เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
เรือบ้านคลองยวน ต.ทุ่ง อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี
ซากเรือบ้านคลองยวน สำรวจพบที่บ้านเลขที่ ๑๑๙/๒ หมู่ที่ ๘ บ้านคลองยวน ตำบลทุ่ง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยนางพรพิมล มีนุสรณ์ เจ้าของบ้านเล่าว่าได้พบซากเรือไม้ในที่ดินของตนเองระหว่างการขุดสระเพื่อกักเก็บน้ำใช้ทำสวนปาล์มและได้เก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีโดยการก่อพื้นเทปูนมุงหลังคาคลุมซากเรือลำนี้ไว้ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๕ นอกจากหลักฐานตัวเรือแล้ว บริเวณที่พบซากเรือก็นับว่ามีความสำคัญทางโบราณคดีด้วยเช่นกัน เนื่องจากตั้งอยู่ไม่ห่างจากคลองท่าชนะ (๓ กิโลเมตร) ซึ่งเป็นคลองที่ไหลออกสู่อ่าวไทย ณ บริเวณที่เรียกว่าแหลมโพธิ์ ต.พุมเรียง อ.ไชยา จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบในพื้นที่แหลมโพธิ์บ่งชี้ว่า บริเวณนี้เป็นชุมชนเมืองท่าสำคัญมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๔ ดังสะท้อนผ่านหลักฐานการค้านานาชาติ เช่น ลูกปัดโบราณ เครื่องถ้วยจีนและเปอร์เซียที่พบ
จากการตรวจสอบพบว่า บริเวณหลังบ้านของ นางพรพิมล เป็นพื้นที่สวนปาล์ม มีการขุดสระน้ำสำหรับใช้ภายในสวน ภายในมีซากของไม้เรือโบราณถูกเก็บรักษาอยู่ภายในโรงเปิดโล่งมีหลังคาคลุม ซากเรือดังกล่าวประกอบด้วยไม้ ๘๔ ชิ้น เป็นไม้กระดานขนาดยาว ไม้ที่ทำเป็นทรงแหลมสำหรับหัวเรือ และเศษไม้ที่ไม่สามารถระบุส่วนได้
ไม้กระดานเรือแต่ละแผ่น มีการเจาะรูที่ด้านสันของไม้ตลอดความยาว อีกทั้งยังพบลูกประสักหรือสลักไม้สวนอยู่ในรูบางส่วน นอกจากนี้ที่แผ่นกระดานเปลือกเรือด้านในมีการทำปุ่มสันทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้านูนออกมาจากระดับพื้นกระดาน ยาวตลอดความยาวของแผ่นเปลือกเรือ
นอกจากไม้เรือแล้ว ในบริเวณที่เป็นที่เก็บซากเรือยังพบว่าเศษเชือกสภาพเปื่อยยุ่ยอยู่ที่พื้นและปะปนอยู่กับซากเรือ คาดว่าน่าจะเป็นเชือกที่มากับเรือ จึงได้ทำการเก็บตัวอย่างเพื่อนำไปตรวจหาค่าอายุทางวิทยาศาสตร์ สภาพของซากเรือยังอยู่ในสภาพที่แข็งแรง แต่เนื่องจากไม่ได้รับการอนุรักษ์อย่างถูกวิธีตัวเรือจึงเริ่มเสื่อมสลายผุพังไปตามกาลเวลา เมื่อวิเคราะห์จากลักษณะของซากเรือลำนี้โดยคร่าวเป็นเรือที่ต่อด้วยเทคนิค Lashed-Lug หรือ เชือกรัดสันรูเจาะ เป็นเทคนิคแบบโบราณที่มีมานานกว่า ๑,๐๐๐ ปี พบแพร่กระจายอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทะเล
กองโบราณคดีใต้น้ำจึงได้ขอให้ นางพรพิมล มีนุสรณ์ มอบซากเรือโบราณให้แก่กองโบราณคดีใต้น้ำ เพื่อนำกลับไปอนุรักษ์และศึกษาวิเคราะห์ยังกองโบราณคดีใต้น้า จังหวัดจันทบุรี เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการถ่ายรูปไม้เรือทุกชิ้นที่พบจากนั้นทยอยลำเลียงขึ้นบนรถบรรทุกเพื่อนำมาเก็บรักษาไว้ที่สำนักงาน
การวิเคราะห์ชนิดไม้และการหาค่าอายุ
หลังจากที่นำซากเรือบ้านคลองยวนกลับมาเก็บรักษาที่สำนักงานกองโบราณคดีใต้น้ำแล้ว ได้นำตัวอย่างไม้เรือส่งไปวิเคราะห์ตรวจหาชนิดของไม้ที่นำมาใช้ในการต่อเรือ ณ สํานักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้ กรมป่าไม้ โดยส่งตัวอย่างชิ้นไม้จำนวน ๓ ชิ้น ประกอบด้วย เปลือกเรือ ๑ ชิ้น และลูกประสัก ๒ ชิ้น
ผลการตรวจพิสูจน์พบว่า ไม้เปลือกเรือบ้านคลองยวนนั้นทำจากไม้ในสกุลตะเคียน (Hopea sp.) แต่ไม่ทราบชนิด และลูกประสักทำจากไม้ตะแบกเลือด (Terminalia mucronata Craib & Hutch.)
นอกจากการตรวจหาชนิดไม้แล้ว กองโบราณคดีใต้น้ำยังนำตัวอย่างจากตัวเรือไปหาค่าอายุทางวิทยาศาสตร์ด้วยวิธี Accelerator Mass Spectrometry (AMS) ณ ห้องปฏิบัติการในประเทศสหรัฐอเมริกาอีกด้วย โดยส่ง ๓ ตัวอย่าง ประกอบด้วย ไม้เปลือกเรือ เศษเชือก และลูกประสัก ซึ่งผลของค่าอายุที่ได้บ่งชี้ว่า เรือบ้านคลองยวนมีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๔ (คริสต์ศตวรรษที่ ๙)
รูที่สันไม้กระดาน (dowel & lashing holes)
เปลือกเรือแต่ละแผ่นที่พบมีการเจาะรูที่ด้านสันของไม้กระดานยาวไปตลอดแนวของไม้เปลือกเรือและพบมีลูกประสักเสียบอยู่ในรูที่ถูกเจาะ จากการพินิจแล้วพบว่า การเจาะรูสันเปลือกเรือมีรูปแบบที่ซ้ำกันชัดเจน กล่าวคือ เจาะเพื่อใช้ยึดลูกประสัก ๔ รู สลับกับรูร้อยเชือกที่ด้านบนของกระดานทะลุกออกด้านสัน ๒ รู เป็นเช่นนี้ตลอดแนวสันเปลือกเรือ ถือเป็นลักษณะที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของเรือบ้านคลองยวน ที่ไม่อาจพบได้ในการต่อเรือไม้สมัยใหม่
ลูกประสักที่พบ มีลักษณะเป็นไม้ทรงกระบอกยาว ๔ เซนติเมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๒ ขนาด คือ ๗ และ ๑๐ มิลลิเมตร พบว่าลูกประสักที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑๐ มิลลิเมตร จะใช้กับส่วนไม้ที่ต่อกับหัวเรือเท่านั้น แผ่นไม้เปลือกเรือบ้านคลองยวนนั้น หนา ๓.๕ – ๔ เซนติเมตร กว้าง ๒๗ เซนติเมตร (ส่วนที่กว้างที่สุด) ฝั่งกราบขวามี ๕ แผ่น ส่วนกราบซ้ายมี ๓ แผ่น (เท่าที่เหลือ) เมื่อพิจารณาจากกระดานเปลือกเรือแผ่นที่ ๕ ของกราบขวาพบว่า ที่ด้านสันของเปลือกเรือยังมีการเจาะรูรับลูกประสักอยู่ สิ่งนี้บ่งชี้ว่ากระดานเปลือกเรือแผ่นที่ ๕ ยังไม่ใช่แผ่นสุดท้าย ที่ส่วนปลายของไม้เปลือกเรือแต่ละแผ่นจะมีการทำให้เป็นรูปทรงแหลม เพื่อให้สามารถเข้าไม้ได้อย่างพอดีกับไม้หัวและท้ายเรือ
ไม้เปลือกเรือของเรือบ้านคลองยวนไม่ได้สมบูรณ์ตลอดลำเรือ ส่วนที่คาดว่าจะเป็นท้ายเรือได้ขาดหายไปจึงไม่อาจสรุปได้ว่าไม้เปลือกเรือแต่ละชั้นจะเป็นไม้แผ่นเดียวยาวตลอดลำเรือหรือไม่ แต่จากข้อมูลของเรือประเภทเดียวกันที่พบในต่างประเทศ เช่น แหล่งเรือ Punjurhajo บนเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซียนั้น พบเปลือกเรือเป็นไม้แผ่นเดียวยาวตลอดลำเรือ จึงพอสันนิษฐานได้ว่าน่าจะมีลักษณะเหมือนกัน
สันรูเจาะ (lug)
เปลือกเรือแต่ละแผ่น ทำขึ้นด้วยการถากไม้ให้เป็นแผ่นกระดานและรูปทรงตามที่ช่างต้องการเพื่อให้เข้ากับรูปทรงของเรือ และจะเว้นสันรูเจาะ หรือ lug ไว้ตลอดความยาวของเรือ เป็นลักษณะอันโดดเด่นอีกอย่างหนึ่งของเรือประเภทนี้ โดยสันรูเจาะเหล่านี้มีไว้สำหรับรองรับกงเรือที่จะถูกนำมาเสริมในภายหลัง มีรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใกล้เคียงกัน คือ ยกสูงกว่าส่วนเรียบของแผ่นกระดานประมาณ ๑.๕ – ๒ เซนติเมตร ยาว ๓๐ เซนติเมตร กว้างประมาน ๒๐ เซนติเมตร ในส่วนที่กว้างที่สุด และจะค่อย ๆ แคบลงเรื่อย ๆ ไปทางหัวและท้ายเรือ สันที่แคบที่สุดกว้างเพียง ๔ เซนติเมตร แต่ละสันจะเว้นระยะห่างกันประมาณ ๓๐ เซนติเมตร ยกเว้นบริเวณกึ่งกลางลำเรือบนกระดานกระดูกงูและเปลือกเรือแผ่นที่ ๑ และ ๒ ของทั้งสองกราบจะเว้นช่วงห่างมากกว่าส่วนอื่น คือ ห่างประมาณ ๑๒๐ เซนติเมตร
ไม้กระดานกระดูกงู (keel plank)
ไม้ส่วนที่เป็นแกนกลางของเรือบ้านคลองยวนหรือที่มักเรียกกันว่ากระดูกงูนั้น มีลักษณะเป็นกระดูกงูที่ทำหน้าที่เป็นเหมือนเปลือกเรือไปด้วยหรือที่เรียกว่า keel plank ซึ่งกระดูกงูแบบนี้เป็นลักษณะเฉพาะของเรือที่ต่อแบบต่อเปลือกก่อนแล้วนำกงมาเสริมทีหลัง หรือ shell-based
เมื่อวางกระดูกงูบนพื้นราบพบว่าปลายกระดานกระดกขึ้นสูงจากพื้นประมาณ ๕๐ เซนติเมตร พิจารณาจากลักษณะแล้วคาดว่าเรือบ้านคลองยวนเป็นเรือที่มีหัวและท้ายเชิดขึ้นและท้องเรือแอ่น
ส่วนสันรูเจาะบนกระดูกงูมีรูปร่างลักษณะที่แตกต่างไปจากสันรูเจาะบนกระดานแผ่นอื่น กล่าวคือ ระหว่างสันรูเจาะแต่ละสันจะมีสันแคบ ๆ กว้างประมาณ ๑๐ – ๑๒ เซนติเมตร เชื่อมต่อไปตลอดความยาวของกระดูกงู ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าช่างจงใจทำสันแคบ ๆ นี้ไว้เพื่ออะไร เบื้องต้นสันนิษฐานว่าอาจทำไว้เพื่อเสริมความแข็งแรงตามแนวยาวของเรือ
หัวเรือและท้ายเรือ (wing-end)
หัวและท้ายของเรือบ้านคลองยวนมีรูทรงและลักษณะที่โดดเด่นอย่างมาก ซึ่งเรือกว่า wing-end กล่าวคือ ช่างจะแกะไม้เป็นรูปทรงคล้ายตัว V และนำมาซ้อนกัน 2 ชั้น โดยแต่ละชั้นจะมีการเจาะรูเพื่อใส่ลูกประสักเตรียมไว้
การเข้าไม้หัวและท้ายเรือ ช่างจะนำ wing ชั้นที่ ๑ มาวางบนกระดูกงู หัวเรือและกระดูกงูจะได้ระยะเสมอกันพอดี แขนของ wing จะต่อชนกับกระดานแผ่นที่ ๑ พอดี ด้านบนของแขนจะเว้นช่องว่างไว้เพื่อให้ไม้กระดานแผ่นที่ ๒ มาต่อชนกันส่วนโคนของแขนรูปตัว V เมื่อชั้นที่ ๑ สามารถต่อเข้ากับกระดูกงู ไม้กระดานแผ่นที่ ๑ และ ๒ ได้แล้ว จึงนำเอา wing ชั้นที่ ๒ มาวางซ้อนบนชั้นที่ ๑ แล้วนำกระดานชั้นที่ ๓ และ ๔ มาต่อแบบเดียวกับชั้นที่ ๑
เป็นที่น่าสังเกตว่าหัวและท้ายเรือแบบ wing-end นั้น มีขนาดค่อนข้างใหญ่และทำจากไม้ชิ้นเดียว เป็นไปได้ว่าช่างในสมัยนั้นอาจนำไม้จากบริเวณของโคนต้นมาผ่าตามแนวขวางแล้วจึงแกะให้เป็นรูปตัว V ดังสังเกตได้จากวงปีไม้ที่มีลักษณะเป็นวงวางตัวขวางกับแนวเรือ ส่วนกลางลำต้นจะนำไปทำไม้กระดาน
---------------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : กองโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร
(จำนวนผู้เข้าชม 2743 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน