เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
พระพิมพ์ดินเผาภาพพระพุทธรูปยืนปางแสดงธรรม จากเจดีย์หมายเลข ๙ เมืองโบราณอู่ทอง
พระพิมพ์ดินเผาภาพพระพุทธรูปยืนปางแสดงธรรม
พบจากเจดีย์หมายเลข ๙ เมืองโบราณอู่ทอง
จัดแสดง ณ ห้องอู่ทองศรีทวารวดี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
พระพิมพ์ดินเผาขนาด กว้าง ๖ เซนติเมตร สูง ๙ เซนติเมตร ภาพพระพุทธรูปยืนภายในซุ้มวงโค้ง พระพักตร์กลม พระกรรณยาว มีประภามณฑลรอบพระเศียร ครองจีวรห่มคลุม จีวรเรียบไม่มีริ้วบางแนบพระวรกาย ปรากฏขอบจีวรบริเวณพระศอ จีวรพาดผ่านข้อพระกรทั้งสองข้าง แล้วทิ้งชายลงเป็นวงโค้งเบื้องหน้า ขอบสบงและชายจีวรยาวถึงข้อพระบาท พระกรทั้งสองยกขึ้นเสมอพระอุระแสดงวิตรรกะมุทรา (ปางแสดงธรรม) ยืนในท่าสมภังค์ (ยืนตรง) บนฐานกลมประดับด้วยกลีบบัว ซุ้มด้านในประดับด้วยเสากลม ด้านนอกประดับด้วยเสาสี่เหลี่ยม ปลายกรอบซุ้มมีการตกแต่งลวดลาย ส่วนฐานยกเก็จคล้ายกับรูปแบบที่พบบนฐานของสถาปัตยกรรมทวารวดี
สุนทรียภาพโดยรวมของพระพิมพ์องค์นี้ ได้แก่ การครองจีวรห่มคลุม จีวรเรียบบางแนบพระวรกาย การยืนในท่าสมภังค์ (ยืนตรง) และแสดงวิตรรกะมุทราสองพระหัตถ์ (ปางแสดงธรรม) เป็นรูปแบบเฉพาะที่นิยมในพระพุทธรูปยืนสมัยทวารวดี ซึ่งพบทั้งพระพุทธรูปและพระพิมพ์ตามเมืองโบราณในวัฒนธรรมทวารวดี ส่วนลักษณะฐานพระพุทธรูปที่มีการยกเก็จ สันนิษฐานว่ารับอิทธิพลมาจากส่วนฐานยกเก็จของพระพุทธรูปอินเดียแบบปาละ และอาจมีความเกี่ยวข้องกับซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปที่ประดับอยู่บนผนังของสถาปัตยกรรม ประเภทเจดีย์และวิหารที่สร้างขึ้นในสมัยทวารวดี ก็เป็นได้ จึงกำหนดอายุพระพิมพ์องค์นี้ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๕ หรือประมาณ ๑,๑๐๐ – ๑,๒๐๐ ปีมาแล้ว
จากการขุดแต่งโบราณสถานหมายเลข ๙ เมืองโบราณอู่ทอง ยังมีการค้นพบพระพิมพ์ดินเผาซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างจากแม่พิมพ์รูปแบบเดียวกัน แต่มีสภาพไม่สมบูรณ์อีกจำนวนหนึ่ง พระพิมพ์เหล่านี้น่าจะสร้างขึ้นตามคติความเชื่อเรื่องการสร้างพระพิมพ์จำนวนมากเพื่อสืบอายุพระพุทธศาสนา หรือเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาตามคติความเชื่อเรื่องการสร้างบุญกุศลก็เป็นได้
-------------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
-------------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
เชษฐ์ ติงสัญชลี. ศิลปะไทย ภายใต้แรงบันดาลใจจากศิลปะอินเดียแบบปาละ. นนทบุรี : โรงพิมพ์มติชนปากเกร็ด, ๒๕๕๘. ธนกฤต ลออสุวรรณ. “การศึกษาคติความเชื่อของชุมชนโบราณสมัยทวารวดีในลุ่มแม่น้ำแม่กลองและท่า จีน: กรณีศึกษาจากพระพิมพ์ดินเผา”. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขา โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๖.
(จำนวนผู้เข้าชม 840 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน