอิฐ
2. โบราณวัตถุประเภทภาชนะดินเผาจากแหล่งผลิตภายในประเทศ ได้แก่ เศษภาชนะดินเผาประเภทเนื้อแกร่ง และเศษภาชนะดินเผาประเภทเนื้อดิน สามารถกำหนดอายุได้ราวสมัยอยุธยา – สมัยรัตนโกสินทร์ แต่ไม่สามารถระบุแหล่งผลิตได้ชัดเจน
3. โบราณวัตถุประเภทภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาต่างประเทศ ได้แก่ 
เศษภาชนะดินเผาเนื้อละเอียดจากแหล่งเตาในประเทศจีน สามารถกำหนดอายุได้ในช่วงสมัยราชวงศ์ชิง และสมัยสาธารณรัฐ
4. โบราณวัตถุประเภทอื่น ๆ ได้แก่ ชิ้นส่วนลูกปัดแก้ว, เหรียญอีแปะจีน, เบี้ยดินเผา, ลูกกระสุนดินเผา, ขี้แร่เหล็ก (Slag), ชิ้นส่วนต่างหูทองคำ (?) และชิ้นส่วนลูกปัดกระดูกปลา
ชั้นดินทางวัฒนธรรมและสรุปผลการดำเนินงาน
จากการดำเนินงานทางโบราณคดีสามารถเเบ่งชั้นวัฒนธรรมได้ เป็น 2 สมัย ดังนี้
สมัยที่ 1 
มีความหนาของชั้นดินประมาณ 40 เซนติเมตร ต่ำกว่าระดับพื้นดินในปัจจุบันประมาณ 75 เซนติเมตร ลักษณะเป็นชั้นดินร่วนปนทราย เป็นชั้นกิจกรรมของวัดโพธารามในอดีต ปรากฏร่องรอยหลักฐานเป็นแนวพื้นอิฐเรียงอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ใกล้กับแนวกำแพงวัดปัจจุบัน และร่องรอยกิจกรรมการฝังอุทิศกระดูก การกำหนดอายุเชิงเทียบ (Relative Dating) ของ
ชั้นวัฒนธรรมนี้กับโบราณวัตถุประเภทเครื่องถ้วยจีนสามารถกำหนดอายุได้ในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลาย – ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ราวพุทธศตวรรษที่ 
23 – 24 
สมัยที่ 2 
มีความหนาของชั้นดินประมาณ 75 เซนติเมตรตั้งแต่ระดับผิวดินลงมา ลักษณะเป็นชั้นดินร่วนปนทราย เป็นชั้นกิจกรรมของวัดโพธารามในปัจจุบันหรืออดีตที่ไม่ห่างไกลมากนัก ปรากฏร่องรอยของการถมปรับและขุดตัดพื้นที่อยู่โดยรอบ ซึ่งจากข้อมูลการสัมภาษณ์ทราบว่ามีการนำดินจากภายนอกและภายในวัดมาปรับถมพื้นที่ โดยเฉพาะในบริเวณผนังหลุมด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ และทิศตะวันตกเฉียงเหนือ การกำหนดอายุเชิงเทียบ (Relative Dating) ของชั้นวัฒนธรรมนี้เป็นไปได้ยาก เนื่องจากพบโบราณวัตถุปะปนหลายสมัย แต่หากกำหนดจากระดับของชั้นทับถมที่อยู่เหนือจากชั้นวัฒนธรรมแรกเริ่มจึงอาจกำหนดได้ว่ากิจกรรมที่เกิดขึ้นในชั้นวัฒนธรรมที่ 2 นี้อยู่ในช่วงสมัยรัตนโกสินทร์ราวพุทธศตวรรษที่ 25 เป็นต้นมา









(จำนวนผู้เข้าชม 707 ครั้ง)