สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กับโบราณคดีเมืองดงละคร



          เมืองดงละครเป็นเมืองโบราณเนื่องในวัฒนธรรมทวารวดี ตั้งอยู่ในตำบลดงละคร อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๘

          การทำงานโบราณคดีในเมืองดงละครเริ่มขึ้นในปีพ.ศ. ๒๕๑๕ และ ๒๕๒๙ โดยกองโบราณคดี กรมศิลปากร โดยผลจากการศึกษาพบว่า เมืองดงละครเป็นเมืองที่ขยายตัวจากชุมชนในแผ่นดินออกมาเพื่อสร้างเครือข่ายการค้าทางทะเล มีความสัมพันธ์กับชุมชนอื่นในแถบลุ่มแม่น้ำบางปะกง มีอายุช่วงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖



          ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๓๒-๒๕๓๓ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้รับสั่งให้กรมศิลปากรศึกษา อนุรักษ์ และพัฒนาแหล่งโบราณคดีเมืองโบราณดงละคร เพื่อให้เป็นประโยชน์ในด้านวิชาการและเศรษฐกิจ จึงเกิดโครงการอนุรักษ์เมืองดงละคร โดยฝ่ายวิชาการ กองโบราณคดี กรมศิลปากร มีนักโบราณคดีผู้รับผิดชอบการขุดค้น คือ นายอำพัน กิจงาม และนายอาณัติ บำรุงวงศ์ โดยได้มีการได้มีการสำรวจทางโบราณคดี การขุดแต่งโบราณสถานหมายเลข ๑-๒ และขุดค้นทางโบราณคดี ๘ หลุม แบ่งเป็น หลุมภายในเมือง ๔ หลุม และขุดใกล้กับคูเมืองหรือสระน้ำอีก ๔ หลุม ระหว่างการขุดค้นสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงนำคณะผู้เข้าร่วมสัมมนาวิชาการ เรื่องภาษากับประวัติศาสตร์และความเคลื่อนไหวในวิชาประวัติศาสตร์ไทย จำนวน ๔๐๐ คน ไปทัศนศึกษาที่เมืองโบราณดงละคร

          ผลการศึกษาทางโบราณคดีครั้งนี้ พบว่าโบราณสถานหมายเลข ๑ เป็นศาสนสถาน เนื่องจากมีการพบเศียรพระพุทธรูปและและแผ่นทองคำ แนวสิ่งก่อสร้างที่พบสันนิษฐานว่าเป็นกำแพงแก้วล้อมรอบ ศาสนสถานขนาด ๓๒x๔๓ เมตร บริเวณกึ่งกลางโบราณสถานพบแท่นอิฐผสมศิลาแลงก่อเป็นรูปสี่เหลี่ยม ยาวด้านละ ๑-๑.๒๐ เมตร คาดว่าเป็นแท่นประดิษฐานรูปเคารพ กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๖ ส่วนโบราณสถานหมายเลข ๒ อยู่ห่างจากโบราณสถานหมายเลข ๑ ไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๑๕ เมตร เป็นกรอบศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสล้อมรอบเนื้อที่ประมาณ ๙ ตารางเมตร ตรงกลางมีการขุดพบแท่งศิลาแลงรูปทรงกระบอกขนาดใหญ่ ภายในบรรจุตุ้มหู แหวน หัวแหวน พื้นที่รอบแท่งศิลาแลงพบลูกปัดหินและลูกปัดแก้วจำนวนมาก สันนิษฐานว่าเป็นการฝังสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือศิลาฤกษ์กลางศาสนสถาน กำหนดอายุโบราณสถานราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๖ หลังจากการศึกษาในปีพ.ศ. ๒๕๓๓ ได้มีการศึกษาทางโบราณคดีอีกหลายครั้ง และได้ข้อมูลที่ช่วยให้ภาพรวมการใช้พื้นที่ของเมืองดงละครเด่นชัดขึ้น



          สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลการศึกษาทางโบราณคดีของเมืองดงละคร สามารถติดตามได้จากหนังสือ “เมืองโบราณดงละคร” ของกรมศิลปากร ราคาเล่มละ ๖๕๐ บาท สั่งซื้อได้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครนายก พระบรมชนกชลพัฒน์ และสำนักศิลปากรที่ ๓ พระนครศรีอยุธยา

---------------------------------------------------
ที่มาข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครนายก พระบรมชนกชลพัฒน์
---------------------------------------------------
อ้างอิง : ธงชัย สาโค. เมืองโบราณดงละคร. นนทบุรี : ไทภูมิ พับลิชชิ่ง, ๒๕๕๘.

(จำนวนผู้เข้าชม 2705 ครั้ง)

Messenger