ขอเชิญร่วมกิจกรรม “สงกรานต์แฟร์ : นพเคราะห์บูชาดาราจร รับพรสงกรานต์ปีเถาะ"
กรมศิลปากร ขอเชิญร่วมกิจกรรมเนื่องในเทศกาลมหาสงกรานต์ พุทธศักราช 2566 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร รับความรู้คู่ความสนุกกับ “สงกรานต์แฟร์ : นพเคราะห์บูชาดาราจร รับพรสงกรานต์ปีเถาะ” วันที่ 7 - 9 เมษายน 2566 จัดกิจกรรมในลักษณะการออกร้านศิลปะเชิงสร้างสรรค์ และกิจกรรมต่าง ๆ ในหัวข้อ “สงกรานต์แฟร์ : นพเคราะห์บูชาดาราจร รับพรสงกรานต์ปีเถาะ” ระหว่างวันที่ 7 – 9 เมษายน 2566 ซึ่งประกอบด้วย 9 กิจกรรม ดังนี้
1. นิทรรศการ “เก้าดารา” เรียนรู้เกี่ยวกับเทวดานพเคราะห์ในวิถีชีวิตไทย
2. เปิด “ตลาดเก้าล้าน” แสดงและจำหน่ายสินค้าที่นักศึกษา ศิลปิน และอาสาสมัคร ได้พัฒนาต่อยอดมาจากโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
3. “สถานีเก้าสิปป์” กิจกรรมเวิร์กชอปงานศิลปะที่หยิบเล่นได้ โดยนักศึกษาและศิลปินอาร์ตทอย ณ ระเบียงด้านข้างหมู่พระวิมานฝั่งทิศเหนือ ข้างอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์
4. กิจกรรม “ทัวร์เก้ามณี” นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นกรณีพิเศษ เพื่อเรียนรู้ถึงที่มาของเทวดานพเคราะห์และเทศกาลมหาสงกรานต์ ผ่านโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ในห้องจัดแสดงต่าง ๆ
5. กิจกรรม “ล่าขุมทรัพย์เก้าแต้ม” รับสมุดประทับตราแล้วออกตามหาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่เกี่ยวเนื่องกับเทวดานพเคราะห์ จำนวน 9 จุด เพื่อแลกรับถุงเครื่องราง “นวธัญมงคล” (เมล็ดพืชอันเป็นมงคล 9 ชนิด) เป็นของที่ระลึก วันละ 500 ชิ้นเท่านั้น
6. จิบชาเก้าชนิด “จิ๋วจ่งฉา” โดย อ๋อง ที บาย บี๋ (Ong Tea by Bee) ณ เรือนชาลีลาวดี
7. ลุ้นกาชาปองชุดพิเศษ “นวพ่าห์” สัตว์พาหนะเก้าชนิดของเทพนพเคราะห์โดย Little Turtle Studio
8. พิเศษสุดกับการเสี่ยงทายพระคเณศ “นวคเณศ” ซึ่งออกแบบโดยศิลปินอาร์ตทอยเพื่องานสงกรานต์แฟร์ 2566 โดยเฉพาะและมีจำนวนจำกัด
9. ทุกคนที่เข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในช่วงงานสงกรานต์แฟร์ วันที่ 7 - 9 เมษายน 2566 จะได้รับเหรียญที่ระลึก “พิพิธคเณศ” เป็นรูปพระคเณศแบบต่าง ๆ ที่ศิลปินร่วมกันออกแบบไว้ 15 แบบ จำนวน 15,000 ชิ้น โดยจำกัดคนละ 1 เหรียญ/คน/วัน
กรมศิลปากร จึงขอเชิญชวนประชาชนร่วมกิจกรรม“สงกรานต์แฟร์ : นพเคราะห์บูชาดาราจร รับพรสงกรานต์ปีเถาะ” ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เวลา 09.00 – 16.00 น. ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางเฟสบุ๊ก เพจ National Museum Bangkok : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร หรือ โทรศัพท์ 0 2224 1333, 0 2224 1402
(จำนวนผู้เข้าชม 1108 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน