สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ไปทรงเปิดอุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธม จังหวัดสระแก้ว

          วันอาทิตย์ที่ ๑๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ เวลา ๐๙.๔๓ น. สมเด็จพระกนิษฐาธิ ราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธม ในการนี้ นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมศิลปากร พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารกรมศิลปากร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ประชาชนในพื้นที่ เฝ้าฯ รับเสด็จ ณ อุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธม อำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว













          โอกาสนี้ ทรงกดปุ่มเปิดแพรคลุมป้ายอุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธม และทอดพระเนตรนิทรรศการภายในศูนย์บริการข้อมูล ซึ่งจัดแสดงเรื่องราวของปราสาทสด๊กก๊อกธม ความรู้เกี่ยวกับ “ปราสาท” สถาปัตยกรรมวัฒนธรรมเขมร เนื้อหาของจารึกสด๊กก๊อกธม รวมถึงการอนุรักษ์และบูรณะปราสาทสด๊กก๊อกธม ผ่านนิทรรศการสื่อผสม ทั้งป้ายคำบรรยาย หุ่นจำลองสามมิติ สื่อวีดีทัศน์ และการจัดแสดงโบราณวัตถุต่าง ๆ จากนั้นทรงประทับรถไฟฟ้าพระที่นั่ง เสด็จฯ ไปยังปราสาทสด๊กก๊อกธมทอดพระเนตรปราสาทสด๊กก๊อกธม ศาสนสถานในศาสนาฮินดูแบบไศวนิกาย ในรูปแบบศิลปะเขมรในประเทศไทยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกของประเทศไทย สร้างขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๑๕๙๕ ตามพระราชบัญชาของพระเจ้าอุทยาทิตยวรมันที่ ๒ กษัตริย์เขมร เพื่อพระราชทานแด่ “พระกัมรเตงอัญศรีชเยนทรวรมัน” พระราชครูของพระองค์









          ปราสาทสด๊กก๊อกธมนี้ เดิมชาวบ้านเรียกว่า ปราสาทเมืองพร้าว เนื่องจากเคยมีคนหลงเข้ามาใน บริเวณนี้และพบต้นมะพร้าว ต่อมามีการเรียกชื่อปราสาทเป็นภาษาเขมรว่า “สด๊กก๊อกธม” แปลว่า รกไปด้วย ต้นกกขนาดใหญ่ ปราสาทสด๊กก๊อกธมเป็นที่รู้จักครั้งแรกในพุทธศักราช ๒๔๔๔ โดยนายเอเตียน เอโมนิเยร์ นักวิชาการชาวฝรั่งเศสได้บรรยายถึงสภาพปราสาทไว้ในฐานะโบราณสถานที่มีความโดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งที่มนุษย์สร้างไว้ด้วยหิน และพบศิลาจารึกที่มีความสำคัญเหนือจารึกใด ๆ ในเขมรทั้งหมด ปราสาทสร้างด้วยหินทรายและศิลาแลง วางผังตามแนวแกนทิศตะวันออก – ตะวันตก มีทางเดินมุ่งเข้าสู่จุดศูนย์กลาง คือ ปราสาทประธาน คติการสร้างเป็นการจำลองเขาไกลาศ ที่ประทับของพระศิวะ กล่าวคือปราสาทประธาน เปรียบเสมือนเขาไกลาศ และทางดำเนินที่มุ่งเข้าหาปราสาทประธานเปรียบเสมือนสะพานที่เชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับสวรรค์ที่เป็นที่ประทับของเทพเจ้า
          กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานปราสาทสด๊กก๊อกธมครั้งแรก เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๘ และกำหนดเขตพื้นที่โบราณสถาน ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๔ ตอนพิเศษ ๘๑ ง วันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๔๐ รวมพื้นที่โบราณสถาน ๖๔๑ ไร่ ๒ งาน ๘๒ ตารางวา ต่อมาพุทธศักราช ๒๕๓๘ - ๒๕๕๓ กรมศิลปากรได้ดำเนินโครงการอนุรักษ์และพัฒนาปราสาทสด๊กก๊อกธม โดยดำเนินงานทางโบราณคดี และบูรณะปราสาทด้วยวิธีอนัสติโลซิส ซึ่งเป็นวิธีประกอบรูปโบราณสถานขึ้นจากซากปรักหักพัง ให้กลับมามีสภาพที่รักษาความเป็นของแท้และดั้งเดิมให้ได้มากที่สุด จากนั้นได้ดำเนินการจัดสร้างศูนย์บริการข้อมูล และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ สำหรับจัดตั้งเป็นอุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธม



(จำนวนผู้เข้าชม 1069 ครั้ง)

Messenger