เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
เมืองโบราณเมืองหงส์ จังหวัดร้อยเอ็ด
เมืองโบราณเมืองหงส์ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของบ้านเมืองหงส์ ตำบลเมืองหงส์ อำเภอจตุรพักตรพิมาน จังหวัดร้อยเอ็ด ตัวเมืองมีลักษณะเป็นเนินดินทรงกลมรี มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ๑ ชั้น ขนาดประมาณ ๖๐๐ x ๑๐๐๐ เมตร แนวคูเมืองที่ยังคงเห็นได้ชัดเจน คือ หนองใหญ่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และ หนองฝายทางด้านทิศตะวันออก มีห้วยตะโกงเป็นแนวเชื่อมน้ำจากหนองฝายกับอ่างเก็บน้ำห้วยกุดแดง ที่อยู่ห่างจากหมู่บ้านไปทางด้านทิศใต้ประมาณ ๕๐๐ เมตร สภาพโดยรวมพบว่า แนวคูเมืองส่วนใหญ่ตื้นเขินและถูกปรับไถเป็นที่นา เหลือให้เห็นเป็นร่องน้ำแคบๆ ทั้งนี้ข้อมูลจากการสำรวจเมื่อปี ๒๕๒๗ กล่าวว่าคูเมืองเดิมมีขนาดกว้างประมาณ ๖๐ เมตร ส่วนคันดินยังคงเหลือให้เห็นบางส่วนทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ และทางด้าน ทิศใต้บริเวณด้านหลังโรงเรียนชุมชนบ้านเมืองหงส์ สภาพปัจจุบันกำแพงเมืองมีความกว้างประมาณ ๓๐ เมตร สูงประมาณ ๒ - ๓ เมตร
จากรายงานการสำรวจเมืองโบราณเมืองหงส์ของกรมศิลปากรเมื่อปี ๒๕๒๗ ได้กล่าวถึงโบราณวัตถุและร่องรอยโบราณสถานที่พบในเขตเมืองโบราณเมืองหงส์ ซึ่งไม่เหลือให้เห็นแล้วในปัจจุบัน ได้แก่ ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเนื้อดิน (Earthenware) ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเนื้อแกร่ง (Stoneware) และชิ้นส่วนภาชนะ ดินเผาเคลือบสีขาวไข่กา (Celadon) นอกจากชิ้นส่วนภาชนะดินเผาที่พบทั่วไปแล้ว ยังพบโบราณวัตถุอื่นๆ เช่น ตะกรัน หรือ ขี้แร่ (Slag) ภาชนะดินเผาบรรจุกระดูกมนุษย์ (Burial jar) โครงกระดูกมนุษย์ ตุ๊กตาดินเผารูปสัตว์ อิฐเก่า และพระพุทธรูปสำริด เป็นต้น (กรมศิลปากร : ๒๕๒๗)
นอกจากร่องรอยของโบราณสถานภายในตัวเมืองบริเวณวัดหงส์สุวรรณารามแล้ว ยังมีโบราณสถานนอกเมืองอีก ๑ แห่ง ตั้งอยู่ห่างออกไปทางด้านทิศเหนือประมาณ ๗๐๐ เมตร สภาพเหลือเพียงส่วนฐาน กรมศิลปากรได้ทำการขุดแต่งและเสริมความมั่นคงในปี ๒๕๓๕ โดยโบราณสถานหลังขุดแต่งทางโบราณคดี มีลักษณะดังนี้ องค์เจดีย์ก่อด้วยอิฐเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยาวด้านละ ๖ เมตร ทำเป็นมุขยื่นออกมาด้านละ ๓๐ เซนติเมตร สร้างซ้อนกัน ๒ ชั้น ส่วนฐานสูง ๑๔๐ เซนติเมตร ตรงกลางองค์เจดีย์มีลักษณะเป็นห้องขนาด ๒ x ๑.๕ เมตร การก่ออิฐไม่เป็นระเบียบนัก อิฐที่ก่อมีความหนาบางไม่เท่ากัน ซึ่งอาจเป็นเพราะจะต้องฉาบปูนปิดอีกที จึงไม่จำเป็นที่จะใช้อิฐขนาดเท่ากันเสมอไป หรืออาจเป็นอิฐที่ปั้นขึ้นจากศรัทธาหลายคนต่างบริจาคมาร่วมในการก่อสร้าง จึงทำให้อิฐมีขนาดไม่เท่ากัน ก่อนที่จะเริ่มก่ออิฐปรากฏหินกรวดผสมดินเหนียวและ ศิลาแลงเป็นวัสดุรองพื้น จากการขุดแต่งพบโบราณวัตถุที่สำคัญ คือ พระพุทธรูปสำริดศิลปะทวารวดี พุทธลักษณะประทับยืน สูง ๑๓.๗ เซนติเมตร กว้าง ๕ เซนติเมตร เม็ดพระศกเป็นก้นหอย ไม่มีรัศมี พระพักตร์กลม พระขนงต่อกันเป็นปีกกา พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์หนา พระกรรณยาวลงมาถึงต้นพระศอ พระศอ เป็นปล้อง ครองจีวรห่มคลุมแนบพระวรกาย ชายจีวรยาวจรดข้อพระบาท พระกรทั้งสองข้าง และพระบาท หักหายไป และยังได้พบลูกปัดหินควอทซ์สีขาว ลักษณะเป็นเม็ดกลมขนาดเส้นรอบวง ๑๑ เซนติเมตร เจาะรูทะลุตรงกลาง (กรมศิลปากร : ๒๕๓๕)
จากลักษณะของคูเมืองกำแพงเมือง เจดีย์เมืองหงส์ และโบราณวัตถุที่พบจากการสำรวจเมื่อปี ๒๕๒๗ สันนิษฐานว่าเมืองโบราณเมืองหงส์ มีพัฒนาการมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย และพัฒนาเข้าสู่ ยุคสังคมเมืองสมัยวัฒนธรรมทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๖ และวัฒนธรรมเขมร ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ – ๑๘ เนื่องจากภายในเมืองโบราณและบริเวณใกล้เคียงได้สำรวจพบภาชนะดินเผาเนื้อแกร่ง ชิ้นส่วน ไหเท้าช้าง และภาชนะเครื่องเคลือบแบบวัฒนธรรมเขมร รวมถึงมีความต่อเนื่องมาจนถึงวัฒนธรรมอีสาน - ล้านช้าง เพราะพบว่ามีการกล่าวถึงชื่อเมืองหงส์ในตำนานอุรังคธาตุ ซึ่งเป็นตำนานสำคัญทางศาสนาที่แต่งขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๓
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพื้นที่ภายในตัวเมืองโบราณยังไม่เคยทำการขุดค้นทางโบราณคดี มีแต่เพียงเจดีย์เมืองหงส์ ที่ตั้งอยู่นอกเมืองเท่านั้นที่ได้รับการขุดแต่งและพบหลักฐานเพียงสมัยทวารวดี ดังนั้น ข้อมูลเกี่ยวกับพัฒนาการของเมืองโบราณเมืองหงส์ จึงต้องมีการศึกษาทางวิชาการโบราณคดีต่อไป
--------------------------------------------------------
เรียบเรียงข้อมูลโดย นางสาวศุภภัสสร หิรัญเตียรณกุล นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี
--------------------------------------------------------
อ้างอิงจาก
กองโบราณคดี. (๒๕๒๗). รายงานการสำรวจแหล่งเมืองโบราณ บ้านเมืองหงส์ ตำบลเมืองหงส์ อำเภอจตุรพักตรพิมาน จังหวัดร้อยเอ็ด. เล่มที่ ๑/๒๕๒๗, โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), กรมศิลปากร : กองโบราณคดี. หน่วยศิลปากรที่ ๖. (๒๕๓๕). รายงานการขุดแต่งและเสริมความมั่นคงเจดีย์เมืองหงส์ อำเภอ จตุรพักตรพิมาน จังหวัดร้อยเอ็ด. ฉบับที่ ๑๘, กรมศิลปากร : กองโบราณคดี (ฝ่ายควบคุมดูแลรักษาโบราณสถาน).
(จำนวนผู้เข้าชม 2730 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน