ตราดินเผามีจารึก “ศรี” และสัญลักษณ์โอม พบจากเมืองโบราณอู่ทอง

ตราดินเผามีจารึก“ศรี” และสัญลักษณ์โอม
พบจากเมืองโบราณอู่ทอง
จัดแสดง ณ ห้องบรรพชนคนอู่ทอง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง

          ตราดินเผารูปกลม มีรอยประทับเป็นจารึกตัวอักษรและสัญลักษณ์ขนาดใหญ่เกือบเต็มพื้นที่ ปัจจุบันนักวิชาการมีความเห็นเกี่ยวกับตัวอักษรที่ปรากฏเหมือนกัน ว่าเป็นภาษาสันสกฤต อ่านว่า “ศรี” แต่มีความเห็นที่แตกต่างกันออกไปเรื่องรูปแบบตัวอักษรและการกำหนดอายุว่า เป็นอักษรปัลลวะ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๓ (ประมาณ ๑,๓๐๐ - ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว) หรือเป็นอักษรหลังปัลลวะ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๔ (ประมาณ ๑,๒๐๐ ๑,๓๐๐ ปีมาแล้ว) ด้านบนของตัวอักษร มีสัญลักษณ์เป็นขีดสองขีดและมีจุดกลมด้านบน ซึ่งนักวิชาการบางท่านเสนอว่าเป็นสัญลักษณ์ “โอม”
          คำว่า “ศรี” หมายถึง สิริ ดี งาม ประเสริฐ เป็นคำที่มีความเป็นมงคลที่พบประกอบอยู่กับจารึกในสมัยทวารวดีจำนวนมาก ที่สำคัญ เช่น เหรียญเงินมีจารึก “ศฺรีทฺวารวตีศฺวรปุณฺย” แปลว่า “บุญกุศลของพระราชาแห่งศรีทวารวดี” หรือ “พระเจ้าศรีทวารวดีผู้มีบุญอันประเสริฐ” พบจากเมืองโบราณสมัยทวารวดีหลายแห่ง เช่น เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมืองนครปฐมโบราณ จังหวัดนครปฐม เป็นต้น นอกจากนี้ที่เมืองโบราณอู่ทอง ยังพบชิ้นส่วนภาชนะดินเผาทรงหม้อน้ำ มีจารึกคำว่า “ศรี” บริเวณก้นภาชนะ จากการขุดแต่งโบราณสถานบ้านศรีสรรเพชญ์ ๓ สันนิษฐานว่าเป็นภาชนะสำหรับใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาเพื่อความเป็นสิริมงคล ส่วน “โอม” เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความเป็นมงคลเช่นเดียวกับคำว่า “ศรี”
          ตราดินเผาชิ้นนี้ อาจเป็นตราดินเผาที่พ่อค้า นักเดินทาง หรือนักบวชชาวอินเดีย นำติดตัวเข้ามาในดินแดนแถบนี้เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการติดต่อสื่อสาร อาจเกี่ยวข้องกับด้านการค้า การศาสนา หรือเป็นเครื่องรางเพื่อความเป็นสิริมงคล หรืออาจเป็นตราดินเผาที่ผลิตขึ้นโดยคนท้องถิ่นสมัยทวารวดี ที่ผลิตตราดินเผาขึ้นใช้เองในท้องถิ่นโดยรับอิทธิพลด้านภาษาและคติความเชื่อเรื่องสัญลักษณ์มงคลจากชาวอินเดียก็เป็นได้

-----------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
-----------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. จารึกในประเทศไทย เล่ม ๑ (อักษรปัลลวะ อักษรหลังปัลลวะ พุทธศตวรรษที่ ๑๑ – ๑๔). กรุงเทพฯ : สำนักหอสมุดแห่งชาติ, ๒๕๕๙. เด่นดาว ศิลปานนท์. โบราณสถานบ้านศรีสรรเพชญ์ ๓ ปริศนาวิหารถ้ำเมืองอู่ทอง. กรุงเทพ : อรุณการ พิมพ์, ๒๕๕๙. วิภาดา อ่อนวิมล. เหรียญตราในประเทศไทยช่วงพุทธศตวรรษที่ ๙-๑๖. วิทยานิพนธ์ปริญญา ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๖๑. อนันต์ กลิ่นโพธิ์กลับ. การศึกษาความหมายและรูปแบบตราประทับสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสต รมหาบัณฑิต สาขาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๗.

(จำนวนผู้เข้าชม 1124 ครั้ง)

Messenger