พระพิมพ์ปางสมาธิ (พระหลวงปู่ศุข พิมพ์แจกแม่ครัว) แห่งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี
พระพิมพ์ คือ รูปเคารพขนาดเล็กในพุทธศาสนาที่สร้างขึ้นจากแม่พิมพ์ โดยวัสดุในการสร้างนั้นมีหลายประเภท เช่น โลหะประเภทต่าง ๆ และสิ่งที่ไม่ใช่โลหะ อันได้แก่ ดิน ซึ่งมีทั้งดินเผา และดินดิบ
คติในการสร้างพระพิมพ์นั้นมีหลากหลาย เช่น สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกในการจาริกแสวงบุญ ณ สังเวชนียสถาน สร้างขึ้นเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา สร้างขึ้นเพื่อเป็นกุศลสำหรับตัวเองหรืออุทิศบุญกุศลให้แก่ผู้อื่น หรือแม้กระทั่งในปัจจุบัน ที่สร้างขึ้นเพื่อการสักการบูชาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจเฉกเช่น เครื่องรางของขลัง วัตถุมงคล
พระพิมพ์ปางสมาธินี้ สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๕ (ประมาณ ๑๐๐ ปีมาแล้ว) เป็นพระพิมพ์เนื้อผง ที่มีขนาดกว้าง ๑.๕ เซนติเมตร สูง ๒ เซนติเมตร
พระพิมพ์มีลักษณะเป็นรูปพระพุทธเจ้าประทับในอิริยาบถสมาธิ พระเศียร (หัว) ค่อนข้างกลม พระกรรณ (หู) ยาว พระเกตุมาลา (ส่วนยอดเหนือพระเศียร) แหลม พระอังสา (ไหล่) กว้าง หงายพระหัตถ์ (มือ) วางซ้อนกันบนพระเพลา (ตัก) ครองจีวรห่มเฉียง ประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิราบบนฐานบัว พระพิมพ์องค์นี้อยู่ในรูปทรงสามเหลี่ยมมุมมน ฐานด้านล่างองค์พระปรากฏรูที่เกิดจากขั้นตอนการนำพระออกจากแม่พิมพ์
ตามประวัติบันทึกไว้ว่า พระครูวิมลคุณากร (ศุข เกสโร) แห่งวัดปากคลองมะขามเฒ่า จังหวัดชัยนาท สร้างพระพิมพ์ปางสมาธิเนื้อผง (พระหลวงปู่ศุข พิมพ์แจกแม่ครัว) นี้ ขึ้นราว พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๔๖๓ นักสะสมพระเครื่องพระพิมพ์ เรียกพระพิมพ์นี้ว่า “พระหลวงปู่ศุข พิมพ์แจกแม่ครัว” เนื่องด้วยมีการเล่าขานกันต่อมาว่า มีการแจกพระพิมพ์นี้ให้กับผู้ที่มาช่วยทำครัวที่วัดปากคลองมะขามเฒ่า โดยพระพิมพ์องค์นี้ พระครูแห่งวัดปากคลองมะขามเฒ่า อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท ได้มอบให้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี เก็บรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติ สืบไป
ผู้สนใจสามารถเข้าชมพระพิมพ์ปางสมาธิ (พระหลวงปู่ศุข พิมพ์แจกแม่ครัว) นี้ได้ที่อาคารจัดแสดงชั้น ๒ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี จังหวัดชัยนาท
-----------------------------------------------------
ที่มาภาพ : หนังสือพระพิมพ์ : พระเครื่องเมืองไทย
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี https://www.facebook.com/1944769395803916/posts/3357825074498334/
(จำนวนผู้เข้าชม 11373 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน