ต้นไม้ทรงปลูกในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ “ต้นกันเกรา”
          เมื่อครั้งที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นั้น ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ เมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๕๒ และเหตุการณ์ในวันนั้น กรมศิลปากรได้ทูลเกล้าฯ ถวายต้นไม้เพื่อทรงปลูกเป็นที่ระลึกเนื่องในโอกาสครั้งสำคัญนี้ คือ “ต้นกันเกรา” โดยทรงปลูกไว้ ณ บริเวณสวนด้านหน้าฝั่งขวาทางเข้าอาคารพิพิธภัณฑ์ ปัจจุบันมีอายุ ๑๒ ปี ยืนต้นแผ่กิ่งก้านชูช่อออกดอกอย่างงดงาม ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์
          “กันเกรา” (Tembusu) มีชื่อเรียกต่างกันไป ภาคกลางเรียก "กันเกรา" ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียก "มันปลา" ส่วนภาคใต้เรียก "ตำแสงหรือตำเสา" ถือเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่ง ต้นกันเกรามีลักษณะต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง ๑๕-๒๕ เมตร เปลือกสีน้ำตาลเข้ม ใบเดี่ยวออกตรงกันข้าม แผ่นใบรูปมน ปลายใบแหลมหรือยาวเรียว ใบเขียวมันวาว ดอก เมื่อเริ่มบานมีสีขาว แล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลือง กลิ่นหอม ภาษาท้องถิ่นจังหวัดสุรินทร์ เรียก “ปกาสตราว” (ดอกกันเกรา) ซึ่งในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ มีต้นกันเกราขึ้นกระจายอยู่โดยทั่วไป ดอกกันเกราจะบานสะพรั่ง ส่งกลิ่นหอมในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ประชาชนชาวสุรินทร์ นิยมนำดอกกันเกรามาร้อยเป็นพวงมาลัยคล้องคอเทศกาลสงกรานต์
          ดอกกันเกราเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดสุรินทร์และจังหวัดนครพนม นอกจากนี้ต้นกันเกรายังเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยนครพนม และมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด อีกด้วย






--------------------------------------------------
เรียบเรียงโดย : นางสาวอาภาภรณ์ เปล่งปลั่งศรี นักวิชาการวัฒนธรรม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์
--------------------------------------------------
อ้างอิง :
https://toeywanida847.wordpress.com/ต้นไม้ประจำจังหวัดสุรินทร์ สืบค้น วันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๔ http://www.m-culture.in.th/album/96187/ดอกไม้ประจำจังหวัดสุรินทร์ สืบค้น วันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๔

(จำนวนผู้เข้าชม 3828 ครั้ง)

Messenger