ส่องสัตว์ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช : หงส์







          ส่องสัตว์ฯ ครั้งนี้จะพาไปทำความรู้จัก ‘หงส์’ ซึ่งจัดแสดงอยู่ในห้องศาสนาพราหมณ์-ฮินดู พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช หงส์ที่จะกล่าวถึงนี้ไม่ใช่สัตว์ที่ดำรงชีวิตอยู่บนโลกนี้จริงๆ แต่เป็นหงส์สำริด จากเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ ซี่งเป็นโบราณสถานสำคัญที่อยู่คู่เมืองนครศรีธรรมราชมายาวนาน
  หงส์สำริดนี้พบที่เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยพบร่วมกับประติมากรรมรูปเคารพสำคัญหลายองค์ ได้แก่ พระศิวนาฏราช พระวิษณุ พระหริหระ พระอุมา และพระคเณศ ซึ่งกรมศิลปากรได้เคลื่อนย้ายไปจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ เป็นต้นมา จากหลักฐานทางโบราณคดีสันนิษฐานว่าโบสถ์พราหมณ์สร้างขึ้นราวสมัยอยุธยา โดยมีฐานะเป็นเทวสถานประจำเมืองนครศรีธรรมราช ใช้สำหรับประกอบพิธีกรรมสำคัญของพราหมณ์ ปัจจุบันโบสถ์พราหมณ์ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๓ หน้า ๑๕๓๐ วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๔๗๙ และสำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช ได้ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๓
  ลักษณะของหงส์สำริดนี้เป็นประติมากรรมรูปหงส์ยืน บนหัวมีหงอนยาว ปากคล้ายปากเป็ด มีลวดลายคล้ายเครื่องประดับอยู่บริเวณรอบคอ บนหลังทำช่องสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่คล้ายเป็นที่บรรจุหรือรองรับวัตถุบางอย่าง กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ – ๒๓ การพบประติมากรรมรูปหงส์ร่วมกับเทวรูปองค์สำคัญในเทวสถานศาสนาพราหมณ์-ฮินดู อาจมีความเป็นไปได้ว่าในอดีตมีการใช้หงส์สำริดเป็นส่วนหนึ่งของการประกอบพิธีกรรม
  “ตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช” ซึ่งตีพิมพ์เป็นเล่มเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๓ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์คำนำว่าได้รับมาจากเมืองนครศรีธรรมราชนานแล้ว แต่ยังมิได้ตรวจทำคำอธิบาย ภายในเล่มกล่าวถึงการจัดพิธีตรีพวาย-ตรียัมปวายเพื่อบูชาเทวรูปที่เมืองนครในเดือนอ้าย ประกอบด้วย ‘พระนารายณ์เทวรูป พระศรีลักษณมี พระมเหวารีย์ บรมหงษ์ และชิงช้าทองแดง’ อีกทั้งมีข้อความที่กล่าวถึงการแขวน ‘บรมหงษ์’ ไว้กับเสาชิงช้า และ ‘พราหมณ์สี่ตนทำบูชาอ่านหนังสือสถิตย์บรมหงษ์’ สอดคล้องการทำพิธีช้าหงส์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการพระราชพิธีตรียัมพวาย-ตรีปวายของราชสำนักไทยสมัยรัตนโกสินทร์ อันเป็นพระราชพิธีที่มีขึ้นในเดือนยี่ ดังปรากฏในพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เรื่อง “พระราชพิธีสิบสองเดือน” 
  พิธีช้าหงส์ หรือกล่อมหงส์ เป็นพิธีการส่งเสด็จเทพกลับสู่สวรรค์ก่อนเสร็จสิ้นพระราชพิธีตรีพวาย-ตรียัมปวาย ประกอบด้วยการส่งเสด็จพระอิศวร พระอุมา พระคเณศ พระพรหม และพระนารายณ์ โดยพระมหาราชครูจะอัญเชิญเทวรูปขึ้นบุษบกหงส์ซึ่งแขวนไว้กับเสาคู่คล้ายเสาชิงข้าขนาดย่อม แล้วอ่านเวทบูชาหงส์พร้อมกับพราหมณ์อีก ๒ คน พราหมณ์อีก ๑ คนไกวเปลหงส์เป็นจังหวะสอดคล้องกับการอ่านเวทบูชา หลังจากนั้นจึงอ่านเวทปิดประตูเทวสถานเป็นอันเสร็จพิธีส่งเสด็จ พระราชพิธีตรีพวาย-ตรียัมปวายเป็นพิธีต่อเนื่องที่กระทำเป็นเวลา ๑๕ วัน เนื่องจากมีพิธีกรรมหลายขั้นตอน ยกตัวอย่างเช่น พิธีแห่นางดาน พิธีโล้ชิงช้า พิธีช้าหงส์ ฯลฯ นับว่าเป็นพระราชพิธีโบราณที่ปฏิบัติสืบเนื่องมาอย่างยาวนาน ส่วนในจังหวัดนครศรีธรรมราชซึ่งมีชุมชนพราหมณ์มาแต่เดิมก็ได้นำพิธีโล้ชิงช้ามาถือปฏิบัติด้วย โดยเรียกว่า พิธีแห่นางดาน เพื่อมิให้พ้องกับประเพณีราชสำนัก
  นอกจากจะปรากฏบนประติมากรรมดังกล่าวแล้ว หงส์ยังปรากฏในงานศิลปกรรมที่พบในประเทศไทยหลายรูปแบบ ยกตัวอย่างเช่น หงส์บนเสาตุงในศิลปะล้านนาสื่อถึงการนำพาดวงวิญญาณผู้ล่วงลับไปสู่สวรรค์โดยการเกาะตุงหรือธงที่ห้อยลงมาจากหงส์  หงส์ที่ปรากฏร่วมกับสัตว์หิมพานต์ต่างๆ บนลายรดน้ำหรือลายทองในศิลปะอยุธยาและงานจิตรกรรมในศิลปะรัตนโกสินทร์ มักเป็นหงส์ที่แตกต่างจากหงส์ตามธรรมชาติ มีการตกแต่งลวดลายบนตัวด้วยลายไทย แสดงถึงสถานะพิเศษของหงส์ที่มีความสง่างาม สูงส่ง และเป็นมงคล สอดคล้องกับการนำลักษณะของหงส์มาสร้างเป็นเรือพระที่นั่งในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เหมาะสมกับสถานะของพระมหากษัตริย์ซึ่งทรงเป็นสมมุติเทพ โดยรากความเชื่อนี้อาจมาจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดูที่เชื่อว่าหงส์เป็นเทพพาหนะของพระพรหม และเป็นสัตว์ที่สามารถแยกน้ำนมหรือน้ำโสมออกจากน้ำได้ คือแยกสิ่งที่ดีออกจากสิ่งแปลกปนได้ 
  ดังนั้นจึงมิใช่เรื่องแปลกที่ในประเทศไทยจะพบงานศิลปกรรมรูปหงส์เป็นจำนวนมากทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งต่างก็มีมีบทบาทในด้านความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรม ทั้งศาสนาพุทธและพราหมณ์-ฮินดู เป็นการแสดงออกในเชิงช่างที่จะแสดงความเชื่อนามธรรมให้เห็นเป็นรูปธรรม และช่วยให้พิธีกรรมลุล่วงไปได้ด้วยดี หากมีโอกาสได้ออกไปท่องเที่ยวในสถานที่ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเมื่อไร ขอให้ลองสังเกตสิ่งแวดล้อมรอบตัวดูซักนิด เพื่อนๆ อาจจะพบหงส์อยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งก็เป็นได้
--------------------------------------------------
อ้างอิง
๑. กรมศิลปากร. ย้อนรอยพิธีโล้ชิงช้าในสยาม. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ : บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), ๒๕๖๓. 
๒. อรุณศักดิ์ กิ่งมณี. ตรีมูรติอภิมหาเทพของฮินดู. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 25๖๒.
๓. ตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ อำมาตย์เอก พระยารัษฎานุประดิษฐ์ (สินธุ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา). โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, ๒๔๗๓.
๔. กัญญรัตน์ เวชชศาสตร์. การศึกษาเรื่องหงส์จากศิลปกรรมในประเทศไทย. เข้าถึงเมื่อ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๕, จาก https://www.thaiscience.info/Journals/Article/NRCT/10440239.pdf
๕. จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชพิธีสิบสองเดือน. เข้าถึงเมื่อ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๕, จาก https://vajirayana.org/
๖. ปรีชา นุ่นสุข. ตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช ภาพของศาสนาพราหมณ์ในนครศรีธรรมราช พุทธศตวรรษที่ 19-23. เข้าถึงเมื่อ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๕, จาก http://dspace.nstru.ac.th:8080/dspace/handle/123456789/289
 
---------------------------------------------------
 
ค้นคว้า/เรียบเรียง/กราฟิก : นางสาวชุติณัฐ ช่วยชีพ ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช
---------------------------------------------------
 
*เผยแพร่ข้อมูลทางเว็บไซต์ โดยกลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร
 

(จำนวนผู้เข้าชม 1071 ครั้ง)

Messenger