เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ขอเชิญชมนิทรรศการพิเศษเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย ๒๕๖๕ เรื่อง “อาโรคยปณิธาน”
กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม จัดนิทรรศการพิเศษเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย พุทธศักราช ๒๕๖๕ เรื่อง “อาโรคยปณิธาน” ระหว่างวันที่ ๑๕ พฤษภาคม - ๗ สิงหาคม ๒๕๖๕ ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ความเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นหนึ่งในความทุกข์ ๔ ประการของมนุษย์ (เกิด แก่ เจ็บ ตาย) ตามความเชื่อทางพุทธศาสนา ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกผู้คนต่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เมื่อโรคภัยไข้เจ็บเกิดขึ้นกับผู้ใดแล้วย่อมสร้างความไม่สบายกายไม่สบายใจต่อตัวผู้ป่วยเอง จนต้องหาหนทางบำบัดรักษาให้หายจากโรคภัยนั้น แต่ถ้าหากโรคภัยเกิดขึ้นกับคนในสังคมพร้อม ๆ กัน ย่อมต้องมีความอลหม่าน วุ่นวายเกิดขึ้นมากมาย แม้ว่าเราเรียนรู้ว่าโรคระบาดได้สร้างความเจ็บป่วยล้มตายแก่คนในสังคมมาตั้งแต่อดีต แต่ในปัจจุบันระบบสาธารณสุข มีการพัฒนาสามารถควบคุมและจัดการโรคได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้เราห่างไกลจากคำว่า “โรคระบาด” จนกระทั่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ ( Covid-19) สร้างวิกฤติให้กับประชากรโลกตลอด ๒ ปีที่ผ่านมา จึงเกิดการเรียนรู้เพื่อสู้โรคขนานใหญ่ องค์ความรู้ด้านการรักษาโรคในอดีตถูกพลิกฟื้น ควบคู่ไปกับการค้นคว้าทดลองทางวิทยาศาสตร์เพื่อผลิตยารักษา และวัคซีนป้องกันโรค มุ่งหมายเพื่อหาแนวทางการบำบัดแก้ไขโรคร้ายให้คลายลง
ในอดีตที่ผ่านมา มนุษย์พยายามแสวงหาหนทางให้พ้นจากโรค ไม่ว่าจะด้วยสัญชาตญาณ การสังเกตจากธรรมชาติและสัตว์ การลองผิดลองถูก จนสั่งสมขึ้นเป็นภูมิปัญญาของมนุษย์ในการรักษาโรค ซึ่งมีทั้งการรักษาเยียวยาทางกาย และจิตใจ การป้องกันไม่ให้เกิดโรค และยังคงต้องคิดหาหนทางใหม่ ๆ ที่จะต่อสู่กับโรคภัยไข้เจ็บอยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้ หากเราได้ศึกษาเรียนรู้โรคภัย ที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตมนุษย์ และทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการรักษาโรค ตระหนักถึงบทบาทและหน้าที่อันสำคัญของแต่ละบุคคล ชุมชน รัฐ และผู้นำ ที่ดำเนินมาตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน เพื่อถอดบทเรียนจากประสบการณ์ในอดีต นำมาวิเคราะห์ ปรับใช้ ในการจัดการของทุกภาคส่วนของสังคมมนุษย์ก็อาจผจญกับโรคภัยไข้เจ็บได้อย่างเท่าทัน ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
เพื่อการเรียนรู้และเข้าใจโรคระบาดที่ประชากรโลกกำลังเผชิญอยู่ กรมศิลปากรจึงได้กำหนดจัดนิทรรศการพิเศษเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย พุทธศักราช ๒๕๖๕ เรื่อง “อาโรคยปณิธาน” อันหมายถึงความปรารถนาที่จะให้ปวงมนุษยชาติพ้นจากโรค ประกอบด้วยหัวข้อ มนุษย์กับโรคภัย นำเสนอเรื่องความเจ็บไข้ได้ป่วยของมนุษย์ โรคภัยของมนุษย์จากหลักฐานทางโบราณคดี นำเสนอโรคต่าง ๆ ที่พบบนผืนแผ่นดินไทยตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน โดยอ้างอิงจากหลักฐานต่าง ๆ ทั้งทางด้านโบราณคดี ภาพจิตรกรรมฝาผนัง จารึก และบันทึกต่าง ๆ ศาสตร์แห่งการรักษา นำเสนอแนวทางการรักษาโรคที่มีวิธีอธิบายสมุฏฐานและวิธีบำบัดโรคมากกว่าหนึ่งวิธีได้แก่ ศาสตร์ด้านความเชื่อ ศาสตร์ด้านการแพทย์แผนไทย และศาสตร์ด้านการแพทย์แผนตะวันตก และสังคมระดมปัญญา สู่ชีวิตวิถีใหม่ นำเสนอการจัดการวิกฤติโรคระบาดในสังคมไทยให้ผ่านพ้นจากโรคร้ายด้วยพลังของทุกภาคส่วนในสังคม
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดนิทรรศการพิเศษเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย พุทธศักราช ๒๕๖๕ เรื่อง “อาโรคยปณิธาน” ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ และเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมตั้งแต่วันที่ ๑๕ พฤษภาคม จนถึงวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๖๕ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. (ปิดวันจันทร์และอังคาร)
คัมภีร์พระตำรับแผนฝีดาษ
ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๕
พระเจ้าราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นอักษรสาสนโสภนและหลวงสารประเสริฐทรงชำระและชำระเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๔ ได้มาจากห้องสมุดกรมศึกษาธิการ สำนักหอสมุดแห่งชาติ สมุดไทยดำ อักษรขอมปนไทย เส้นชุบทอง ประกอบด้วยแผนภาพฝีดาษประจำ ๑๒ เดือน วิธีการรักษา พร้อมทั้งตำรับยาในการรักษาอาการระดับต่างๆ (ยามหาระงับ เอก โท) รวมไปถึงการอธิบายลักษณะของฝีขึ้นวันกำเนิดเป็นฝีร้ายและลักษณะฝีที่ขึ้น
เครื่องประดับข้อพระกร
ศิลปะอยุธยา พุทธศตวรรษที่ ๒๐ ได้จากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา หอยเบี้ยจั่นพร้อมตลับและสายสร้อยข้อมือทองคำ พบจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ สันนิษฐานว่าเป็นการนำหอยเบี้ยมาใช้เป็นเครื่องรางของขลัง เนื่องด้วยหอยเบี้ยมีตลับปิดมิดชิด ในศาสนาฮินดูใช้หอยเบี้ยจั่นเป็นตัวแทนพระลักษมีในการบูชาพระนาง โดยที่พระนางลักษมี เป็นเทวีแห่งโชคลาภ การบูชาด้วยเบี้ยจั่นจึงถือว่าทำให้เกิดความมั่งคั่ง และความเจริญรุ่งเรือง ทั้งนี้ปกติแล้วเบี้ยจั่นใช้เป็นตัวกลางแลกเปลี่ยนซื้อขายมาแต่โบราณ โดยใช้เป็นเงินปลีก ตัวตัวอย่างจารึกวัดป่ามะม่วง (ภาษาไทย) หลักที่ ๑ พ.ศ. ๑๙๐๔ กล่าวถึงการบำเพ็ญทานฉลองพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ของพระมหาธรรมราชาที่ ๑ ตอนหนึ่งว่า “แล้วกระยาทานคาบนั้นทองหมื่นหนึ่ง เงินหมื่นหนึ่ง เบี้ยสิบล้าน หมากสิบล้าน ผ้าจีวรสี่ร้อย บาตรีสี่ร้อย หมอนนั่งสี่ร้อย หมอนนอนสี่ร้อย...”
สมุดไทยขาวตำราแม่ซื้อ
ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๔-๒๕ สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร หนังสือสมุดไทยขาว หมวดเวชศาสตร์ เลขที่ ๑๐๒ เขียนภาพลงสี ลักษณะแม่ซื้อประจำวันต่างๆ และลำบองราหู ลักษณะที่เกิด พร้อมทั้งวิธีแก้ บรรยายภาพด้วยอักษรไทย ลายเส้นสีดำ จิตรกรรมลำบองราหู ที่ปรากฏในสมุดไทยเล่มนี้ เป็นรูปอมนุษย์ ที่แสดงลักษณะอาการของโรคในเด็กทารก ตั้งแต่แรกเกิดจนมีอายุครบขวบปี โดยความเจ็บไข้ของเด็กในช่วงปีแรกเกิดขึ้นเพราะอำนาจของลำบองราหู ที่มีอาการและรูปลักษณะแตกต่างกันไปในแต่ละเดือน รูปลักษณ์ของลำบองราหูจึงปรากฏการใช้สัญลักษณ์ประจำจักรราศี (๑๒ ราศี) มาเป็นองค์ประกอบของรูปเพื่อสื่อความหมายถึงโรคภัยในเดือนนั้นๆ ด้วย ภาพลำบองราหูที่ปรากฏในหนังสือสมุดไทยขาวเล่มนี้ มีความคล้ายคลึงกับภาพจิตรกรรลำบองราหู บริเวณคอสองเฉลียงศาลาราย (ศาลาแม่ซื้อ) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรวิหาร
พระพุทธรูปปางมารวิชัย
ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศักราช ๒๔๗๗ นายเสียง ปาลวัฒน์ (เป้า) สร้างอุทิศให้นายสำรวย ปาลวัฒน์ (บุตร) รูปเคารพทางพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทที่มีเค้าลางเรื่องการสะเดาะเคราะห์ ต่ออายุ เรียกว่า พระช่วยชีพ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ทรงจีวรลายดอก ซึ่งเป็นที่นิยมสร้างในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ถือเป็นพระพุทธรูปกลุ่มที่นิยมสร้างเพื่อนำไปถวายเป็นพุทธบูชา มีการเว้นที่ว่างสำหรับจารคำอธิษฐาน ขออำนาจพุทธเทวดาบันดาลให้บุตรหายป่วย แสดงให้เห็นถึงความเชื่อเรื่องการต่ออายุด้วยการอุทิศรูปเคารพ ในลักษณะเดียวกับการสร้างพระพุทธรูปถวายเจ้านายพระองค์สำคัญอย่าง พระนิรโรคันตราย พระพุทธนิรโรคันตราย หรือ พระพุทธศรีสงขลานครินทร์
พระกริ่งบาเก็ง
ศิลปะจีน พุทธศตวรรษที่ ๑๘ เป็นของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมาแต่เดิม พระเครื่องจำลองรูปพระไภษัชยคุรุ นิยมนำไปใส่ลงในภาชนะเพื่อทำน้ำมนต์ สำหรับดื่มชำระโรคภัยและใช้ประพรมเพื่อความเป็นสิริมงคล มีต้นแบบสำคัญอยู่ในประเทศทิเบต แล้วแพร่หลายต่อไปยังประเทศจีน โดยพระกริ่งกลุ่มนี้พบบนเขาพนมบาเก็ง ประเทศกัมพูชา ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีพระวินิจฉัยว่าถูกนำเข้ามาจากประเทศจีน ทั้งนี้ แม้ความเชื่อเรื่องการดื่มน้ำมนต์เพื่อรักษาโรคจะถูกลดบทบาทลงเหลือเพียงการใช้ประพรมก็ตาม แต่อำนาจพุทธคุณของพระกริ่งยังคงเป็นที่นับถือสืบมาจนปัจจุบัน
แท่นหินบดยา มีจารึกเยธมฺมาฯ
ศิลปะทวารวดี พุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล พบที่จังหวัดนครปฐม พ.ศ. ๒๕๐๗ กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ แท่นหินบดยา พบเหลือครึ่งแท่นตามแนวขวาง ใต้แท่นหินบดยา มีคาถา เยธมฺมาฯ จำนวน ๕ บรรทัด อักษร ปัลลวะ ภาษาบาลี นายเทิม มีเต็ม ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาตะวันออก (ผู้ทรงคุณวุฒิกรมศิลปากร) ได้อธิบายว่า การนำคาถาเย ธมฺมา ซึ่งเป็นหัวใจพระพุทธศาสนามาจารึกบนแท่นหินบดยาจะทำให้ตัวยาศักดิ์สิทธิ์ด้วยพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับยานี้จะพ้นจากโรคคือการพ้นจากทุกข์ ปัจจุบันพบแท่นหินบดยาที่มีจารึกคาถาเยธมฺมาเพียง ๒ ชิ้น จึงนับเป็นหลักฐานสำคัญที่สะท้อนความเชื่อและความศรัทธาของผู้คนในสมัยทวารวดีที่มีต่อพระพุทธศาสนาและปรุงยารักษาโรค
หน้ากากให้ยาสลบแบบชิมเมลบุช สเตนเลส
พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน
หน้ากากชิมเมลบุช เป็นเครื่องมือทางวิสัญญีวิทยา ประดิษฐ์ขึ้นในปี พ.ศ. 2433 โดย นพ.เคอร์ท ชิมเมลบุช ศัลยกรรมชาวเยอรมัน มีลักษณะเป็นตะแกรงหน้ากากโปร่ง หุ้มด้วยผ้าสำสีหรือผ้าก็อซสำหรับหยดยาสลบ แล้วนำไปครอบจมูกและปากให้ผู้ป่วยสูดดม ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ยุคเริ่มแรกสำหรับการผ่าตัดภายในโรงพยาบาลศิริราช เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกแก่ศัลยแพทย์ในการผ่าตัดให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และลดอาการเจ็บปวดของผู้ป่วยได้อย่างดี
ประติมากรรมฤาษีดัดตน
ศิลปะรัตนโกสินทร์ คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมการแพทย์แผนโบราณ และศิลปวิทยาการครั้งกรุงศรีอยุธยาไว้ ทรงพระราชดำริเอาท่าดัดตนของโยคีอินเดียที่เป็นการออกกำลังกายที่ใช้ศิลปะ เพื่อการมีสุขภาพที่แข็งแรง และแก้ปวดเมื่อย ปั้นด้วยดินเป็นฤาษีดัดตนท่าต่างๆ ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้หล่อเป็นเนื้อชิน
ปืนกลพระสุบินบันดาล
ศิลปะรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ ๔) คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างขึ้น ตามที่ทรงพระสุบินว่ามีปืนอย่างหนึ่งซึ่งเป็นรูปปืนใหญ่แต่ยิงได้หลายๆ นัด ตั้งไว้ที่หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างปืนตามกระแสพระสุบิน เมื่อสร้างเสร็จ ทอดพระเนตรแล้วก็รับสั่งว่าไม่เหมือนที่ทรงพระสุบิน แต่ยิงได้หลายนัดคล้ายคลึงกัน จึงพระราชทานชื่อว่า “พระสุบินบันดาล”
(จำนวนผู้เข้าชม 2998 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน