โรงละครปรีดาลัย ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ โรงมหรสพแห่งแรกในสยาม
          โรงละครปรีดาลัย ได้ถือกำเนิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นโรงละครแบบตะวันตกที่โอ่อ่าและทันสมัยที่สุดในยุคนั้น ตั้งขึ้นในบริเวณวังวรวรรณ อยู่ด้านทิศเหนือของสะพานช้างข้างโรงสี อันเป็นที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ สร้างตามแบบอย่างโรงละครหรือโอเปร่าของตะวันตก มีการแบ่งที่นั่งเป็นส่วน ๆ ตรงกลางเป็นที่นั่งของเจ้านาย ชนชั้นสูง ผู้มีบรรดาศักดิ์ ด้านข้างเป็นที่นั่งสำหรับผู้ติดตาม บุคคลทั่วไป มีบาร์ขายเครื่องดื่มและอาหารว่าง จัดแสดงเฉพาะวันเสาร์และวันอาทิตย์
          พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ (พระองค์เจ้าวรวรรณากร) เป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ ๔ ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเขียน ณวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๔ ทรงเป็นต้นราชสกุล วรวรรณ ทรงเริ่มรับราชการครั้งแรกในหอรัษฎากรพิพัฒน์ ตำแหน่งพนักงานการเงินแผ่นดิน ต่อมาทรงดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมพระคลังมหาสมบัติ และ พ.ศ. ๒๔๓๓ ทรงดำรงตำแหน่งรองเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ยังทรงเป็นสภานายกของหอพระสมุดวชิรญาณอีกด้วย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เจ้านายผู้ทรงสนใจศิลปะการละคร ได้รับการปลูกฝังจากเจ้าจอมมารดาเขียน พระมารดา ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ พระองค์ได้ทรงนิพนธ์บทละครร้องมากมายนับร้อยเรื่อง ทรงพัฒนาปรับปรุงจากการแสดงละครไทยผสมรวมกับการแสดงแบบตะวันตก กลายเป็นละครร้องรูปแบบหนึ่งเกิดขึ้น เรียกว่า ละครปรีดาลัย ซึ่งผู้แสดงเป็นผู้หญิงล้วน ๆ เป็นละครร้องเพลงไทย มีบทเป็นพื้นใช้เจรจาแทรกตามเนื้อเรื่อง ซึ่งรัชกาลที่ ๕ ก็เคยเสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรละครเป็นการส่วนพระองค์หลายครั้ง และยังโปรดฯ ให้เล่นละครเพื่อต้อนรับราชทูตชาวตะวันตก ณ พระราชวังดุสิตอีกด้วย โรงละครแห่งนี้จึงเป็นโรงมหรสพของชาววังและ ชนชั้นสูงที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น เมื่อราว พ.ศ. ๒๔๕๔ พระองค์ได้หยิบยกตำนานรักของไทยเรื่อง อำแดงนาก มาทรงนิพนธ์เป็นบทละครร้องชื่อเรื่องว่า อีนากพระโขนง ละครร้องเรื่องนี้นับเป็นละครร้องเรื่องแรกที่ได้แสดงในโรงละครปรีดาลัย และได้กลายเป็นนิยายรักสยองขวัญสุดคลาสสิคที่ถูกนำมาสร้างในรูปแบบภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ และละครเวทีในยุคสมัยต่อมา โรงละครปรีดาลัยได้กลับมาเฟื่องฟูอีกยุคหนึ่งภายใต้การดูแลของพระนางเธอลักษมีลาวัณ พระธิดา ได้ทรงฟื้นฟูการละครฯ ของพระบิดาอีกครั้ง ได้ปรับเปลี่ยนการแสดงโดยใช้นักแสดงชายจริงหญิงแท้ และวงดนตรีสากลเข้ามา และทรงนิพนธ์บทละครบางเรื่องขึ้นด้วย จนกระทั่ง พระนางเธอลักษมีลาวัณเสด็จไปประทับ ณ ทวีปยุโรป ละครปรีดาลัยจึงได้ปิดตัวลงเมื่อราว พ.ศ. ๒๔๗๐ เมื่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ สิ้นพระชนม์ในสมัยรัชกาลที่ ๗ วังวรวรรณตกอยู่ในความดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ต่อมาขุนแพร่นครนฤเบศร์ (เหรียญ ตะละภัฏ) ได้ขอเช่าวังแห่งนี้จากสำนักงานทรัพย์สินฯ จัดตั้งเป็นโรงเรียนตะละภัฏศึกษา จนกระทั่งโรงเรียนแห่งนี้ได้ปิดกิจการลงใน พ.ศ. ๒๕๓๘ ปัจจุบันอาคารส่วนหนึ่งใช้เป็นสำนักงานสมหมาย ตะละภัฏ ทนายความ ของนายกัลลวัตร ตะละภัฏ ประธานชมรมแพร่งนรา อาคารแห่งนี้ครั้งหนึ่งได้เคยเป็นโรงละครปรีดาลัย แหล่งบันเทิงที่นิยมสูงสุดของชาววังตลอดจนบุคคลภายนอก อีกหนึ่งสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่าที่ให้เราได้ชมความงดงามจนมาถึง ทุกวันนี้






------------------------------------------------------
เรียบเรียงข้อมูล : อุดมพร เข็มเฉลิม บรรณารักษ์ชำนาญการ กลุ่มบริการทรัพยากรสารสนเทศ สำนักหอสมุดแห่งชาติ
------------------------------------------------------
บรรณานุกรม
ปรียา ม่านโคกสูง และคนอื่น ๆ, บรรณาธิการ. บางกอก เล่าเรื่อง (วัง). กรุงเทพฯ : สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร, ๒๕๕๕. เพลินพิศ กำราญ และเนียนศิริ ตาละลักษณ์. พระประวัติและผลงานของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ นราธิปประพันธ์พงศ์. กรุงเทพฯ : ศูนย์นราธิปเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์, ๒๕๒๒. (มูลนิธิ “นราธิป ประพันธ์พงศ์ – วรวรรณ” จัดพิมพ์เนื่องในพระราชวโรกาส สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดศูนย์นราธิปเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๒๒). เอนก นาวิกมูล. เปิดตำนาน แม่นากพระโขนง. (พิมพ์ครั้งที่ ๓). กรุงเทพฯ : โนรา, ๒๕๔๙. พันธกานต์ ใบเทศ. “ ละครร้องกรมพระนราฯ: ขุมปัญญาทางการแสดงจากวังสู่บ้าน” วารสารศิลปกรรม ศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. ๒๓,๒ (กรกฎาคม – ธันวาคม ๒๕๒๒). ๙๓ – ๑๐๒.

(จำนวนผู้เข้าชม 10227 ครั้ง)