ประติมากรรมรูปพุทธประวัติ ตอน มารวิชัย
ประติมากรรมรูปพุทธประวัติ ตอน มารวิชัย
สมัยรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๔
กรมพระราชพิธีส่งมาจากพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๔
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ ณ ห้องธนบุรี-รัตนโกสินทร์ อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ประติมากรรมทองเหลืองประดับแก้วสี แสดงตอนมารวิชัย กึ่งกลางเป็นฐานชุกชี และเบื้องหลังคือต้นโพธิ์ที่ใบประดับแก้วสี เบื้องล่างมีรูปพระแม่ธรณียืนบิดมวยผม ด้านซ้ายของฐานชุกชีเป็นรูปหมู่พญามาร ซึ่งมีพระยาวัสวดีมาราธิราชทรงอาวุธประทับบนคอช้างคีรีเมขลามหาคชสาร และบริวารถือวารถืออาวุธมุ่งไปยังโพธิบัลลังก์ ด้านขวาเป็นรูปพระยาวัสวดีมาราธิราชยกมือไหว้ มืออื่นแสดงการถือดอกบัว (ยอมแพ้ต่อพระบารมีของพระพุทธเจ้า) ส่วนบริวารจมไปกับสายน้ำ บางตนแสดงการยกมือไหว้เหนือศีรษะ บางตนถูกจระเข้สังหาร
ประติมากรรมพุทธประวัติชิ้นนี้เป็น ๑ ใน ๒๗ รายการ ที่เล่าเรื่องปฐมสมโพธิตอนต่าง ๆ แม้ไม่ปรากฏประวัติของผู้สร้างและปีที่สร้าง แต่สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เนื่องด้วยในรัชกาลของพระองค์มีการเรียบเรียงพุทธประวัติขึ้นใหม่ชื่อว่า “ปฐมสมโพธิกถา” โดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส ประกอบกับเมื่อครั้งยังทรงดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นนุชิตชิโนรส ทรงได้คิดค้นรูปแบบของพระอิริยาบถของพระพุทธเจ้าที่สัมพันธ์กับเรื่องราวพุทธประวัติเป็นปางต่าง ๆ เพิ่มขึ้นจากเดิมรวม ๔๐ ปาง
เหตุการณ์ตอนมารวิชัย เป็นเหตุการณ์สำคัญในพุทธประวัติ ในเรื่องปฐมสมโพธิกถา ปริเฉทที่ ๙ มารวิชัยปริวรรต กล่าวว่าเป็นตอนที่พระโพธิสัตว์ (เจ้าชายสิทธัตถะ) เผชิญหน้ากับเหล่าพญามารที่ประสงค์จะทำร้ายพระองค์ด้วยวิธีการต่าง ๆ ถึง ๙ ประการ แต่ก็มิอาจทำอันตรายใดๆ แก่พระโพธิสัตว์ได้ ดังข้อความตอนหนึ่งว่า
“...ลำดับนั้น [ฝ่ายพญามาร-ผู้เขียน] ก็แสดงฤทธิให้เป็นห่าฝนนานาวิธาวุธวิเศษ มีประเภทคือคมข้างเดียวแลคมทั้งสองข้าง บ้างก็เป็นพระขรรค์แลดาบหอกจักรธนูศรเสน่าเกาทัณฑ์เป็นต้น ให้ตกลงมาเป็นควันเป็นเปลวเพลิงมาบนอัมพราประเทศ พอถึงพระกายก็กลายเป็นทิพยมาลาเลื่อนลอยลงบูชาทั้งสิ้น...”
ในท้ายที่สุดพระโพธิ์สัตว์ทรงใช้พระดัชนี (นิ้วชี้) แตะที่พื้นแผ่นดินพร้อมเปล่งวาจาเรียกพระแม่ธรณีขึ้นมาเป็นพยานในการแสดงพระบารมีของพระองค์ที่ได้สั่งสมไว้เพื่อขจัดเหล่ามารทั้งปวง เมื่อพระแม่ธรณีปรากฏขึ้นเบื้องหน้าพระโพธิสัตว์ได้บิดน้ำจากเมาลี ซึ่งแทนด้วยคุณธรรมที่พระโพธิ์สัตว์สั่งสมมาตั้งแต่อดีตชาติ กลายเป็นกระแสน้ำเชี่ยวกรากพัดพาเหล่าพญามารทั้งปวง ดังข้อความว่า
“...ครั้งนั้นหมู่มารเสนาทั้งหลายมิอาจดำรงกายอยู่ได้ ก็ลอยไปตามกระแสน้ำปลาตนาการ*ไปสิ้น ส่วนคีรีเมขลคชินทรที่นั่งทรงองค์พระยาวัสวดีก็มีบาทาอันพลาด มิอาจตั้งกายตรงอยู่ได้ก็ลอยไปตามธารไปตราบเท่าถึงมหาสาคร...”
หลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้ พระโพธิ์สัตว์จึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ดับสิ้นซึ่งกิเลสทั้งปวง ดังข้อความว่า “...พอเป็นเวลาตัมพารุณสมัย** ไขแสงทองส่องอร่ามฟ้า สมเด็จพระมหาสัตว์ก็ตรัสรู้พระสัพพัญญุตัญญาณ ดับสูญสิ้นอาสวกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน***...” ซึ่งการตรัสรู้ของพระองค์ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ อีกทั้งวันดังกล่าวยังตรงกับเหตุการณ์สำคัญของพระพุทธเจ้าอีกสองเหตุการณ์ คือ การประสูติ และปรินิพพานของพระองค์ด้วยเช่นกัน ดังนั้นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ของทุกปี จึงถูกกำหนดเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา ที่รู้จักกันในนามของวันวิสาขบูชา (Vesak Day) และถือเป็น “วันสำคัญของโลก” อีกด้วย
*ปลาตนาการ หมายถึง การหนีหายไปสิ้น
**ตัมพารุณสมัย หมายถึง เวลารุ่งอรุณ
***สมุจเฉทปหาน หมายถึงการละกิเลสได้ขาดอย่างพระอรหันต์
-------------------------------------------------------
อ้างอิง
ปรมานุชิตชิโนรส, สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระ. ปฐมสมโพธิกถา. กรุงเทพฯ: กองวรรณคดีและ ประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, ๒๕๓๐. (รัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จัดพิมพ์ทูลเกล้าฯ ถวายสนองพระมหากรุณาธิคุณในมหามงคลเฉลิมพระเกียรติวันพระบรมราชสมภพ ครบ ๒๐๐ ปี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว วันอังคารที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๐).
เสริมกิจ ชัยมงคล. “ประติมากรรมขนาดเล็ก เล่าเรื่องปฐมสมโพธิหรือพระพุทธประวัติที่จัดแสดงภายใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร.” ใน พิพิธวิทยาการ รวมบทความวิชาการด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะ และพิพิธภัณฑ์วิทยา ๒๕๕๔. กรุงเทพฯ: กลุ่มวิจัย สำนักพิพิธภัณฑสถาน แห่งชาติ กรมศิลปากร, ๒๕๕๔.
--------------------------------------------
เรียบเรียงข้อมูล : นายพนมกร นวเสลา ภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
(จำนวนผู้เข้าชม 2026 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน