เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
แผ่นอิฐจำหลักรูปมกร จากเจดีย์หมายเลข ๓ เมืองโบราณอู่ทอง
แผ่นอิฐจำหลักรูปมกร พบจากเจดีย์หมายเลข ๓ เมืองโบราณอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จัดแสดง ณ ห้องอู่ทองศรีทวารวดี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
แผ่นอิฐรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง ๑๖ เซนติเมตร ยาว ๒๒ เซนติเมตร หนา ๗.๕ เซนติเมตร ด้านหน้าจำหลักเป็นรูปใบหน้าของสัตว์ในมุมมองด้านข้าง เป็นรูปตา จมูกและปากของสัตว์กำลังแยกเขี้ยวยิงฟันเห็นเขี้ยวรูปสามเหลี่ยมและฟันรูปสี่เหลี่ยมเรียงเป็นแถบ สันนิษฐานว่าเป็นสัตว์ผสมที่เรียกว่า “มกร” ด้านหลังแบนเรียบ มีร่องรอยแกลบข้าวในเนื้อดิน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของอิฐที่สร้างขึ้นในสมัยทวารวดี
มกร เป็นสัตว์ผสมในจินตนาการระหว่างสัตว์บกกับสัตว์น้ำ มีลำตัวและปากคล้ายจระเข้ มีงวงเหมือนช้าง มีหางเหมือนปลา ถือเป็นสัตว์มงคล และเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ คติเรื่องมกรปรากฏทั้งในพุทธศาสนา และศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีความเชื่อว่า มกร เป็นสัตว์ผู้พิทักษ์และเป็นพาหนะของเทพเจ้า ได้แก่ พระวรุณ พระคงคา เป็นต้น
ศิลปกรรมรูปมกร ปรากฏขึ้นครั้งแรกในศิลปะอินเดียโบราณ และได้รับการสืบทอดต่อมา โดยมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบไปตามรสนิยมของแต่ละยุคสมัย ทั้งนี้ได้อิทธิพลให้กับศิลปะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อินโดนีเซีย กัมพูชา พม่า และไทย โดยพบรูปมกรทั้งในงานประติมากรรมและสถาปัตยกรรม ในสมัยทวารวดี พบการใช้รูปมกรประดับส่วนปลายพนักพุทธบัลลังก์ของพระพุทธรูปประทับห้อยพระบาท จากวัดพระเมรุ จังหวัดนครปฐม ประดับมุมส่วนฐานเจดีย์จุลประโทน จังหวัดนครปฐม และตกแต่งกรอบซุ้มประดับสถาปัตยกรรมที่เมืองคูบัว จังหวัดราชบุรี เป็นต้น
แผ่นอิฐจำหลักรูปมกรแผ่นนี้ กำหนดอายุสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๔ หรือประมาณ ๑,๒๐๐ – ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นส่วนประกอบของรูปมกรที่ประดับเจดีย์ ซึ่งอาจใช้ประดับส่วนฐานในลักษณะเดียวกับมกรที่เจดีย์จุลประโทน หรืออาจเป็นใช้ประดับปลายกรอบซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปที่ติดอยู่บนผนังของเจดีย์ก็เป็นได้
------------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
------------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
ธงกิจ นานาพูลสิน. “คติความเชื่อและรูปแบบ “มกร” ก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ในประเทศไทย”. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๒. วิภาดา อ่อนวิมล. “อิฐมีลวดลายในสมัยทวารวดี”. เอกสารการศึกษาเฉพาะบุคคล ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๖.
(จำนวนผู้เข้าชม 706 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน