ภาพสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์ เพชรเม็ดงามแห่งกู่พระโกนา จังหวัดร้อยเอ็ด









          “กู่พระโกนา” โบราณสถานสำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดร้อยเอ็ด ตั้งอยู่ภายในวัดกู่พระโกนา ตำบลสระคู อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นปราสาทในวัฒนธรรมขอมโบราณประกอบด้วยปราสาท ๓ องค์ เรียงกันในแนวเหนือ – ใต้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เฉพาะปราสาทประธานองค์กลางที่ปรากฏร่องรอยของมุขยื่นออกมาทางด้านหน้า มีบรรณาลัยหรือที่เก็บคัมภีร์สร้างด้วยศิลาแลงตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทประธาน ๑ หลัง ทั้งหมดล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วสร้างด้วยศิลาแลง มีโคปุระหรือซุ้มประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก 
          กู่พระโกนามีภาพสลักประดับตามส่วนต่าง ๆ ของปราสาทงดงามน่าชม เช่น ลายบัวแปดกลีบที่อกเลาประตูหลอก ลายก้านขด / ลายก้านต่อดอกที่เสาซุ้มประตูปราสาท เป็นต้น ถึงแม้โบราณสถานแห่งนี้จะพังทลายตามกาลเวลาและมีการซ่อมแซมในสมัยหลัง แต่ยังมีภาพสลักเล่าเรื่องที่งดงามปรากฏอยู่ ได้แก่ “ภาพสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์” หรือวิษณุอนัตศายินปัทมนาภะ ซึ่งเป็นเรื่องราวการบรรทมของพระวิษณุเหนือพญาอนันตนาคราชเพื่อสร้างโลก ณ เกษียรสมุทรหรือทะเลน้ำนมอันเป็นที่ประทับของพระองค์ โดยตามความเชื่อของฮินดูกล่าวว่า เมื่อโลกถึงกลียุคพระศิวะจะทำลายล้างโลก จากนั้นพระวิษณุ (พระนารายณ์) จะสร้างโลกใหม่โดยกระทำโยคะนิทราจนบังเกิดเป็นดอกบัวทองผุดจากพระนาภี (สะดือ) ภายในดอกบัวมีพระพรหมประทับอยู่และจะทำหน้าที่สร้างโลกต่อไป
           ภาพสลักพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่กู่พระโกนาพบบนทับหลังด้านทิศตะวันออกของปราสาทองค์เหนือ ซึ่งปัจจุบันปราสาทดังกล่าวมีการสร้างอาคารครอบไว้ ทับหลังของปราสาทองค์นี้มีความพิเศษพบได้น้อยมากในดินแดนไทย กล่าวคือ เป็นทับหลังซ้อนกัน ๒ ชิ้น สลักแยกกัน ชิ้นที่ ๑ อยู่ด้านล่างมีขนาดใหญ่ สลักภาพบุคคลที่กึ่งกลางทับหลังซึ่งลบเลือนไปแล้วแต่ยังปรากฏท่อนพวงมาลัย / พวงอุบะ และลายพรรณพฤกษา ชิ้นที่ ๒ อยู่ด้านบนมีขนาดเล็กกว่าสลักภาพนารายณ์บรรทมสินธุ์ โดยลักษณะทับหลังที่มี ๒ ชิ้น ซ้อนกันแบบนี้นิยมในพุทธศตวรรษที่ ๑๕ แต่พบว่าทับหลังปราสาทบางองค์ในพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ก็ยังคงปรากฏอยู่ ดังเช่นปราสาทองค์เหนือที่กู่พระโกณาแห่งนี้ 
         ทับหลังชิ้นที่ ๒ ปราสาทองค์เหนือดังกล่าว สลักภาพพระวิษณุ (พระนารายณ์) ๒ กร พระกรซ้ายถือดอกบัว พระกรขวาหนุนพระเศียรขณะบรรทมตะแคงขวาเหนือพญาอนันตนาคราช ๕ เศียร (ช่างสลักให้เห็นเพียง ๓ เศียร อีก ๒ เศียรถูกบังไว้) ที่พระนาภี (สะดือ) มีก้านดอกบัวผุดออกมาและมีพระพรหมประทับอยู่บนนั้น แต่น่าเสียดายที่ภาพสลักส่วนนี้ชำรุด บริเวณปลายพระบาทของพระวิษณุมีพระลักษมีชายาของพระองค์ประทับอยู่ นอกจากนี้ที่ด้านปลายทั้ง ๒ ข้าง สลักรูปหงส์ข้างละ ๒ ตัวอีกด้วย จากลักษณะของนาคเศียรโล้นและรูปแบบการแต่งกายของพระวิษณุ รวมถึงรูปแบบของทับหลังชิ้นที่ ๑ กำหนดอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ศิลปะแบบบาปวน ร่วมสมัยกับปราสาทสระกำแพงใหญ่ จ.ศรีสะเกษ ปราสาทสด๊กก็อกธม จ.สระแก้ว ปราสาทบ้านพลวง จังหวัดสุรินทร์ และปราสาทเมืองต่ำ จังหวัดบุรีรัมย์
          พระนารายณ์บรรทมสินธุ์ ณ ปราสาทกู่พระโกนานี้ นับเป็นทับหลังและภาพสลักที่มีอยู่เพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทย อีกทั้งพบเพียงแห่งเดียวในจังหวัดร้อยเอ็ด มีความสมบูรณ์งดงามด้วยรูปแบบศิลปะ และยังคงอยู่ในตำแหน่งเดิมเมื่อครั้งแรกสร้าง มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีอย่างยิ่ง ทั้งนี้กรมศิลปากรเล็งเห็นถึงความสำคัญ ได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานกู่พระโกนาในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘ และประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานเมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๒๕ เนื้อที่ประมาณ ๘ ไร่ ๒ งาน ๑๖ ตารางวา เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติสืบไป

-------------------------------------------------------
ผู้เรียบเรียง: นายกฤษณพงศ์ พูนสวัสดิ์ นักโบราณคดีปฏิบัติการ สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี
-------------------------------------------------------

เอกสารอ้างอิง: 
กษมา เกาไศยานนท์. “รูปเคารพพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ในประเทศไทย.” เอกสารการศึกษาเฉพาะบุคคลปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๒๘.
สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๘ อุบลราชธานี. เอกสารประกอบการประชุมคณะกรรมการปรับปรุงพัฒนาพื้นที่โบราณสถานวัดกู่พระโกนา. อุบลราชธานี: สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๘ อุบลราชธานี, ๒๕๔๕. (เอกสารอัดสำเนา)
อรุณศักดิ์ กิ่งมณี. ทิพยนิยายจากปราสาทหิน. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๕๕.

-------------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล: สำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี
https://www.facebook.com/835594323191791/posts/pfbid0eWSusfL7zKKPXf4dBPAgcXKjDR3zk6nwNSnNm38Gz1zKvY9KdSCqXAFQJiYEdVFjl/?d=n
-------------------------------------------------------
 
*เผยแพร่ข้อมูลทางเว็บไซต์ โดยกลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร

(จำนวนผู้เข้าชม 4327 ครั้ง)

Messenger