เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
ร่องรอยเก่าที่สุดของศาสนาพุทธและฮินดูที่เมืองศรีมโหสถ
เมืองศรีมโหสถ เมืองโบราณในจังหวัดปราจีนบุรีที่มีพัฒนาการตั้งแต่ก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๑ หรือกว่า ๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว ร่วมสมัยกับวัฒนธรรมฟูนัน ด้วยทำเลที่ตั้งอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำบางปะกง ติดชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ศรีมโหสถจึงเป็นทั้งเมืองท่าการค้าที่ติดต่อกับดินแดนโพ้นทะเล ศูนย์กลางการคมนาคมของบ้านเมืองตอนใน และเมืองชายฝั่งทะเลใกล้เคียง เมืองโบราณแห่งนี้จึงมีความหลากหลายในด้านศิลปวัฒนธรรม และความเชื่อทางศาสนา ที่เดินทางมาพร้อมกับผู้คนจากต่างแดน ทั้งนี้ พบหลักฐานในการประดิษฐานพระพุทธศาสนา และศาสนาฮินดูที่เก่าแก่ที่สุดเป็นลำดับต้นของประเทศไทย ดังนี้
รอยพระพุทธบาทคู่ที่เก่าที่สุด รอยพระพุทธบาทคู่ โบราณสถานสระมรกต ตำบลโคกไทย อำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรีประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑ – ๑๓ (๑,๓๐๐ - ๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว)
รอยพระพุทธบาทคู่สลักลึกลงในพื้นศิลาแลง ลักษณะฝ่าพระบาทเสมือนรอยเท้ามนุษย์จริงตามธรรมชาติ ทั้งรูปร่างและความยาวของนิ้วพระบาทที่ไม่เสมอกัน กึ่งกลางรอยพระพุทธบาทสลักเป็นรูปธรรมจักรมีกากบาทไขว้ ตรงจุดตัดกากบาทเป็นหลุมสันนิษฐานว่าเป็นหลุมสำหรับปักฉัตร กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑ – ๑๓ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นรอยพระพุทธบาทคู่ที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่ง และเป็นร่องรอยหลักฐานการนับถือพระพุทธศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งทั้งในเมืองศรีมโหสถ และดินแดนประเทศไทย
พระพุทธรูปที่เก่าที่สุด พระพุทธรูปปางสมาธิ ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑- ๑๒ (๑,๔๐๐ – ๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว) พระพุทธรูปปางสมาธิแกะสลักจากหินทราย พบในบ่อน้ำหน้าอาคารประดิษฐานรอยพระพุทธบาท โบราณสถานสระมรกต ตำบลโคกไทย อำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี ลักษณะของพระพักตร์ และองค์พระพุทธรูปมีรูปแบบที่สัมพันธ์กับวัฒนธรรมฟูนันและศิลปะอินเดียแบบอมราวดี
พระคเณศที่เก่าที่สุด พระคเณศหินทราย ประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๒ (๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว)
พระคเณศ เทพเจ้าสำคัญองค์หนึ่งในศาสนาพราหมณ์ และฮินดู เป็นโอรสของพระศิวะ กับนางปารวตี (พระอุมา) มีลักษณะอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะแตกต่างจากเทพเจ้าองค์อื่น คือ มีเศียรเป็นช้างขณะที่ร่างกายเป็นมนุษย์ พระคเณศ ได้รับการยกย่องว่าเป็นเทพเจ้าผู้รอบรู้ และได้รับการยอมรับนับถือในฐานะ เทพเจ้าแห่งศิลปวิทยา และเทพเจ้าแห่งอุปสรรค ผู้สร้างและขจัดอุปสรรคทั้งปวง
พระคเณศศิลาองค์นี้ พบเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๑๕ จากโบราณสถานหมายเลข ๒๒ หรือโบราณสถานกลางเมืองศรีมโหสถ เมืองโบราณสมัยทวารวดี พระคเณศลักษณะเหมือนช้างธรรมชาติและไม่ทรงเครื่องประดับ เทียบรูปแบบได้กับพระคเณศสมัยก่อนเมืองพระนครในศิลปะเขมร อายุราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ถือได้ว่าพระคเณศองค์นี้ เป็นพระคเณศที่เก่าแก่องค์หนึ่งในบรรดาพระคเณศที่พบในประเทศไทย และมีขนาดสูงที่สุด คือ ราว ๑.๗๐ เมตร
-----------------------------------------------------------
ผู้เรียบเรียง : นางสาววัชรี ชมภู ภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี
-----------------------------------------------------------
(จำนวนผู้เข้าชม 5504 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน