กรมศิลปากรจัดพิธีบวงสรวงสมโภชพระธาตุและเทวดานพเคราะห์ เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ๒๕๖๖
วันนี้ (วันพุธที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๖๖) เวลา ๐๙.๓๙ น. นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานในพิธีบวงสรวงสมโภชพระธาตุและเทวดานพเคราะห์ นำออกให้ประชาชนสักการะและสรงน้ำขอพรเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ๒๕๖๖ ระหว่างวันที่ ๑๒ – ๑๔ เมษายน ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. ณ ศาลาสำราญมุขมาตย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โดยมีผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กรมศิลปากร และประชาชนร่วมในพิธี
กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จัดกิจกรรมสรงน้ำพระธาตุและเทวดานพเคราะห์เป็นประจำทุกปี เพื่อความเป็นสิริมงคลในปีใหม่ไทย เนื่องด้วยในสมัยโบราณ คนไทยมักไม่นิยมนับอายุตามวันเกิด แต่จะนับตามการเถลิงศักราชใหม่ในช่วงปีใหม่ไทยคือ สงกรานต์ หากปีใดมีความป่วยไข้ หรือทราบว่าถึงเวลาเปลี่ยนทักษา โดยเฉพาะเจ้านายก็จะขึ้นเกยส่งเทวดาเก่ารับเทวดาใหม่ ด้วยเชื่อว่าจะนำพาสิริมงคลมาพร้อมกับศักราชใหม่ จึงได้อัญเชิญพระธาตุในพระกรัณฑ์ ซึ่งเดิมทีประดิษฐานในก้านพระรัศมีของพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปองค์สำคัญที่ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคล มาเป็นประธานในพิธี และเทวดานพเคราะห์ทั้ง ๙ องค์ ผู้เป็นเจ้าเรือนชะตามนุษย์ทุกคนตั้งแต่เกิดจนตาย ตามความเชื่อโบราณ มาให้ประชาชนได้สักการะและสรงน้ำขอพร ณ ศาลาสำราญมุขมาตย์ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต อันเป็นวาระแห่งการเริ่มต้นศักราชใหม่ของไทย และเป็นการสืบสานประเพณีที่ดีงาม ตลอดจนสืบทอดองค์ความรู้ในอดีตจากรุ่นสู่รุ่น
ทั้งนี้ เทวดานพเคราะห์มีต้นกำเนิดมาจากโหราศาสตร์ฮินดูที่ นับถือพระสุริยเทพ (พระอาทิตย์) ซึ่งมีเทพบริวารอีก ๘ องค์ รวมเป็น ๙ องค์ ถือว่าเป็นเทพที่ปกปักรักษาชีวิตของประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย ประกอบด้วย พระอาทิตย์ ทรงราชสีห์ เป็นเทพนพเคราะห์ที่มีอำนาจเหนือกว่าเทพนพเคราะห์ทั้งปวง พระจันทร์ ทรงม้า พระอังคาร ทรงมหิงสา พระพุธ ทรงคชสาร พระพฤหัสบดี ทรงกวาง พระศุกร์ ทรงโค พระเสาร์ ทรงพยัคฆ์ พระราหู ทรงพญาครุฑ และ พระเกตุ ทรงนาค
ทั้งนี้ เทวดานพเคราะห์มีต้นกำเนิดมาจากโหราศาสตร์ฮินดูที่ นับถือพระสุริยเทพ (พระอาทิตย์) ซึ่งมีเทพบริวารอีก ๘ องค์ รวมเป็น ๙ องค์ ถือว่าเป็นเทพที่ปกปักรักษาชีวิตของประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย ประกอบด้วย พระอาทิตย์ ทรงราชสีห์ เป็นเทพนพเคราะห์ที่มีอำนาจเหนือกว่าเทพนพเคราะห์ทั้งปวง พระจันทร์ ทรงม้า พระอังคาร ทรงมหิงสา พระพุธ ทรงคชสาร พระพฤหัสบดี ทรงกวาง พระศุกร์ ทรงโค พระเสาร์ ทรงพยัคฆ์ พระราหู ทรงพญาครุฑ และ พระเกตุ ทรงนาค
สำหรับประติมากรรมเทวดานพเคราะห์ทั้ง ๙ องค์ ที่อัญเชิญมาประดิษฐานตามระบบทักษาในแผนผังอัฐจักรนี้ สร้างขึ้นตามแบบเทวดานพเคราะห์ของไทย แต่งกายคล้ายคลึงกับภาพเทวรูปในสมุดไทยหมวดตำราภาพเทวรูปไสยาศาสตร์ เล่มที่ ๗๐ สำนักหอสมุดแห่งชาติ สันนิษฐานว่าเป็นรูปแบบของพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศราพงศ์ พระราชโอรสพระองค์ที่ ๑๒ ในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ วังหน้าองค์ที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์กับพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดาราวดี พระราชธิดาในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ซึ่งประติมากรรมเทวดานี้มีความคล้ายคลึงกับภาพจิตรกรรมเทพยดาบนบานประตูหน้าต่างด้านในของพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส (วัดพระแก้ววังหน้า) ที่พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศราพงศ์ ทรงร่วมในการควบคุมการก่อสร้างเช่นกัน ความพิเศษของประติมากรรมชุดนี้ คือ สามารถถ่ายทอดรูปแบบของเทวดา นพเคราะห์ให้ออกมาเป็นประติมากรรมแบบลอยตัว แสดงท่าทางและลักษณะได้อย่างสมจริงและมีชีวิตชีวา โดยยังคงรักษาเอกลักษณ์ และลักษณะของเทพแต่ละองค์ไว้ได้อย่างสมบูรณ์ สันนิษฐานว่าน่าจะหล่อขึ้นในราวรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา โดยเปรียบเทียบลักษณะประติมานวิทยากับภาพใน สมุดไทย และรูปสัตว์ที่มีความเหมือนจริงเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากตะวันตก
พุทธศาสนิกชนและประชาชนที่สนใจสามารถร่วมกิจกรรมสรงน้ำพระธาตุและเทวดานพเคราะห์ เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ๒๕๖๖ ระหว่างวันที่ ๑๒ – ๑๔ เมษายน ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. ณ ศาลาสำราญมุขมาตย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
(จำนวนผู้เข้าชม 258 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน