เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กับการดนตรี
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นผู้มีพระปรีชาสามารถในด้านดนตรีและทรงเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีไทยพระองค์หนึ่ง ทรงสนพระทัยในดนตรีมาตั้งแต่ครั้งทรงพระเยาว์ และทรงเริ่มหัดดนตรีไทยในขณะที่ทรงศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ โรงเรียนจิตรลดา โดยทรงเลือกหัดซอด้วงเป็นเครื่องดนตรีชิ้นแรก หลังจากที่ทรงเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงเข้าร่วมชมรมดนตรีไทยของสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและคณะอักษรศาสตร์ โดยทรงเล่นซอด้วงเป็นหลัก และทรงเริ่มหัดเล่นเครื่องดนตรีไทยชิ้นอื่นๆ ด้วย เครื่องดนตรีที่โปรดทรงอยู่ประจำ คือ ระนาด ซอ และฆ้องวง ในด้านดนตรีสากล พระองค์ทรงเริ่มเรียนเปียโนตั้งแต่พระชนมายุ ๑๐ พรรษา และทรงฝึกเครื่องดนตรีสากลประเภทเครื่องเป่าจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ จนสามารถทรงทรัมเป็ตนำวงดุริยางค์ในงานคอนเสิร์ตสายใจไทย และทรงระนาดฝรั่งนำวงดุริยางค์ในงานกาชาดคอนเสิร์ตได้ นอกจากจะทรงดนตรีแล้ว ยังทรงสนพระทัยในด้านการขับร้องด้วย ทรงเรียนขับร้องเพลงไทยกับอาจารย์เจริญใจ สุนทรวาทิน ด้านการขับร้องเพลงไทยทำนองเสนาะกับอาจารย์กำชัย ทองหล่อ ส่วนการประพันธ์บทเพลงนั้นทรงนิพนธ์คำร้องเพลงลูกทุ่ง ชื่อเพลง “ส้มตำ” เป็นเพลงแรก ใน พ.ศ. ๒๕๑๓ และยังมีเพลงอื่นๆ ที่ทรงนิพนธ์ไว้ ได้แก่ เต่ากินผักบุ้ง เต่าเห่ พญาโศก ดุจบิดรมารดา ลอยประทีปเถา เมนูไข่ รัก เป็นต้น
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสนพระทัยและทรงมีพระวิริยะอุตสาหะในการศึกษาดนตรีทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ทรงส่งเสริมและสนับสนุนการดนตรีโดยมีการเผยแพร่และถ่ายทอดไปยังเยาวชน โดยเฉพาะดนตรีไทยซึ่งเป็นมรดกที่สำคัญของไทย เนื่องจากทรงเห็นคุณประโยชน์ของดนตรีว่าเป็นวิชาชีพได้อย่างดี เป็นประณีตศิลป์ที่หาผู้เรียนได้ยากแขนงหนึ่ง สามารถหล่อหลอมจิตใจผู้เล่นให้เป็นคนมีวัฒนธรรมประจำใจ มีระเบียบรอบรู้ในประเพณีและแบบแผน ที่สำคัญคือทำให้เป็นคนสุขุม อดทน มีความสามัคคี และมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ดนตรีจึงมีความสำคัญต่อเยาวชนเป็นอย่างมาก ดังพระราชกระแสดำรัสตอนหนึ่งความว่า
“ดนตรีไทยเป็นมรดกอันล้ำค่าของชาวไทย ความล้ำค่าของดนตรีไทยนั้นอยู่ที่ดนตรีไทยและเพลงไทยได้สะท้อนความเป็นไทยในส่วนที่เป็นความละเอียดอ่อน ละเมียดละไม อ่อนโยนต่อธรรมชาติและเพื่อนมนุษย์ได้อย่างหมดจดยิ่งกว่าวัฒนธรรมด้านอื่นๆ การรู้จักดนตรีไทยย่อมเป็นการรู้จักความละเมียดละไมของบรรพชนไทยได้เป็นอย่างดี และจะช่วยให้ตระหนักถึงความสำคัญของความเป็นไทยอย่างชื่นชมตลอดไปด้วย”
การได้รับพระราชสมัญญาว่าทรงเป็น “องค์เอกอัครราชูปถัมภกมรดกวัฒนธรรมไทย” โดยเฉพาะในส่วนของดนตรีนั้น จะเห็นได้ว่าพระองค์ทรงมีพระราชจริยาวัตรหลายประการที่ทรงมีคุณูปการต่อวงการดนตรี ดังนี้
๑. ทรงวางพระองค์เป็นแบบอย่างแก่ประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนไทย โดยทรงดนตรีไทย ขับร้องเพลงไทย และพระราชทานในโอกาสพิเศษ โดยเสด็จลงทรงดนตรีไทยร่วมกับประชาชนทุกเพศทุกวัยเสมอมา
๒. ทรงเป็นนักวิชาการดนตรี โดยทรงศึกษารายละเอียดต่างๆ ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ สามารถพระราชทานข้อวินิจฉัย ข้อเสนอแนะ และทรงปฏิบัติได้อย่างถ่องแท้
๓. ทรงอนุรักษ์ดนตรีไทย ทั้งในด้านการชำระโน้ตเพลง บันทึกเพลงเก่า และเผยแพร่งานเหล่านั้นอย่างต่อเนื่อง
๔. พระราชนิพนธ์บทความเกี่ยวกับดนตรีไทย ดนตรีต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับไทย และเพลงไทยอย่างต่อเนื่อง
๕. ทรงส่งเสริมช่างผลิตเครื่องดนตรีไทย สนับสนุนให้ใช้เครื่องดนตรีไทยในการเรียนการสอนดนตรีของเยาวชน โดยไม่ต้องพึ่งพาเครื่องดนตรีจากต่างประเทศ
๖. ทรงส่งเสริมและสนับสนุนในด้านการศึกษาดนตรี โปรดให้มีการเรียนปี่พาทย์ในนักเรียนชั้นประถมศึกษา ทรงพระราชทานชุดเครื่องดนตรีไทยแก่โรงเรียนต่างๆ เพื่อใช้ในการเรียนการสอน และส่งเสริมให้มีการเรียนการสอนดนตรีสำหรับผู้พิการทางสายตา โดยพระราชทานครูไปสอน
๗. ทรงส่งเสริมสถาบันต่างๆ ให้จัดรายการเผยแพร่วัฒนธรรมไทย เช่น การประชันปี่พาทย์ การทรงสักวา การแสดงนาฏศิลป์ โดยเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน และทรงร่วมกิจกรรมดนตรีทั้งหลายอย่างใกล้ชิด
๘. ทรงสนับสนุนการเก็บรักษาและอนุรักษ์เครื่องดนตรีไทย และมีพระราชดำริในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เครื่องดนตรีไทยขึ้นในประเทศ
๙. ทรงสนับสนุนการจัดตั้งแหล่งเรียนรู้ทางด้านดนตรี เพื่อให้เป็นแหล่งข้อมูลทางวิชาการดนตรี อันจะอำนวยประโยชน์แก่ประชาชนและเยาวชนของชาติในการศึกษาค้นคว้าเรื่องดนตรีไทยและดนตรีสากล ทรงพระราชทานนามให้ห้องสมุดดนตรีหลายแห่ง เช่น ห้องสมุดดนตรีทูลกระหม่อมสิรินธร สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ห้องสมุดดนตรีสมเด็จพระเทพรัตน์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นต้น นอกจากนี้ยังทรงพระราชทานแนวทางเพื่อการอนุรักษ์ พัฒนา และส่งเสริมกิจกรรมของห้องสมุดดนตรีด้วย
ด้วยพระอัจฉริยภาพ พระเกียรติคุณ และพระปรีชาสามารถทางด้านดนตรี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณยิ่ง ต่อวงการดนตรีของไทยทั้งด้านการศึกษา การทำนุบำรุง อนุรักษ์ และเผยแพร่ให้ปรากฏ จึงทำให้ดนตรีไทยเจริญรุ่งเรืองและมั่นคงสืบมาจนถึงปัจจุบัน
----------------------------------------------------
เรียบเรียงโดย :
นางสาวปริศนา ตุ้มชัยพร บรรณารักษ์ชำนาญการ สำนักหอสมุดแห่งชาติ
----------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. ที่ระลึกพิธีเปิดห้องสมุดดนตรี "ทูลกระหม่อมสิริธร". กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๓๗. กรมศิลปากร. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กับงานห้องสมุด. กรุงเทพฯ: องศาสบายดี, ๒๕๕๘. กองประวัติศาสตร์และโบราณคดีทหาร กองบัญชาการสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ. “พระอัจฉริยภาพด้านดนตรี เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี.” วารสารสถาบันวิชาการป้องกัน ประเทศ. ๖, ๓ (พฤษภาคม-สิงหาคม ๒๕๕๘): ๕-๑๓. เทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สมเด็จพระ. รวมบรรเลงเพลงดนตรีมี่เสนาะ : รวมพระราชนิพนธ์ บทร้องเพลงไทยใน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พุทธศักราช ๒๕๑๐–๒๕๕๙. นครนายก: โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า สังกัดกระทรวงกลาโหม, ๒๕๖๑. หอสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ และห้องสมุดดนตรีทูลกระหม่อมสิรินธร. นิทรรศการ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีกับการดนตรี เนื่องในโอกาส ฉลองพระชนมายุ ๕ รอบ ๒ เมษายน ๒๕๕๘. กรุงเทพฯ: หอสมุดดนตรีฯ, ๒๕๕๘.
(จำนวนผู้เข้าชม 7301 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน