โบราณสถานวัดธาตุประสิทธิ์ จังหวัดนครพนม

        วัดธาตุประสิทธิ์ อยู่ที่ตำบลนาหว้า อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ภายในวัดมีพระธาตุสำคัญ คือ พระธาตประสิทธิ์ ตามประวัติกล่าวว่า เป็นเจดีย์เก่าแก่ไม่ทราบว่าสร้างขึ้นมาตั้งแต่เมื่อใด ก่อนการปฏิสังขรณ์เคยชำรุดทรุดโทรมมีเถาวัลย์ปกคลุม ภายในพระธาตุมีอุโมงค์ประดิษฐานพระพุทธรูปเก่าแก่หลายองค์ ผู้ค้นพบได้แก่ชนเผ่าญ้อซึ่งหนีภัยสงครามการรบพุ่งระหว่างอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์กับพม่าและอาณาจักรเชียงใหม่ในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช เมื่อ พ.ศ. ๒๑๑๒ ซึ่งพระองค์ได้ทรงบูรณะพระธาตุองค์นี้ด้วย ต่อมาในปี พ.ศ ๒๒๘๓ เจ้าผู้ครองนครศรีโคตรบูร พระนามว่าพระเจ้าขัติยวงศาราชบุตรี มหาฤาไชยไตรทศฤาดิเดช เชษฐบุรีศรีโคตรบูรณ์หลวง ได้บูรณะเสริมยอดสูงประมาณ ๓๐ เมตร พ.ศ ๒๔๓๖ พระเจดีย์ชำรุดทรุดโทรมมาก จนยอดเจดีย์หักลงมาต่อมา พ.ศ. ๒๔๕๔ พระครูประสิทธิ์ศึกษากร เจ้าอาวาสในขณะนั้นได้ทำการปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ขึ้นใหม่ โดยสร้างเลียนแบบพระธาตุพนมบางส่วน สวดสายต่าง ๆ จะเป็นลวดลายใหม่ ลักษณะรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ ๗.๒๐ เมตร วัดโดยรอบฐาน ๒๔.๕๐ เมตร สูง ๒๔.๕๒ เมตร มีประตูเปิด-ปิด สร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ และได้ตั้งชื่อพระธาตุองค์นี้ใหม่ว่า “พระธาตุประสิทธิ์” ตามนามของพระครูประสิทธิ์ศึกษากร เจ้าอาวาสผู้ก่อสร้าง

          นอกจากนี้ ภายในวัดมีศาลาการเปรียญหลังเก่าซึ่งอยู่ด้านข้างองค์พระธาตุประสิทธิ์มีรูปทรงสวยงาม สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ ด้านในศาลาปรากฏภาพเขียนเป็นภาพพุทธประวัติ ตั้งแต่ประสูติตรัสรู้และปรินิพพานโดยแบ่งเป็น ๑๒ ตอน ได้แก่ ตอนประสูติ ตอนลองศร ตอนอภิเษก ตอนออกชมสวน ตอนเสด็จออกบรรพชา ตอนตัดพระโมฬี ตอนบำเพ็ญทุกรกิริยา ตอนถวายข้าวมธุปายาต ตอนมารผจญ-ตรัสรู้ ตอนโปรดปัญจวัคคีย์ ตอนเสด็จเยี่ยมพระนางพิมพา และตอนเสด็จปรินิพพาน
          ภาพพุทธประวัติทั้ง ๑๒ ภาพ โครงสีส่วนใหญ่เป็นสีเหลือง น้ำตาล ดำ ซึ่งเป็นสีฝุ่น ที่ภาพแรกปรากฏชื่อว่าเป็นฝีมือของหม่อมหลวงมรกต บรรจงราชฯ มีนายสิงห์ วะชุม เป็นผู้ช่วย ภาพเขียนคงจะวาดขึ้นหลังจากปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ส่วนเสาของศาลาการเปรียญเป็นเสาสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ แต่ละด้านของเสามีภาพสาวกของพระพุทธเจ้าอยู่ทุกเสา องค์สาวกห่มจีวรสีเหลืองสดใส มีพื้นหลังเป็นสีฟ้าครามทุกภาพ ด้านบนถึงด้านล่างองค์สาวกประดิษฐ์ลวดลายไทยด้วยสีน้ำตาล เหลือง พื้นสีฟ้าคราม แต่ละภาพไม่ปรากฏนามผู้วาด แต่จากลักษณะภาพเปรียบเทียบกับภาพที่ผนัง ซึ่งเป็นภาพพุทธประวัติแล้วคนวาดน่าจะเป็นคนละคนกันและต่างสมัยกันด้วย เพราะลักษณะของลายเส้นและการใช้สีต่างกัน



          ศาลาการเปรียญแห่งนี้เคยใช้เป็นที่ประทับของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ ๙) และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ในคราวเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานผ้าพระกฐินส่วนพระองค์ (พระกฐินต้น) ณ วัดธาตุประสิทธิ์ เมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๑๕ อีกด้วย

----------------------------------------------------
ข้อมูล : นางสาวเมริกา สงวนวงษ์ นักโบราณคดีปฏิบัติการ สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี
----------------------------------------------------
อ้างอิง :
คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ.๒๕๔๒.วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดนครพนม.กรุงเทพฯ:คุรุสภาลาดพร้าว.

(จำนวนผู้เข้าชม 3923 ครั้ง)

Messenger