พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร แห่งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี
ภายในห้องจัดแสดงชั้นล่างของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี มีการจัดแสดงพระพุทธรูปยืนปางห้ามสมุทรอยู่ ๑ องค์ เป็นพระพุทธรูปยืนที่หล่อขึ้นจากโลหะผสมประเภทสำริด มีการตกแต่งพระพุทธรูปองค์นี้ด้วยการลงรักปิดทองและประดับกระจก
พระพุทธรูปยืนปางห้ามสมุทรองค์นี้ เป็นพระพุทธรูปที่มีการครองจีวรห่มเฉียง โดยจีวรนั้นมีการตกแต่งลวดลายให้เป็นจีวรลายดอกพิกุล ซึ่งเป็นลวดลายจีวรที่เป็นที่นิยมมากในการสร้างพระพุทธรูปในสมัยรัตนโกสินทร์เลยก็ว่าได้
พระพุทธรูปยืนองค์นี้พระรัศมีได้หักหายไป และยังมีความชำรุดของผิวพระพุทธรูปด้วยลวดลายบางส่วนแตกหลุดหายไป ตามกาลเวลา พระพุทธรูปยืนองค์นี้ ยืนบนฐานบัวทรงกลม ที่รองรับด้วยฐานแปดเหลี่ยมที่ซ้อนกัน ๔ ชั้น บริเวณฐานพระพุทธรูปชั้นล่างสุด ด้านหน้า ปรากฎจารึกว่า “นายพุ้ม เป็นที่หลวงประชุ่ม คุนแม่ทิมภรรยา ทร่างไว้แต่ปีระกา ๑๑๖” จากจารึกดังกล่าวทำให้ทราบว่าพระพุทธรูปองค์นี้สร้างขึ้นในปีพุทธศักราช ๒๔๔๐ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
ความเป็นมาของการสร้างพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร มีอยู่ว่า เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้า เสด็จไปประกาศพระศาสนา ยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ทรงขอประทับอยู่ในสำนักของอุรุเวกัสสปะ ซึ่งเป็นหัวหน้าชฎิล (นักบวชผู้บูชาไฟ) และเป็นที่เลื่อมใสของชาวแคว้นมคธ พระพุทธองค์ทรงแสดงความจริงที่ได้ตรัสรู้มาแก่อุรุเวกัสสปะ แต่หัวหน้าชฎิลผู้นี้ยังทนง ตนว่าตัวเองมีฤทธิ์ เป็นอรหันต์ ดังนั้นพระพุทธองค์จึงทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์หลายครั้ง เพื่อให้อุรุเวกัสสปะคลายความทนงตนลง โดยครั้งสุดท้ายได้แสดงปาฏิหาริย์โดยการห้ามน้ำที่กำลังไหลบ่ามาจากทุกสารทิศ มิให้เข้ามาในที่ประทับ เนื่องจากได้เกิดฝนตกหนัก น้ำท่วมใหญ่ อุรุเวกัสสปะคิดว่าพระพุทธเจ้าคงจะจมน้ำเสียแล้ว แต่เมื่อพายเรือไปดูก็ปรากฏว่า พระพุทธเจ้ากำลังเสด็จจงกรมบนพื้นดินภายในวงล้อมที่มีน้ำเป็นกำแพง ด้วยปาฏิหาริย์ และหลักธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดง ทำให้อุรุเวกัสสปะคลายความทนงตน และเกิดความเลื่อมใสในพุทธานุภาพ จึงทูลขออุปสมบทกับพระพุทธเจ้า พร้อมทั้งเหล่าชฎิล ๕๐๐ ซึ่งเป็นบริวาร
พระพุทธรูปปางห้ามสมุทรองค์นี้ เดิมอยู่ที่วัดพระบรมธาตุวรวิหาร โดยพระชัยนาทมุนี (นวม สุทัตโต) เป็นผู้รวบรวมไว้ ภายหลังจึงมอบให้กับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี เก็บรักษาและจัดแสดง
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี จังหวัดชัยนาท
www.facebook.com
(จำนวนผู้เข้าชม 3577 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน