เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
ประติมากรรมดินเผารูปสิงห์ : ประติมากรรมประดับฝาภาชนะสมัยทวารวดี
ประติมากรรมดินเผารูปสิงห์ ขุนสุพรรณธานี อดีตนายอำเภออู่ทองมอบให้เมื่อ ๑ กรกฎาคม ๒๕๐๙ จัดแสดง ณ ห้องอู่ทองศรีทวารวดี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
ประติมากรรมดินเผารูปสิงห์ ขนาดกว้าง ๘ เซนติเมตร สูง ๘.๓ เซนติเมตร สิงห์มีใบหน้ากลม มีคิ้วเป็นสันนูนต่อกันคล้ายปีกกา ดวงตากลมโต จมูกใหญ่ อ้าปากแยกเขี้ยวยิงฟัน มีแผงคอเป็นเม็ดกลมเรียงกันเป็นรูปสามเหลี่ยม อยู่ในท่านอนหมอบเอี้ยวตัว สองเท้าหน้ายื่นออกมาวางชิดกัน สองเท้าหลังวางพาดมาด้านหน้าลำตัวโดยขาซ้ายทับขาขวา ด้านหลังมีแนวสันหลังยกเป็นสันต่อด้วยหางยาวม้วนมาด้านหน้าสอดอยู่ใต้ขาหลัง มีการเจาะรูกลมสองรูบริเวณต้นขาหน้าด้านซ้าย และด้านหลังต้นขาหน้าด้านขวา แต่รูดังกล่าวไม่ได้เจาะทะลุถึงกัน ด้านล่างของประติมากรรมเป็นฐานกลม โค้งมนรองรับประติมากรรม ด้านในฐานกลวง สันนิษฐานว่าอาจเป็นส่วนฝาของภาชนะ ดังนั้นประติมากรรมรูปสิงห์ชิ้นนี้จึงอาจเป็นประติมากรรมประดับบนฝาภาชนะหรือเป็นส่วนจุกของฝาภาชนะดินเผาก็เป็นได้ กำหนดอายุสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๔ หรือประมาณ ๑,๒๐๐ – ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว
ฝาภาชนะดินเผาสมัยทวารวดี พบทั้งฝาขนาดเล็กที่ขึ้นรูปด้วยมืออย่างหยาบ ๆ และฝาที่ขึ้นรูปด้วยแป้นหมุน ผลิตด้วยฝีมือประณีตและมีการตกแต่งอย่างงดงาม พบทั้งฝาที่มียอดเป็นปุ่มมนหรือแหลม และฝาที่มีประติมากรรมรูปสัตว์ประดับ นอกจากประติมากรรมรูปสิงห์ชิ้นนี้แล้ว ยังพบฝาภาชนะดินเผาที่มีรูปสิงห์ประดับที่เมืองโบราณซับจำปา จังหวัดลพบุรี จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ จังหวัดลพบุรี อีกด้วย
ประติมากรรมดินเผารูปสิงห์ชิ้นนี้ ผลิตขึ้นด้วยฝีมือประณีตและแสดงถึงอารมณ์ที่ปรากฏบนใบหน้าอย่างชัดเจน สิงห์ถือเป็นสัตว์มงคลที่พบมากในงานศิลปกรรมสมัยทวารวดี ซึ่งพบทั้งบนตราดินเผา ประติมากรรมดินเผา และประติมากรรมปูนปั้นประดับศาสนสถาน จึงสันนิษฐานได้ว่า ประติมากรรมชิ้นนี้น่าจะเป็นประติมากรรมประดับฝาของภาชนะที่มีความสำคัญ อาจใช้สำหรับบรรจุของที่ใช้ในพิธีกรรม ที่มีความเกี่ยวข้องกับศาสนา ความเชื่อ หรืออาจเป็นเครื่องใช้ของบุคคลชั้นสูง ก็เป็นได้
-------------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล :
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
-------------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
ผาสุข อินทราวุธ. ดรรชนีภาชนะดินเผาสมัยทวารวดี. กรุงเทพฯ : ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ, ๒๕๒๘. อนุสรณ์ คุณประกิจ. “การศึกษาคติและรูปแบบประติมากรรมดินเผาขนาดเล็กสมัยทวารวดีที่พบในบริเวณ ภาคกลางของประเทศไทย”. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัย ประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๒๙.
(จำนวนผู้เข้าชม 2114 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน