วัดพระฝาง : มหาธาตุแห่งเมืองสวางคบุรี
วัดพระฝาง เป็นวัดสำคัญของเมืองสวางคบุรีที่เชื่อว่าเป็นที่ประดิษฐานพระรากขวัญ (กระดูกไหปลาร้า) ของพระพุทธเจ้า โดยถือเป็นพระธาตุกลางเมืองฝางหรือเมืองสวางคบุรีซึ่งสร้างตามคติโบราณที่นิยมสร้างพระธาตุเป็นศูนย์กลางของเมือง ทำให้วัดแห่งนี้เป็นที่เคารพศรัทธามาตั้งแต่อดีตกาล ทั้งจากผู้คนในหัวเมืองฝ่ายเหนือ ผู้คนในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงชาวมอญจากพม่าและชาวลาว
จากการขุดค้นทางโบราณคดีพบว่าบริเวณวัดพระฝางมีผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์และอยู่อาศัยต่อเนื่องมาจนถึงสมัยสุโขทัย โดยปรากฏชื่อในหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากมายในฐานะที่เป็นพระธาตุสำคัญประจำเมืองฝาง เช่น ในศิลาจารึกหลักที่ ๒ จารึกวัดศรีชุมที่กล่าวว่าพระมหาเถรศรีศรัทธาได้เดินทางมากราบไหว้พระธาตุเมืองฝางก่อนจะเดินทางต่อไปอ่าวเมาะตะมะเพื่อลงเรือไปยังลังกา
ความศรัทธาในพระธาตุวัดพระฝางยังคงได้รับการสืบทอดมาอย่างต่อเนื่อง ดังพบว่า
พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ได้เสด็จฯ มาสักการะพระธาตุที่วัดพระฝางแห่งนี้โดยถือเป็นวัดสำคัญเช่นเดียวกับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองพิษณุโลก อาทิ พ.ศ. ๒๒๘๐ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จฯ มาสมโภชพระธาตุ พ.ศ. ๒๓๑๓ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดฯ ให้จัดการสมโภชพระธาตุแห่งนี้อีกครั้งภายหลังจากการปราบปรามชุมนุมเจ้าพระฝางซึ่งใช้วัดพระฝางเป็นศูนย์กลางในการซ่องสุมกำลังพลหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ และพระราชศรัทธานี้ยังคงสืบเนื่องต่อมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ดังที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) โปรดฯ ให้มีการบูรณะพระธาตุนี้ใหม่ใน พ.ศ. ๒๔๑๐ การเสด็จฯ มาสักการะของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๔ ซึ่งในการนี้โปรดฯ ให้อัญเชิญ พระฝาง พระประธานในอุโบสถไปประดิษฐาน ณ วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพมหานคร จวบจนปัจจุบัน
กล่าวได้ว่าวัดพระฝางเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองและเป็นหลักฐานสำคัญที่บ่งบอกถึงการมีอยู่ของเมืองสวางคบุรีโดยได้รับการบูรณะมาโดยตลอดจึงยังสามารถตั้งตระหง่านผ่านกาลเวลา เป็นที่นับถือของผู้คนทั้งในจังหวัดอุตรดิตถ์และในประเทศไทยตราบจนทุกวันนี้
------------------------------------------------
พระธาตุภายในวัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ
(ที่มา : https://www.hoteluttaradit.com/2017/07/wat-phra-fang-sawangkamuninat.html)
พระฝาง ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ ณ วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพมหานคร
(ที่มา : https://www.silpa-mag.com/culture/article_8965)
------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก
------------------------------------------------
*เผยแพร่ข้อมูลทางเว็บไซต์ โดยกลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร
(จำนวนผู้เข้าชม 4754 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน