ปูนในงานศิลปกรรมเมืองกำแพงเพชร
ปูน ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในงานสถาปัตยกรรมโบราณที่นำมาใช้ในหลายวัตถุประสงค์ของกระบวนการก่อสร้าง เช่น ใช้เป็นวัสดุเชื่อมประสาน (binder) ในการก่อหรือสอให้วัสดุ เช่น อิฐ ศิลาแลง เชื่อมติดกัน เพื่อเป็นสิ่งก่อสร้าง เช่น ผนัง กำแพง ช่วยให้มีความมั่นคงของโครงสร้างมากขึ้น หรือเพื่อเป็นวัสดุที่ใช้สำหรับการฉาบวัสดุอื่น เพื่อให้ผิวชั้นนอกเกิดความเรียบ หรือใช้สำหรับเป็นวัสดุสรรค์สร้างเป็นลวดลายต่าง ๆ ประดับตกแต่งอาคาร
คำว่า “ปูน” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพุทธศักราช ๒๕๕๔ หมายถึง หินปูน หรือเปลือกหอยเมื่อถูกเผาจนสลายตัว ตัวอย่างคำที่เกี่ยวข้อง เช่น ปูนดิบ หมายถึง ปูนที่ได้จากการเผาหินปูนหรือเปลือกหอยจนสลายตัว ปูนสุก หมายถึง ปูนดิบที่ถูกความชื้นในอากาศหรือพรมน้ำแล้วแตกละเอียดเป็นผงขาว ปูนขาว หมายถึง ปูนสุก ใช้ผสมกับปูนซีเมนต์ ทราย และน้ำ สำหรับฉาบทาฝาผนัง ปูนปั้น ใช้เรียกลวดลายประดับตามอาคารหรือสิ่งก่อสร้างที่ทำจากปูน เป็นต้น
ปูนที่ใช้ในสมัยโบราณส่วนใหญ่ทำมาจากปูนขาว เรียกว่า ปูนหมัก และปูนตำ ประกอบด้วย หินปูน เปลือกหอย กระดูก และมีส่วนผสมพิเศษเพื่อให้เกิดความเหนียว ทำหน้าที่เป็นกาวยึดเหนี่ยวเนื้อวัสดุ เช่น ยางไม้ ไขมันที่ได้จากพืชและสัตว์
ปูนขาว (lime) เป็นปูนที่เกิดจากการนำเปลือกหอย หรือหินปูน มาย่อยเป็นก้อนขนาดเล็ก แล้วนำไปเผา เมื่อเผาสุกแล้ว จะได้ “ปูนดิบ” เมื่อทำให้ปูนดิบเปียกน้ำจะเกิดปฏิกิริยาทางเคมี ทำให้แตกเป็นผงสีขาว เรียกว่า “ปูนสุก” นำไปบด ร่อน กรอง เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป ปูนขาวส่วนใหญ่นำไปใช้ในการก่อสร้างอาคาร และสร้างลวดลายประดับตกแต่งอาคาร
- ปูนหมัก คือการนำปูนขาวไปแช่น้ำในบ่อหรือถังหมักมีลักษณะเป็นของเหลวข้นสีขาว ภายในถังหมักปูนจะประกอบด้วยเนื้อปูนขาวตกตะกอนอยู่ด้านล่าง และมีน้ำปูนหล่อไว้อยู่ด้านบน โดยปูนหมักสามารถนำไปใช้เป็นปูนสอ ปูนฉาบ หรือนำไปเป็นส่วนผสมหลักเพื่อใช้ประโยชน์ในงานสถาปัตยกรรมต่อไป ส่วนน้ำปูนสามารถนำไปเติมในส่วนผสมปูนแทนน้ำ หรือพ่นใส่ผนังปูนฉาบเพื่อเสริมความแข็งแรง
- ปูนตำ คือปูนที่เกิดจากการนำปูนหมักมาตำหรือโขลกผสมกับทราย กาว (ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่น) และเส้นใย (ช่วยเพิ่มความสามารถในการรับแรงดึงก่อนปูนจะแข็งตัว) เป็นส่วนผสมหลัก การตำรวมกันจนเนื้อละเอียดเข้ากัน สีขาวนวล มีความหนืดที่เหมาะสมเพื่อนำไปใช้เป็นปูนสอ ปูนฉาบ หรือปูนปั้น เมื่อเนื้อปูนสัมผัสอากาศจะเกิดปฏิกิริยา ทำให้แข็งตัว
ทั้งนี้ กระบวนการขั้นตอนการผลิตปูนตำและปูนหมัก รวมถึงส่วนผสมปูนจะมีความแตกต่างกันตามช่างปูนในแต่ละท้องถิ่นที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมา เพื่อตอบสนองการใช้งานที่หลากหลาย ตัวอย่างการใช้ประโยชน์ มีดังนี้
- ปูนสอ หรือปูนก่อ เป็นปูนที่ใช้ในการก่ออิฐโครงสร้าง ประสานอิฐเข้าด้วยกัน
- ปูนฉาบ หรือปูนตกแต่ง เป็นปูนที่ใช้ตกแต่งอาคารให้เรียบร้อยสวยงาม ด้วยการฉาบพื้นผิวให้เรียบ หรือใช้ตกแต่งเป็นลวดบัว ขอบคิ้ว
- ปูนปั้น เป็นปูนที่ใช้สำหรับการปั้น ต้องมีคุณสมบัติสำคัญคือ มีความเหนียวเหมาะสำหรับการปั้นเป็นลวดลาย หรือรูปทรงต่าง ๆ ให้ได้รายละเอียดที่ชัดเจน
จากร่องรอยที่ปรากฏในเมืองกำแพงเพชรสันนิษฐานว่ามีการฉาบปูนโดยรอบอาคาร และเจดีย์ที่ก่อด้วยอิฐหรือศิลาแลง รวมถึงนำปูนมาปั้นประดับตกแต่งสถาปัตยกรรมเป็นลวดลาย หรือภาพเล่าเรื่อง และปั้นประติมากรรมรูปทรงต่างๆครอบทับโกลนศิลาแลงด้วย โดยตัวอย่างการนำปูนมาใช้ในงานศิลปกรรม อาทิ
- ร่องรอยปูนฉาบ หรือตกแต่งบริเวณมณฑปวัดพระสี่อิริยาบถ วิหารวัดพระนอน และบัวปากระฆังของเจดีย์ประธานวัดพระธาตุ
- พระพุทธรูปในมณฑปประธานวัดพระสี่อิริยาบถ ประติมากรรมลอยตัวรูปสิงห์ที่วัดสิงห์ และวัดอาวาสใหญ่ ประติกรรมเกือบลอยตัวรูปช้างที่ฐานเจดีย์ประธานวัดช้างรอบ และรูปสิงห์ที่ฐานเจดีย์ประธานวัดพระแก้ว
- ปูนปั้นภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติบริเวณฐานหน้ากระดานกลมเหนือฐานแปดเหลี่ยมและลวดลายตกแต่งรูปต้นไม้ระหว่างประติมากรรมรูปช้างของฐานเจดีย์ประธานวัดช้างรอบ และภาพลวดลายตกแต่งต่างๆบริเวณวิหารวัดพระแก้ว
________________________________________________
________________________________________________
เอกสารอ้างอิง
พิจิตร นิ่มงาม. การปั้นปูนตำ. กรุงเทพฯ: สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม, ๒๕๕๐.
นพวัฒน์ สมพื้น. ลายปูนปั้น งานช่างประณีตศิลป์ของไทย. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๔๐.
นวลลักษณ์ วัสสันตชาติ. (๒๕๖๑). “ปูนในโบราณสถานของนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาแหล่งมรดกโลก.” หน้าจั่ว ๓๓ (มกราคม-ธันวาคม): ๔๓-๙๒.
สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพุทธศักราช ๒๕๕๔. กรุงเทพฯ: สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, ๒๕๕๔.
--------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร https://www.facebook.com/kpppark2534/posts/pfbid0RBDKDHNBSVZhb7SahmKHUHDh1GXjuk4VPLHkgHogsxLJPRPbpD6EMMaszaYSJPutl
--------------------------------------------------
--------------------------------------------------
*เผยแพร่ข้อมูลทางเว็บไซต์ โดยกลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร
(จำนวนผู้เข้าชม 6297 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน