ทวารบาลวัดเขาสุวรรณคีรี เมืองศรีสัชนาลัย
องค์ความรู้ : อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย
เรื่อง "ทวารบาลวัดเขาสุวรรณคีรี เมืองศรีสัชนาลัย"




          ทวารบาล มาจากคำว่า ทวาร หมายถึง ประตู ส่วนคำว่า บาล หมายถึง การเลี้ยง รักษา ปกครอง และเมื่อแปลรวมกันคำว่า “ทวารบาล” จึงหมายถึง ผู้รักษาประตู หรือผู้รักษาช่อง โดยทวารบาลมีหน้าที่ปกป้องรักษาไม่ให้สิ่งชั่วร้าย หรือสิ่งไม่ดีเข้ามาภายในศาสนสถานได้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาดำรง ราชานุภาพ ได้กล่าวถึงที่มาของทวารบาลไว้ในหนังสือสาส์นสมเด็จ ว่า “มนุษย์ย่อมต้องมีเครื่องป้องกันภัย อย่างต่ำมีประตูบ้านเรือน ต่อขึ้นมาถึงมีคนเฝ้าประตูบ้านเรือน ต่อขึ้นมาถึงเลือกสรรคนกล้าแข็งรักษาประตู ต่อขึ้นมาถึงผู้เป็นอัจฉริยบุรุษ อาจจะหัดสัตว์ร้ายให้รักษาประตูได้ มูลเหตุนี้เองที่เลยมาเป็นรูปภาพ แล้วถึงแต่ชื่อสิงห์ก็นับว่าเป็นเกียรติยศอย่างสูง” 
          เมืองศรีสัชนาลัย ปรากฏประติมากรรมทวารบาลทั้งรูปบุคคล และรูปสัตว์ ที่วัดเขาสุวรรณคีรี บริเวณซุ้มประตูทางเข้าศาสนสถานทางด้านตะวันตก ด้านหลังของเจดีย์ประธาน โดยพบชิ้นส่วนของโกลนศิลาแลงรูปบุคคลยืนในลักษณะเข่าแยกออกจากกัน และชิ้นส่วนปูนปั้นรูปสิงห์ โดยประติมากรรมดังกล่าวทำหน้าที่เป็นทวารบาลตามคติความเชื่อตั้งแต่สมัยโบราณ ที่มีความเชื่อเกี่ยวกับภูต ผี ปีศาจ และพลังอันลึกลับเหนือธรรมชาติที่มองไม่เห็น ทั้งดี และร้าย โดยสถานที่สำคัญ หรือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์จะมีสิ่งที่คอยปกปักษ์รักษาเพื่อที่จะไม่ให้สิ่งไม่ดีเข้าไปยังที่แห่งนั้นได้ ด้วยการนำรูปยักษ์ รูปอสูร หรือแม้แต่รูปเทวดา ที่มีลักษณะน่ากลัวเป็นที่ น่าเกรงขามแก่เหล่าภูต ผี และปีศาจ ไปติดตั้งไว้ตามบริเวณช่องประตู บานหน้าต่าง หรือราวบันได โดยรูปยักษ์ รูปอสูร หรือแม้แต่รูปเทวดาจะถูกนำเสนอผ่านงานศิลปกรรมต่าง ๆ เช่น งานปั้น งานแกะสลักหรือแม้แต่งานจิตรกรรม เป็นต้น และถูกเรียกว่า “ทวารบาล”
-------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
วิทยานิพนธ์
ณวลพักตร์ พิมลมาศ. คติความเชื่อและรูปแบบทวารบาลไทย-จีน สมัยรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ 3) กรณีศึกษาวัดสุวรรณารามและวัดราชโอรสาราม. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ ศิลปากร, 2549.
เชาว์ เภรีจิต. สัตว์ประดับและบริวารของทวารบาล: ที่มา คติการสร้าง รูปแบบและพัฒนาการ จากสมัยอยุธยาตอนปลายถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ ศิลปากร, 2556.
ระพี เปรมสอน. จากทวารบาลแบบประเพณีมาสู่ทวารบาลแบบจีนในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ศิลปะ ศิลปากร, 2555.
ออนไลน์
ทวารบาล ผู้พิทักษ์ศาสนสถานเมืองกำแพงเพชร, อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร. สืบค้นจาก https://www.finearts.go.th/kamphaengphethistor.../view/34671. (เข้าถึงวันที่ 10 มิถุนายน 2566).
 
-------------------------------------------------
 

(จำนวนผู้เข้าชม 586 ครั้ง)

Messenger