เอกมุขลึงค์จากโบราณสถานคอกช้างดินหมายเลข ๕ เมืองโบราณอู่ทอง
เอกมุขลึงค์พบจากการขุดศึกษาทางโบราณคดีที่โบราณสถานคอกช้างดินหมายเลข ๕ เมืองโบราณ อู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙ จัดแสดงห้องบรรพชนคนอู่ทอง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
เอกมุขลึงค์พร้อมฐานโยนี ขนาดกว้าง ๗๕.๕ เซนติเมตร ยาว ๑๐๐ เซนติเมตร สูง ๓๖ เซนติเมตร เดิมแตกเป็นชิ้นส่วน ปัจจุบันต่อไว้โดยเสริมส่วนที่ชำรุดหายไปด้วย ลักษณะเป็นศิวลึงค์ทรงกระบอกกลมปลายมน มีพระพักตร์ของพระศิวะสลักติดอยู่บริเวณส่วนล่างเกือบติดกับฐานโยนี โดยพระพักตร์มีความสูงประมาณ ๖ เซนติเมตร ทรงชฎามกุฎคือมีเส้นผมที่มุ่นมวยขึ้นไปด้านบนแบบนักบวช ทัดจันทร์เสี้ยวบนมวยผม มีพระเนตรที่สามอยู่กลางพระนลาฏ พระขนงต่อกันเป็นปีกกา พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่ง พระพักตร์ส่วนล่างกะเทาะหักหายไป ส่วนฐานโยนีสลักติดกับศิวลึงค์ ลักษณะเป็นแท่นทรงสี่เหลี่ยมยกขอบข้างสูง กึ่งกลางด้านหนึ่งทำเป็นรางยื่นออกมา รูปแบบของเอกมุขลึงค์องค์นี้แสดงถึงอิทธิพลศิลปะอินเดียแบบคุปตะ กำหนดอายุสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๓ หรือประมาณ ๑,๓๐๐ – ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว
เอกมุขลึงค์เป็นรูปเคารพแทนองค์พระศิวะ หมายถึง ศิวลึงค์ที่มีพระพักตร์ของพระศิวะปรากฏอยู่ ๑ พระพักตร์ โดยปกติจะประดิษฐานบนฐานโยนี ซึ่งเป็นรูปเคารพแทนองค์พระอุมา ชายาของพระองค์ มักประดิษฐานไว้ในเทวาลัยสำหรับทำพิธีกรรมโดยจะมีการบูชาและสรงน้ำลงบนศิวลึงค์ น้ำจะไหลลงมาบนฐานโยนีและไหล่ผ่านรางที่ยื่นออกมาเพื่อเป็นน้ำมนตร์หรือน้ำศักดิ์สิทธิ์ต่อไป พบมาแล้วในประเทศอินเดียและส่งอิทธิพลให้ดินแดนแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยนอกจากเมืองโบราณอู่ทองแล้ว ยังพบที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีด้วย
เอกมุขลึงค์องค์นี้ พบที่โบราณสถานคอกช้างดินหมายเลข ๕ โดยขุดพบบริเวณฐานศิลาแลงทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า จึงสันนิษฐานได้ว่าโบราณสถานแห่งนี้อาจเป็นเทวาลัยสำหรับประกอบพิธีกรรม ทั้งยังเป็นหลักฐานที่แสดงถึงการรับคติความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู เข้ามาจากประเทศอินเดียของผู้คนท้องถิ่นบริเวณเมืองโบราณอู่ทองในสมัยนั้นด้วย
---------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง :
กรมศิลปากร. โบราณคดีคอกช้างดิน. กรุงเทพฯ : ฟันนี่พับบลิชชิ่ง, ๒๕๔๕.
กรมศิลปากร. โบราณคดีเมืองอู่ทอง. สหมิตรพริ้นติ้ง : นนทบุรี, ๒๕๔๕.
เชษฐ์ ติงสัญชลี. ประวัติศาสตร์ศิลปะอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. นนทบุรี : มิวเซียมเพรส, ๒๕๕๘.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะทวารวดี : วัฒนธรรมทางศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. กรุงเทพฯ : เมือง โบราณ , ๒๕๖๒.
สมศักด์ นิลพงษ์. ศิวลึงค์ศิลาที่ค้นพบในประเทศไทย. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชา โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๒๖.
สมศักดิ์ รัตนกุล “การขุดแต่งโบราณสถานด้านทิศเหนือของคอกช้างดิน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี” ศิลปากร ๑๑, ๒ (กรกฎาคม ๒๕๑๐) : ๗๘ – ๘๔.
-------------------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
https://www.facebook.com/prfinearts/posts/pfbid0vex7qgLerLqYdX8HMMmDDbTKuysQTPJWTHRqQuv8T1qAwtZQQMXKNDvduPvTH3Djl
(จำนวนผู้เข้าชม 2935 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน