ก่อนประวัติศาสตร์ แรกเริ่มประวัติศาสตร์ ที่ตำบลในวงเหนือ-ในวงใต้ อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง ตอนที่ ๑ : รู้จัก “ในวง”
ความเป็นมา
          จังหวัดระนองตั้งอยู่ภาคใต้ฝั่งตะวันตกหรือฝั่งทะเลอันดามัน ในอดีตเป็นพื้นที่ที่สามารถรับและแลกเปลี่ยนอารยธรรมจากภายนอกที่ผ่านเข้ามาทั้งทางบกและทางทะเล ดังปรากฏหลักฐานของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ – แรกเริ่มประวัติศาสตร์ ที่เคยมีการสำรวจพบแหล่งโบราณคดีในพื้นที่ตำบลในวงเหนือและในวงใต้ อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง เช่น แหล่งโบราณคดีถ้ำกลุ่มหมอลำ ถ้ำประกายเพชร ถ้ำเสือ และ ถ้ำน้ำลอด
          ระยะต่อมาปรากฏร่องรอยหลักฐานเมืองท่าโบราณยุคแรกเริ่มประวัติศาสตร์ เช่น แหล่งโบราณคดีปากจั่น อำเภอกระบุรี และกลุ่มแหล่งโบราณคดีภูเขาทอง อำเภอสุขสำราญ โดยพบลูกปัดที่ทำจากแก้ว หิน และทองคำ และโบราณวัตถุอื่นๆ อีกจำนวนมากที่แสดงถึงการติดต่อกับอินเดียอย่างชัดเจน รวมทั้งล่าสุดพบหลักฐานซากเรือโบราณที่หาดปากคลองกล้วย ใกล้กับแหล่งโบราณคดีภูเขาทอง ยิ่งทำให้เชื่อได้ว่าพื้นที่แถบนี้ในอดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการค้าทางทะเล การเผยแผ่ศาสนา ความเชื่อ และการแลกเปลี่ยนอารยธรรมจากภายนอก เมื่อประมาณ ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว
ที่ตั้งและสภาพโดยทั่วไป
          ตำบลในวงเหนือและตำบลในวงใต้ เป็นตำบลที่ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออก ของอำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง ห่างจากที่ว่าการอำเภอละอุ่นประมาณ ๒๐ กิโลเมตร จากลักษณะทางกายภาพที่มีภูเขาล้อมรอบพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นวงนี้ จึงได้ถูกเรียกว่า “ในวง” ในช่วงปี พ.ศ.๒๕๒๗-๒๕๒๘ เริ่มมีราษฎรโดยเฉพาะจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยทยอยเข้ามาอยู่อาศัยและทำเกษตรกรรม จนปัจจุบันมีความอุดมสมบูรณ์ และเกิดการผสมสานทางวัฒนธรรมอีกด้วย
          ข้อมูลตามประวัติตำบลละอุ่นเหนือ กล่าวถึงคำว่า "ละอุ่น" มาจากชื่อนายอุ่น คนแรกที่เข้ามาอยู่ โดยอพยพมาจากภาคอีสาน ซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่า "ตาลาวอุ่น" หรือ "ลาวอุ่น" ซึ่งเป็นคำที่คนทางภาคใต้ใช้เรียกคนอีสานว่า "ลาว" ต่อมาเมื่อเป็นชุมชนก็มีการเรียกชื่อชุมชนว่า "ลาวอุ่น" และคนภาคใต้ชอบใช้คำสรรพนามสั้นๆ จึงกร่อนคำเหลือเพียง "ละอุ่น" จึงสันนิษฐานว่าต่อมาได้ใช้คำว่า “ละอุ่น” ใช้ตั้งเป็นชื่อของอำเภอและตำบลในพื้นที่บริเวณนี้
ลักษณะทางภูมิศาสตร์
          ลักษณะภูมิศาสตร์บริเวณพื้นที่ตำบลในวงเหนือและในวงใต้ ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาและภูเขาสูงสลับซับซ้อน มียอดเขาสูงโดยเฉลี่ย ๓๐๐ – ๕๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล บางบริเวณเป็นพื้นที่ลาดเชิงเขา เนินเขา และที่ราบลุ่มระหว่างหุบเขา ตอนกลางของพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบลูกเนินสลับภูเขาหินปูนที่มีผนังสูงชันและมียอดแหลมๆ มากมายหลายยอดซ้อนกัน ส่วนพื้นที่ด้านทิศตะวันออกเป็นพื้นที่ที่มีความลาดชันเพิ่มตามระดับและเป็นพื้นที่ต้นน้ำ
          บริเวณพื้นที่ใจกลางตำบลในวงเหนือและในวงใต้ มีลักษณะทางธรณีวิทยาที่มีชุดหินเป็นหินปูน หินปูนเนื้อโดโลไมต์ มีเชิร์ตแทรกเป็นก้อนและเป็นชั้น หินโดโลไมต์ มีซากฟูซูลินิด หอยแบรคิโอพอด ปะการัง และ ไบรโอซัว จัดเป็นหินยุคเพอร์เมียน (อายุประมาณ ๒๘๖-๒๔๕ ล้านปี) ส่วนมากมีลักษณะเป็น เขาโดด จัดอยู่ในกลุ่มหินราชบุรี ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วเป็นหินปูนและโดโลไมต์ แสดงลักษณะภูมิประเทศแบบคาสต(karst) ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของการกร่อนของเขาหินปูน โดยจะมีเขาโดดๆ รูปร่างต่างๆ มีถ้ำและเพิงผา ซึ่งภายในพบหินงอกหินย้อย
ประวัติการศึกษา/ดำเนินการ ที่ผ่านมาของกรมศิลปากร
พ.ศ. ๒๕๔๒ สำรวจพบแหล่งโบราณคดี “ถ้ำกลุ่มหมอลำ” ในเขตหมู่ที่ ๓ ตำบลในวงเหนือ อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง บริเวณที่พักสงฆ์ปัญจการุณ พบโบราณวัตถุ ได้แก่ เศษภาชนะดินเผา และชิ้นส่วนโครงกระดูกมนุษย์ สันนิษฐานว่าใช้เป็นที่พักอาศัยชั่วคราวและที่ฝังศพของมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ – แรกเริ่มประวัติศาสตร์
          พ.ศ. ๒๕๔๘ สำรวจพบแหล่งโบราณคดีถ้ำประกายเพชร พบร่องรอยหลักฐานของมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ อายุประมาณ ๔,๐๐๐ – ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว ได้แก่ ชิ้นส่วนภาชนะดินเผา และชิ้นส่วนกระดูกสัตว์ เป็นหลักฐานที่สามารถบอกได้ว่าในพื้นที่อำเภอละอุ่น มีการเข้ามาอยู่อาศัยของมนุษย์ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ และสามารถใช้เป็นตัวแทนในการอธิบายภาพรวมการกระจายตัวของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี
          พ.ศ. ๒๕๕๓ สำรวจแหล่งโบราณคดีในพื้นที่ตำบลในวงเหนือและในวงใต้ อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง เพื่อตรวจสอบสมมติฐานถึงวิถีชีวิตชุมชนและตรวจสอบการกระจายตัวของวัฒนธรรมหินใหม่ และหลักฐานเกี่ยวกับหม้อสามขา พบแหล่งโบราณคดีจากการสำรวจ จำนวน ๓๐ แหล่ง ที่ปรากฏร่องรอยหลักฐานของมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ โบราณวัตถุที่พบ ได้แก่ ชิ้นส่วนภาชนะดินเผารูปแบบต่างๆ ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาสามขา เครื่องมือหิน ลูกปัดหิน ชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์และกระดูกสัตว์ เปลือกหอยน้ำจืดและน้ำเค็ม
          พ.ศ. ๒๕๕๖ สำรวจแหล่งโบราณคดีถ้ำนางนอน เขาไม้แก้ว และถ้ำประกายเพชร จากการสำรวจพบโบราณวัตถุประเภทชิ้นส่วนภาชนะดินเผา ชิ้นส่วนโครงกระดูกมนุษย์ กระดูกและฟันสัตว์
          พ.ศ. ๒๕๕๘ สำรวจแหล่งโบราณคดีถ้ำน้ำลอด จากการสำรวจพบโบราณวัตถุประเภทชิ้นส่วนภาชนะดินเผา และชิ้นส่วนกระดูกสัตว์
          พ.ศ.๒๕๖๑ กรมศิลปากร ประกาศรายชื่อโบราณสถานในเขตจังหวัดระนอง ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕ ตอนพิเศษ ๑๖๕ ง วันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๑ หน้า ๒๕ พื้นที่อำเภอละอุ่น จำนวน ๕ แห่ง ได้แก่ ๑) แหล่งโบราณคดีถ้ำประกายเพชร ๒) แหล่งโบราณคดีถ้ำนางนอน-เขาไม้แก้ว ๓) แหล่งโบราณคดีถ้ำกลุ่มหมอลำ ๔) แหล่งโบราณคดีถ้ำเสือ ๕) แหล่งโบราณดีถ้ำน้ำลอด
          วันที่ ๒๓-๒๕ เมษายน ๒๕๖๒ สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช สำรวจแหล่งโบราณคดีในพื้นที่ตำบลในวงเหนือและ ในวงใต้ อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง พบแหล่งโบราณคดีจำนวน ๑๒ แหล่ง ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ – แรกเริ่มประวัติศาสตร์
          วันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๖๒ สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช สำรวจแหล่งโบราณคดีเพิ่มเติมในพื้นที่กลุ่มถ้ำฉานผึ้ง ตำบลในวงใต้ อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง พบแหล่งโบราณคดีจำนวน ๒ แหล่ง ได้แก่ ถ้ำฉานผึ้ง ๓ และถ้ำฉานผึ้ง ๔
          วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช สำรวจแหล่งโบราณคดีในพื้นที่กลุ่มถ้ำฉานผึ้ง ตำบลในวงใต้ อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง พบแหล่งโบราณคดีจำนวน ๑ แหล่ง ได้แก่ ถ้ำฉานผึ้ง ๕
แหล่งโบราณคดีและหลักฐานที่พบจากการสำรวจ
          จากประวัติการศึกษาและการสำรวจทางโบราณคดีบริเวณกลุ่มภูเขาหินปูน ในพื้นที่ตำบลในวงเหนือและตำบลในวงใต้ ที่ผ่านมา พบแหล่งโบราณคดี ๑๖ แหล่ง ได้แก่ ๑. แหล่งโบราณคดีถ้ำกลุ่มหมอลำ ๑ หมู่ที่ ๓ บ้านหมอลำ ตำบลในวงเหนือ ๒. แหล่งโบราณคดีถ้ำกลุ่มหมอลำ ๒ หมู่ที่ ๓ บ้านหมอลำ ตำบลในวงเหนือ ๓. แหล่งโบราณคดีถ้ำกลุ่มหมอลำ ๓ หมู่ที่ ๓ บ้านหมอลำ ตำบลในวงเหนือ ๔. แหล่งโบราณคดีถ้ำกลุ่มหมอลำ ๔ หมู่ที่ ๓ บ้านหมอลำ ตำบลในวงเหนือ ๕. แหล่งโบราณคดีถ้ำกลุ่มหมอลำ ๕ หมู่ที่ ๓ บ้านหมอลำ ตำบลในวงเหนือ ๖. แหล่งโบราณคดีถ้ำฉานผึ้ง ๑ หมู่ที่ ๒ บ้านเนินทอง ตำบลในวงใต้ ๗. แหล่งโบราณคดีถ้ำฉานผึ้ง ๒ หมู่ที่ ๒ บ้านเนินทอง ตำบลในวงใต้ ๘. แหล่งโบราณคดีถ้ำฉานผึ้ง ๓ หมู่ที่ ๒ บ้านเนินทอง ตำบลในวงใต้ ๙. แหล่งโบราณคดีถ้ำฉานผึ้ง ๔ หมู่ที่ ๒ บ้านเนินทอง ตำบลในวงใต้ ๑๐. แหล่งโบราณคดีถ้ำฉานผึ้ง ๕ หมู่ที่ ๒ บ้านเนินทอง ตำบลในวงใต้ ๑๑. แหล่งโบราณคดีถ้ำเสือ หมู่ที่ ๒ บ้านคอกช้าง ตำบลในวงเหนือ ๑๒. แหล่งโบราณคดีถ้ำนางนอน-เขาไม้แก้ว หมู่ที่ ๒ บ้านคอกช้าง ตำบลในวงเหนือ ๑๓. แหล่งโบราณคดีถ้ำประกายเพชร ๑ หมู่ที่ ๒ บ้านคอกช้าง ตำบลในวงเหนือ ๑๔. แหล่งโบราณคดีถ้ำประกายเพชร ๒ หมู่ที่ ๒ บ้านคอกช้าง ตำบลในวงเหนือ ๑๕. แหล่งโบราณคดีถ้ำหนัดได หมู่ที่ ๒ บ้านคอกช้าง ตำบลในวงเหนือ ๑๖. แหล่งโบราณคดีถ้ำน้ำลอด หมู่ที่ ๒ บ้านเนินทอง ตำบลในวงใต้


































--------------------------------------------------------
สำรวจ/เรียบเรียง/กราฟิก : ธวัชชัย ชั้นไพศาลศิลป์ นักโบราณคดีชำนาญการ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช
--------------------------------------------------------

อ้างอิง
๑. กรมทรัพยากรธรณี. สำนักธรณีวิทยา. แผนที่ธรณีวิทยาจังหวัดระนอง ปี ๒๕๕๐. กรุงเทพฯ: กรมทรัพยากรธรณี, ๒๕๕๐.
๒. กรมแผนที่ทหาร. อำเภอละอุ่น. ระวาง 4729 II. แผนที่ประเทศไทย ลำดับชุด L 7018. 2543. มาตราส่วน 1 : 50,000.
๓. กรมศิลปากร. สำนักโบราณคดี. รายงานเบื้องต้นการสำรวจแหล่งโบราณคดีในพื้นที่ ตำบลในวงเหนือ และตำบลในวงใต้ อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง. ๒๕๕๓.
๔. สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช. กลุ่มโบราณคดีและอนุรักษ์โบราณสถาน สาขาภูเก็ต. รายงานการสำรวจแหล่งโบราณคดีในพื้นที่ในวงเหนือและในวงใต้ อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง. ๒๕๖๒.
๕. สำนักงานศิลปากรที่ ๑๕ ภูเก็ต. กลุ่มวิชาการโบราณคดี. แหล่งโบราณคดีถ้ำประกายเพชร ตำบลในวงเหนือ อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง. ๒๕๔๘.
๖. สำนักศิลปากรที่ ๑๕ ภูเก็ต. กลุ่มโบราณคดี. รายงานการสำรวจแหล่งโบราณคดีถ้ำน้ำลอด บ้านเนินทอง หมู่ ๒ ตำบลในวงใต้ อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง. ๒๕๕๘. ๗. องค์การบริหารส่วนตำบลละอุ่นเหนือ. ประวัติตำบลละอุ่นเหนือ. เข้าถึงเมื่อ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๒, เข้าถึงได้จาก http://www.launnuae.go.th/history.php

(จำนวนผู้เข้าชม 3719 ครั้ง)

Messenger