ถ้ำหมอเขียว แหล่งโบราณคดีที่พบโครงกระดูกมนุษย์โฮโมเปียนส์ที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ถ้ำหมอเขียว ตั้งอยู่ที่ตำบลกระบี่น้อย อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ เป็นเพิงผาบนเทือกเขาหินปูน อยู่ห่างจากชายทะเลประมาณ 8 กิโลเมตร ลักษณะเป็นเพิงผาที่มีความยาวประมาณ 30 เมตร โดยมีคูหาขนาดกว้างประมาณ 3 เมตร 2 คูหา ขนาบข้างในด้านทิศตะวันออกและตะวันตก
มีเรื่องเล่าของคนในพื้นที่ว่าเดิมมีหมอสมุนไพรชื่อ “เขียว” อาศัยอยู่ในบริเวณถ้ำ ชาวบ้านจึงเรียกว่า “ถ้ำหมอเขียว” ต่อมาเมื่อหมอเขียวเสียชีวิตลง ชาวบ้านได้มาขุดหาขี้ค้างคาวไปขาย ทำให้พบร่องรอยหลักฐานที่ถูกขุดขึ้นมาขณะขุดขี้ค้างคาว
การขุดค้นทางโบราณคดีที่ถ้ำหมอเขียว เริ่มขึ้นโดยอาจารย์สุรินทร์ ภู่ขจร ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี ได้ขุดค้นภายใต้โครงการวิจัยวัฒนธรรมโหบินเนียนในประเทศไทย ดำเนินการขุดค้นในปี พ.ศ. 2534 และ พ.ศ. 2537 หลังจากนั้นใน พ.ศ. 2551 อาจารย์ประสิทธิ์ เอื้อตระกูลวิทย์ ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี ได้ขุดค้นที่ถ้ำหมอเขียวอีกครั้งเพื่อตรวจสอบการใช้พื้นที่เพิ่มเติม
ผลการขุดค้นทั้งสองครั้งโดยสรุป พบโครงกระดูกมนุษย์จำนวน 4 โครง เป็นเด็ก 1 โครง และผู้ใหญ่ 3 โครง รูปแบบการฝังศพมีทั้งการฝังในท่างอเข่า 1 โครง และท่านอนหงายเหยีดยาว 3 โครง ทั้งสี่โครงกำหนดอายุได้ในช่วงประมาณ 25,000-10,000 ปี ตรงกับสมัยหินเก่าตอนปลายถึงช่วงก่อนสมัยหินใหม่ นอกจากนี้ยังพบเครื่องมือหินกะเทาะหน้าเดียว เครื่องมือหินกะเทาะสองหน้า สะเก็ดหิน เครื่องมือกระดูกสัตว์ ชิ้นส่วนกระดูกสัตว์ เปลือกหอย ชิ้นส่วนเมล็ดพืช และร่องรอยการใช้ไฟ เมื่อวิเคราะห์และเปรียบเทียบหลักฐานจากการขุดค้นแล้ว ผู้ขุดค้นสันนิษฐานว่า ถ้ำหมอเขียวเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยมาตั้งแต่ก่อน 25,000 ปีมาแล้วจนถึงราว 3,000 ปีมาแล้ว และใช้พื้นที่อยู่อาศัยร่วมกับการฝังศพในช่วงประมาณ 25,000-10,000 ปีมาแล้ว
โครงกระดูกมนุษย์ที่พบที่ถ้ำหมอเขียวซึ่งกำหนดอายุจากตัวอย่างถ่านที่พบร่วมกับได้อายุประมาณ 25,000 ปีมาแล้ว จัดได้ว่าเป็นโครงกระดูกมนุษย์ โฮโม เซเปียนส์ ที่เก่าที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมกับถ้ำตาบน ประเทศฟิลิปปินส์ และถ้ำนีอาห์ ประเทศอินโดนีเซีย แม้ว่าก่อนหน้านี้จะพบร่องรอยเครื่องมือเครื่องใช้ที่ถ้ำหลังโรงเรียน จังหวัดกระบี่ กำหนดอายุได้ถึง 37,000 ปีมาแล้ว แต่ก็ไม่พบโครงกระดูกมนุษย์โดยตรง อันจะเป็นตัวเชื่อมในการทำความเข้าในพัฒนาการทางกายภาพและวัฒนธรรมของมนุษย์สมัยใหม่ได้ชัดเจนขึ้น การศึกษาลักษณะทางกายภาพของรูปกะโหลกยังบ่งชี้ว่ามนุษย์โบราณที่ถ้ำหมอเขียวอาจมีบรรพบุรุษร่วมกับชนพื้นเมืองดั้งเดิมของออสเตรเลีย และชนพื้นเมืองบริเวณหมู่เกาะในทะเลแปซิฟิกอีกด้วย
ส่วนหลักฐานประเภทเครื่องมือหิน กระดูกสัตว์และเปลือกหอย พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบเครื่องมือ และประเภทของกระดูกสัตว์อย่างชัดเจนระหว่างสมัยหินเก่าตอนปลายและสมัยหินใหม่ โดยในสมัยหินเก่าตอนปลายพบกระดูกสัตว์ขนาดใหญ่จำพวก เก้ง/กวาง วัว/ควาย หมี ใช้เครื่องมือหินกะเทาะขนาดใหญ่ และนิยมบริโภคหอยน้ำจืดมาก ส่วนสมัยหินใหม่พบกระดูกสัตว์ขนาดเล็กลง เช่น ลิง ค่าง ชะนี หมูป่า อีเห็น มีการบริโภคหอยน้ำเค็มมากขึ้น และใช้เครื่องมือหินขัดเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจสะท้อนให้เห็นการปรับตัวเมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปในช่วงไพลสโตซีนตอนปลาย ซึ่งเป็นเป็นช่วงน้ำทะเลลดต่ำ ไปเป็นช่วงโฮโลซีนซึ่งอากาศอบอุ่นขึ้น และน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น ถ้ำหมอเขียวจึงอยู่ใกล้ทะเลมากขึ้น และเปลี่ยนสภาพจากพื้นที่ป่าห่างไกลทะเลเป็นพื้นที่ใกล้ชายฝั่งแทน
--------------------------------------------------
แหล่งที่มาข้อมูล
• White, Joyce C. (2011). “Emergence of cultural diversity in mainland Southeast Asia: a view from prehistory.” in Dynamics of Human diversity, 19. Acessed May 20. Available from http://seasiabib.museum.upenn.edu:8001/.../2011_White.pdf
• Forestier, Hubert et al. (2021). “Hoabinhian variability in Mainland Southeast Asia revisited: The lithic assemblage of Moh Khiew Cave, Southwestern Thailand.” Archaeological Research in Asia, 25. Acessed May 20. Available from https://doi.org/10.1016/j.ara.2020.100236
• Matsumura, Hirofumi and Surin Pookajorn. (2005). “A Morphometric analysis of the Late Pleistocene Human Skeleton from the Moh Khiew Cave in Thailand.” Homo-Journal of Comparative Human Biology 56: 93-118.
• ธนิก เลิศชาญฤทธิ์. (2561). “มนุษย์สมัยใหม่รุ่นบุกเบิกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: ซากบรรพชีวินและหลักฐานทางโบราณคดี.” วารสารมานุษยวิทยา 1, 1 (มกราคม-มิถุนายน), 11.
• โครงการวิจัยวัฒนธรรมโหบินเนียนในประเทศไทย. (2534). รายงานเบื้องต้นการขุดค้นที่ถ้ำหมอเขียว จ.กระบี่, ถ้ำซาไก จ.ตรัง และการศึกษาชาติพันธุ์วิทยาทางโบราณคดีชนกลุ่มน้อยเผ่าซาไก จ.ตรัง. กรุงเทพฯ: โครงการฯ.
• อำพล ไวศยดำรง. (2535). “ผลการวิเคราะห์ตัวอย่างหอยที่ได้จากการขุดค้นทีถ้ำหมอเขียว จังหวัดกระบี่ และถ้ำซาไก จังหวัดตรัง ประจำปี พ.ศ. 2534.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.
• พิชญ ปานมี. (2551). “รูปแบบเครื่องมือหิน: การขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีถ้ำหมอเขียว อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ ปี พ.ศ. 2551.” เอกสารการศึกษาเฉพาะบุคคลปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.
------------------------------------------------
เรียบเรียงข้อมูล/กราฟฟิค : สิริยุพน ทับเป็นไทย นักโบราณคดีปฏิบัติการ และ โสมสินี สุขเกษม นักวิชาการวัฒนธรรม สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช
เผยแพร่ข้อมูลทาง https://www.facebook.com/100055227468299/posts/516868276830750/?d=n
(จำนวนผู้เข้าชม 11997 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน