เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
กระเบื้องเชิงชายสมัยอยุธยา
กระเบื้องเชิงชาย คือ กระเบื้องแผ่นปลายสุดของชายคา เป็นองค์ประกอบสำคัญของเครื่องมุงหลังคาสถาปัตยกรรมโบราณ ใช้ประดับเรียงรายโดยอุดชายคากระเบื้องลอน เพื่อให้เกิดความงามของแนวชายคา ป้องกันฝนสาดเข้าไปตามช่องของลอนกระเบื้องมุง รวมทั้งป้องกันสัตว์ไม่ให้เข้าไปทำรังและทำลายโครงสร้างภายในอาคารได้ จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กระเบื้องหน้าอุด
กระเบื้องเชิงชายโดยทั่วไปมีลักษณะเป็นทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่วหรือสามเหลี่ยมด้านเท่า มีเดือยออกทางด้านหลังเพื่อเสียบเข้าไปในลอนกระเบื้องมุง ทำด้วยดินเผา สันนิษฐานว่าช่างโบราณเลือกเทคนิคการทำด้วยวิธีการพิมพ์จากแบบ ซึ่งลวดลายบนกระเบื้องเชิงชายเป็นลายนูนต่ำ ตัวลายมีความกลมมน ละเว้นรายละเอียดที่มากเกินไป เพราะสะดวกต่อการถอดพิมพ์ นอกจากนี้การทำลวดลายบนกระเบื้องเชิงชายที่จะประดับบนหลังคาเดียวกันให้เหมือนและเท่ากันนั้นยากด้วยวิธีการปั้นแบบอิสระ
สิ่งก่อสร้างในสมัยอยุธยาที่ใช้กระเบื้องเชิงชายสามารถแบ่งออกได้ตามลักษณะการใช้ประโยชน์ได้ ๒ ประเภท คือ ประเภทศาสนสถาน ได้แก่ อุโบสถ วิหาร กุฏิ ซุ้มประตู และประเภทที่อยู่อาศัย ได้แก่ พระมหาปราสาท พระที่นั่ง ตำหนัก ซึ่งกระเบื้องเชิงชายใช้กับอาคารของชนชั้นสูง สอดคล้องกับการตกแต่งลวดลายบนกระเบื้องเชิงชายด้วยรูปภาพที่มีความหมายทางประติมานวิทยา เช่น รูปเทพนม รูปดอกบัว ทำให้สันนิษฐานได้ว่ากระเบื้องเชิงชายแต่ละชิ้นน่าจะเป็นสัญลักษณ์ของวิมานที่สถิตของเทวดา เป็นการส่งเสริมความสำคัญของอาคารนั้น ๆ และแสดงฐานะของผู้ใช้อาคารให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ลวดลายที่ปรากฏบนกระเบื้องเชิงชาย ได้แก่ ลายดอกบัว ลายเทพนม ลายหน้ากาล ลายพันธุ์พฤกษา ลายครุฑยุดนาค จากการสำรวจกระเบื้องเชิงชายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร พบกระเบื้องเชิงชายลวดลายดอกบัว โดยดอกบัวเป็นเครื่องหมายของความบริสุทธิ์ ความสมบูรณ์ ในพุทธศาสนาใช้เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการกำเนิดขององค์พระศาสดา ดังความในพระไตรปิฎกว่า “...สีเส ปฐวิ โปกขเร อภิเลเก สพพพุทธานํ...” หมายความว่า แผ่นดินคือดอกบัว เป็นที่อุบัติตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายนั้น จึงนิยมสร้างงานศิลปกรรมเป็นรูปพระพุทธเจ้าประทับอยู่เหนือดอกบัว ต่อมาลายดอกบัวได้มีการปรับเปลี่ยนเป็นลายลายกระหนก
ลายเทพนมที่ตกแต่งบนกระเบื้องเชิงชายเป็นภาพเทวดาครึ่งตัวประนมมือเสมอพระอุระอยู่เหนือดอกบัว เป็นลวดลายที่พบในงานศิลปกรรมไทยทั่วไป เช่น ในงานจิตรกรรม ลายพุ่มหน้าบิณฑ์เทพนม ลายก้านขดเทพนม ลายเทพนมบนเครื่องถ้วยเบญจรงค์ ในงานประติมากรรม พบที่กระเบื้องเชิงชาย หน้าบัน บันแถลงประตูหน้าต่างของโบสถ์หรือวิหาร เป็นต้น ซึ่งกระเบื้องเชิงชายที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร กำหนดอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๓
--------------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร : Kamphaeng Phet National Museum https://www.facebook.com/kamphaengphetnationalmuseum/posts/3796695317123532
-------------------------------------------------------
บรรณานุกรม - ประทีป เพ็งตะโก. “กระเบื้องเชิงชายสมัยอยุธยา.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร. ๒๕๔๐. - วิบูลย์ ลี้สุวรรณ. พจนานุกรมศัพท์ศิลปกรรมไทย. นนทบุรี : เมืองโบราณ, ๒๕๕๙. - สันติ เล็กสุขุม. งานช่าง คำช่างโบราณ. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๕๗.
(จำนวนผู้เข้าชม 2044 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน