ไทยเป็นเจ้าภาพประชุมใหญ่สามัญของสภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (ICOMOS) และการประชุมวิชาการนานาชาติประจำปี ๒๐๒๒

  นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมใหญ่สามัญของสภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (ICOMOS) และการประชุมวิชาการนานาชาติ ประจำปี ๒๐๒๒ ณ ห้องประชุม หอวชิราวุธานุสรณ์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๕ 
          อิโคโมส คือองค์กรของผู้ประกอบวิชาชีพทางด้านการอนุรักษ์แหล่งมรดกวัฒนธรรม ทำหน้าที่เป็นองค์กรที่ปรึกษาของยูเนสโกและคณะกรรมการมรดกโลก ซึ่งประเทศไทย โดยกรมศิลปากร ได้สมัครเป็นสมาชิกองค์กรอิโคโมสมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๘ ถือเป็นจุดกำเนิดของอิโคโมสไทย และครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมใหญ่สามัญของสภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (ICOMOS) และจัดการประชุมวิชาการนานาชาติ ประจำปี ๒๐๒๒ (2022 ICOMOS Advisory Committee, Scientific Symposium and Annual General Assembly) ระหว่างวันที่ ๒๕ – ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๕ เพื่อให้นักวิชาการผู้ที่มีภารกิจและความเชี่ยวชาญทางด้านการอนุรักษ์และจัดการแหล่งมรดกวัฒนธรรม สมาชิกขององค์กรอิโคโมส ได้พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรับทราบความคืบหน้าของกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ประเทศไทยได้นำแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมที่เสนอขึ้นบัญชีมรดกโลกในปี ๒๕๖๖ ได้แก่ เมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ และอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี มาแสดงให้อิโคโมส ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของยูเนสโกได้เห็นความคืบหน้าการดำเนินการ รวมทั้งแผนงานอนุรักษ์และพัฒนาที่ประเทศไทยได้ทำควบคู่กันไป โดยการประชุมสมาชิกอิโคโมส กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๖ – ๒๘ ตุลาคม ๒๕๖๕ และจะมีการลงพื้นที่ชมมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของประเทศไทยด้วย
 

          สำหรับการประชุมวิชาการนานาชาติประจำปี ๒๐๒๒ กำหนดจัดขึ้นในวันที่ ๒๙ – ๓๐ ตุลาคม ๒๕๖๕ เปิดให้บุคคลทั่วไปที่มีความสนใจในเรื่องของการอนุรักษ์แหล่งมรดกวัฒนธรรมเข้ารับฟังและร่วมแสดงความคิดเห็นได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งในปีนี้เป็นการเสนอในหัวข้อ มรดกศาสนสถาน (Religious Heritage) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเทคนิคการอนุรักษ์และการจัดการมรดกวัฒนธรรม โดยนำเสนอผลงานวิชาการของสมาชิกอิโคโมสที่ผ่านการคัดเลือก ๕๗ เรื่อง จาก ๓๒ ประเทศทั่วโลก แบ่งออกเป็นหัวข้อย่อย ๕ เรื่อง ประกอบด้วย ๑. คุณค่าความสำคัญของศาสนสถานและสถานที่ประกอบพิธีกรรม ๒. อิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่มีต่อการอนุรักษ์ การปกป้อง การจัดการมรดกศาสนสถาน ๓. การเปลี่ยนแปลงการใช้สอยและการรับรู้ของศาสนสถานและสถานที่ประกอบพิธีกรรมในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ๔. กิจกรรมจาริกแสวงบุญในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 และ ๕. การนำมรดกศาสนสถานกลับมาใช้ใหม่ ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://icomosthai.org


(จำนวนผู้เข้าชม 726 ครั้ง)

Messenger