สุทธาสวรรย์พรรณเพริศแพร้ว
พระมนเทียรถ้าเทิด แถวถงัน
ขวาสุทธาสวรรย์พรรณ เพริศแพร้ว
ซ้ายจันทรพิศาลวรรณ เวจมาศ
พรายแพร่งสุริยแล้ว ส่องสู้แสงจันทร์
โครงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์มหาราช, หลวงศรีมโหสถ
....................................................................................
พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ เป็นหนึ่งในพระที่นั่งองค์สำคัญภายในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นใน อันเป็นที่ประทับส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์และข้าราชบริพารฝ่ายใน สร้างขึ้นในคราวเดียวกับการสร้างพระราชวังเมืองละโว้ ราว พ.ศ.2209 ปรากฏหลักฐานที่กล่าวถึงการสร้างรวมถึงการพระราชทานนามของพระที่นั่งองค์นี้ในพงศาวดารความว่า
“...จึงสมเด็จบรมบาทพระนารายณ์ราชบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ก็มีพระราชดำรัสสั่งช่างพนักงานจับการก่อพระมหาปราสาทสองพระองค์ ครั้นเสด็จแล้วก็พระราชทานนามบัญญัติชื่อพระที่นั่งสุทธาสวรรย์องค์หนึ่ง พระที่นั่งธัญญมหาปราสาทองค์หนึ่ง...”
ซึ่งสอดคล้องกับโครงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ประพันธ์โดยหลวงศรีมโหสถ กวีร่วมสมัยรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่กล่าวถึงพระที่นั่งต่าง ๆ ภายในพระราชวังเมืองละโว้ โดยได้พรรณนาถึงพระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาทที่ขนาบข้างซ้ายขวาด้วยพระที่นั่งจันทรพิศาล และพระที่นั่งสุทธาสวรรย์
ชื่อ “พระที่นั่งสุทธาสวรรย์” จึงเป็นชื่อเดิมของพระที่นั่งองค์นี้ที่ได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมาตั้งแต่ครั้งแรกสร้าง
ข้อมูลจากหลักฐานทั้งพงศาวดารและบันทึกของชาวต่างชาติต่างระบุไว้ในทำนองเดียวกันคือ พระองค์ทรงโปรดที่จะประทับ ณ เมืองลพบุรี มากกว่าที่พระนครศรีอยุธยา
ข้อมูลจากหลักฐานทั้งพงศาวดารและบันทึกของชาวต่างชาติต่างระบุไว้ในทำนองเดียวกันคือ พระองค์ทรงโปรดที่จะประทับ ณ เมืองลพบุรี มากกว่าที่พระนครศรีอยุธยา
“...เมืองละโว้เป็นที่ประทับในชนบทของพระนารายณ์มหาราช ตามปกติประทับอยู่ที่เมืองนั้นเป็นนิตย์ เสด็จไปพระนครศรีอยุธยา ซึ่งอยู่ห่างกันประมาณเจ็ดร้อยเส้นนานๆ ครั้งหนึ่งและเมื่อมีงานพระราชพิธี...” – จดหมายเหตุฟอร์บัง (เชวาลอเอร์ เดอะ ฟอร์บัง)
“...พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้ทรงโปรดปรานเมืองนี้มาก ประทับที่อยู่ที่นั่นเกือบตลอดปี และทรงเอาพระทัยใส่สร้างให้สวยงามเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และทรงตั้งพระทัยจะขยายอาณาบริเวณออกไปอีก...” – นิโกลาส์ แชร์แวส
“...และพระองค์เสด็จอยู่ ณ เมืองลพบุรีในเหมันตฤดู และคิมหันตฤดู และเสด็จลงมาอยู่ ณ กรุงเทพมหานครแต่เทศกาลวสันตฤดู...” “...ขณะนั้นสมเด็จบรมบพิตรพระนารายณ์เป็นเจ้า ทรงพระนามปรากฏว่า #สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมืองลพบุรี เหตุว่าพระองค์เสด็จขึ้นไปเสวยราชสมบัติเมืองลพบุรี...” - พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา
จึงอาจกล่าวได้ว่านอกจากพระที่นั่งสุทธาสวรรย์จะเป็นพระที่นั่งที่สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแล้ว ยังเป็นพระที่นั่งที่พระองค์เสด็จมาประทับมากที่สุดตลอดรัชกาลของพระองค์
สำหรับเขตพระราชฐานชั้นในแบ่งพื้นที่การใช้งานออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือบริเวณพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ที่ประทับของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อนุญาตให้เฉพาะเหล่ามหาดเล็กในพระองค์ กับขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยเข้าเฝ้าเท่านั้น และส่วนที่สองเป็นที่อยู่ของเหล่าสนมกำนัล โดยมีที่พักอาศัยงดงามเป็นตึกแถว ยาวขนานไปกับพระตำหนักที่ประทับของพระองค์ การเข้า-ออกบริเวณนี้ทำได้ยากมาก แม้กระทั่งพระราชโอรสก็ไม่อนุญาตให้เข้ามีแต่พวกขันทีเท่านั้น ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปถวายการปรนนิบัติได้
ในช่วงปลายรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระองค์ประชวรอย่างหนักจนมิอาจว่าราชการได้ จึงโปรดให้พระเพทราชาออกว่าราชการแทนพระองค์ ขณะที่ทรงพระประชวรได้ประทับ ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ก่อนการสวรรคตของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้น คือเหตุการณ์การรัฐประหารของพระเพทราชาและหลวงสรศักดิ์ หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้น ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ คือการจับกุมตัวพระปีย์ผู้เปรียบเสมือนพระโอรสบุญธรรม และเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยปรากฏข้อความในพงศาวดารเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวความว่า
“...พระปีย์กอปรด้วยสวามิภักดิ์นอนอยู่ปลายฝ่าพระบาท คอยปฏิบัติพยุงพระองค์ลุกนั่งอยู่ ครั้นรุ่งเพลาเช้าพระปีย์ลุกออกมาบ้วนปากล้างหน้า ณ ประตูกำแพงแก้ว จึงหลวงสรศักดิ์ผู้สำเร็จราชการ ณ ที่มหาอุปราช สั่งให้ขุนพิพิธรักษาชาวที่ผลักพระปีย์ตกลงไปจากประตูกำแพงแก้ว และพระปีย์ร้องขึ้นได้คำว่า ทูลกระหม่อมแก้วช่วยด้วย พอขาดคำลงคนทั้งหลายก็กุมเอาตัวพระปีย์ไปประหารชีวิตตายในขณะนั้น...”
หลังจากการจับกุมตัวพระปีย์ไปสำเร็จโทษ อาการประชวรของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็รุนแรงขึ้นจนเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2231 ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ พระราชวังเมืองละโว้ก็ถูกทิ้งร้างให้โรยราไปตามกาลเวลาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
………………………..........................................................
อ้างอิง
กรมศิลปากร. หนังสือนำชมพระนารายณ์ราชนิเวศน์. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : บริษัท นะรุจ จำกัด, 2560.
____________. ประชุมพงศาวดาร เล่มที่ 50 ภาค 80 จดหมายเหตุฟอร์บัง. กรุงเทพฯ : องค์การค้าคุรุสภา, 2527.
____________. พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : คลังวิทยา, 2516.
นิโกลาส์ แชร์แวส. ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม : ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช. สันต์ ท. โกมลบุตร แปล. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ก้าวหน้า, 2506.
หลวงศรีมโหสถ. โครงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์มหาราช. กรุงเทพฯ : โสภณพิพรรฒธนาการ, 2478.
...............................................................................
เรียบเรียงข้อมูลโดย นางสาววสุนธรา ยืนยง นักวิชาการวัฒนธรรม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์
---------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล :
(จำนวนผู้เข้าชม 1811 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน