ขอเชิญชมเครื่องถ้วยเวียงแก้ว จากวัตถุสู่พัฒนาการวังหลวงแห่งเวียงเชียงใหม่ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่
          เวียงแก้ว หมายถึง เวียงของกษัตริย์ หรือเขตพระราชฐานที่ประทับของกษัตริย์ ตั้งอยู่ภายในเขตกำแพงเมือง ภายในประกอบด้วยอาคารหลายหลังมีหน้าที่ใช้สอยแตกต่างกัน เวียงแก้วมีมาตั้งแต่ยุคต้นของเมืองเชียงใหม่ และในยุคฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ พญากาวิละได้สร้างหอคำหรือคุ้มหลวงอยู่ในบริเวณเวียงแก้ว เดิมเรียกว่า “คุ้มเวียงแก้ว” และได้เป็นที่ประทับของกษัตริย์เมืองเชียงใหม่ สืบเนื่องยาวนานมาถึงสมัยเจ้าหลวงอินทวโรรสสุริยวงศ์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ ๘ แห่งราชวงศ์ทิพยจักร นับได้ว่าพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์เชียงใหม่องค์สุดท้ายที่มีความเกี่ยวข้องกับเวียงแก้ว โดยพระองค์ได้มอบพื้นที่เวียงแก้วให้ทางการสยามนำไปสร้างเป็นเรือนจำ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๔๖ เรื่อยมาจนกระทั่งกรมราชทัณฑ์ได้ย้ายนักโทษหญิงออกจากทัณฑสถานหญิงเดิมที่สร้างบนพื้นที่เวียงแก้วในพุทธศักราช ๒๕๕๕ ไปตั้งในพื้นที่แห่งใหม่ที่ถนนโชตนา ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ถึงปัจจุบัน
          ภายหลังจากที่ทัณฑสถานหญิงเดิมได้ย้ายออกไปตั้งในที่แห่งใหม่แล้ว ประชาชนชาวเชียงใหม่จำนวนมากได้มีการลงประชามติให้มีการปรับปรุงพื้นที่ทัณฑสถานหญิงเดิมให้เป็นพื้นที่สาธารณะ และฟื้นฟูเวียงแก้วซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงใหม่ เพื่อประโยชน์ในด้านการศึกษาพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ล้านนาโดยปัจจุบัน สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่ ได้ทำการขุดค้นทางโบราณคดี เพื่อศึกษาหลักฐานการตั้งอยู่รวมถึงพัฒนาการของเวียงแก้ว ประกอบกับการศึกษาจากเอกสารทางประวัติศาสตร์ของนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ล้านนา ส่งผลให้ปัจจุบันการศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับเวียงแก้วเป็นสิ่งที่ชาวเชียงใหม่หลายคนให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง
          ผลการดำเนินงานด้านวิชาการโบราณคดีพบหลักฐานเครื่องถ้วยจำนวนมาก ที่สะท้อนให้เห็นพัฒนาการของเวียงแก้วผ่านเครื่องถ้วยต่างๆ ที่พบจากการขุดค้นทางโบราณคดีที่แหล่งโบราณคดีเวียงแก้ว เพราะเครื่องถ้วยเป็นหนึ่งในหลักฐานสำคัญที่สามารถกำหนดอายุสมัยโดยใช้การเปรียบเทียบ เครื่องถ้วยจีนที่ในแต่ละแหล่งเตาที่จะมีลักษณะแตกต่างกันไปตามแต่ละยุคสมัยของจักรพรรดิพระองค์นั้นๆ หรือเครื่องถ้วยล้านนาจากแหล่งผลิตต่างๆ ก็มีเอกลักษณ์จนสามารถระบุความสัมพันธ์ของเมืองเชียงใหม่กับเมืองที่เป็นแหล่งผลิตเครื่องถ้วยเหล่านั้น จึงเป็นที่น่าสนใจหากจะศึกษาพัฒนาการแต่ละยุคสมัยของเวียงแก้ว รวมถึงศึกษาการติดต่อสัมพันธ์กับบ้านเมืองอื่น ๆ ผ่านหลักฐานประเภทเครื่องถ้วย โดยนำมาเทียบกับหลักฐานเอกสารทางประวัติศาสตร์ ซึ่งจะช่วยให้ผู้เข้าชมสามารถเข้าใจประวัติศาสตร์และพัฒนาการของเวียงแก้วได้มากยิ่งขึ้น
           การขุดค้นทางโบราณคดีในเวียงแก้ว
          “เวียงแก้ว” เป็นชื่อเขตพระราชฐานของกษัตริย์ล้านนาที่อยู่ในสำนึกของชาวเชียงใหม่มาช้านานแล้ว โดยเฉพาะในกลุ่มนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ล้านนาต่างให้ความสำคัญกับพื้นที่แห่งนี้เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ตั้งอยู่ใกล้ใจกลางเมืองเชียงใหม่ ซึ่งตามความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ไทนับได้ว่าเป็นพื้นที่สำคัญอันเป็นเสมือน “หัวใจ” หรือ “หลักเมือง” ภายหลังจากทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ที่เดิมตั้งอยู่ในพื้นที่ของเวียงแก้วได้ย้ายออกไปตั้งยังสถานที่แห่งใหม่บนถนนโชตนา ในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ชาวเชียงใหม่และกลุ่มนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ล้านนาต่างตื่นตัวที่จะเรียกร้องให้มีการรื้อถอนอาคารและสิ่งปลูกสร้างของทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ออกทั้งหมด โดยในปี พ.ศ. ๒๕๕๖ ชาวเชียงใหม่ได้ทำประชาพิจารณ์ให้มีการปรับปรุงพื้นที่ทัณฑสถานเดิมนี้ให้กลายเป็นสวนสาธารณะ โดยมีจังหวัดเชียงใหม่เป็นผู้ควบคุมดูแลงบประมาณและการก่อสร้าง ภายใต้ชื่อ “โครงการพัฒนาข่วงหลวงเวียงแก้ว” ซึ่งได้รับการจัดสรรงบประมาณ จำนวน ๙๕ ล้านบาท โดยมีกำหนดเริ่มต้นดำเนินโครงการเมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๓ - ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๖๕ อย่างไรก็ตาม การจะสร้างสิ่งก่อสร้างใหม่บนสถานที่ที่คาดว่ามีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มาก่อนนั้นยังไม่สามารถทำได้โดยทันที เพราะต้องมีการศึกษาทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีเสียก่อน เพื่อยืนยันถึงการมีอยู่จริงของเวียงแก้ว และป้องกันมิให้เกิดการทำลายหลักฐานที่อาจมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่างมาก
          การดำเนินงานด้านโบราณคดีในเวียงแก้ว เป็นส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนาโครงการข่วงหลวงเวียงแก้วของจังหวัดเชียงใหม่ โดยกลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่ เป็นผู้รับผิดชอบควบคุมการขุดค้น การดำเนินงานทางโบราณคดี แบ่งออกเป็น ๒ ระยะ ดังนี้
          ระยะที่ ๑ เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๙ - ๒๕๖๐ ทำการขุดค้นและขุดแต่งในพื้นที่ทัณฑสถานหญิงเดิม พื้นที่บางส่วนของสำนักงานยาสูบ (เดิมเป็นคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ แก้วมุงเมือง) และพื้นที่บ้านพักผู้บัญชาการเรือนจำเดิม ซึ่งบริเวณเหล่านี้เมื่อนำมาเทียบกับแผนที่เมืองเชียงใหม่ที่จัดทำขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๓๖ ก็พบว่าตรงกับพื้นที่สี่เหลี่ยมด้านทิศใต้ของเวียงแก้ว
          ระยะที่ ๒ เริ่มช่วงเดือนกันยายน ๒๕๖๓ - เดือนมีนาคม ๒๕๖๔ เป็นการดำเนินงานต่อเนื่องภายหลังจากการรื้อถอนอาคารของทัณฑสถานหญิงเดิมรุ่นหลังบางอาคารที่ทับกับหลักฐานแนวอิฐที่พบจากการขุดค้นในระยะที่ ๑ จากการดำเนินงานตลอดปี พ.ศ. ๒๕๕๙ - เดือนมีนาคม ๒๕๖๔ พบหลักฐานสำคัญที่บ่งบอกถึงพัฒนาการของเวียงแก้ว ได้แก่ แนวอิฐที่ก่อเป็นกำแพงและฐานรากอาคาร ที่บ่งบอกถึงลำดับการก่อสร้างภายในเวียงแก้วมาตั้งแต่สมัยล้านนา (ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ - ๒๒) โดยสันนิษฐานว่า การสร้างเวียงแก้วน่าจะเริ่มจากบริเวณพื้นที่สี่เหลี่ยมด้านทิศตะวันออกก่อน แล้วจึงปรับเปลี่ยน ขยับขยายพื้นที่เรื่อยมาหลายยุคสมัยจนกระทั่งมีลักษณะดังเช่นปัจจุบัน
          นอกเหนือจากหลักฐานสำคัญอย่างแนวกำแพงและฐานรากอาคารแล้ว หลักฐานโบราณวัตถุที่พบจากการขุดค้นและขุดแต่งทางโบราณคดีในเวียงแก้วก็มีความสำคัญเช่นกัน โดยโบราณวัตถุที่พบนั้นมีจำนวนนับหมื่นชิ้น ส่วนใหญ่เป็นโบราณวัตถุประเภทเครื่องปั้นดินเผาแบบเนื้อดิน อาทิ ครก สาก หินบดยา เครื่องปั้นดินเผาเนื้อแกร่งจากแหล่งเตาในล้านนาและท้องถิ่น รวมไปถึงเครื่องถ้วยจากต่างประเทศ ทั้งเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หยวน หมิง และชิง แม้กระทั่งเครื่องถ้วยจากประเทศญี่ปุ่นและเวียดนามก็พบในแหล่งโบราณคดีแห่งนี้เช่นกัน การดำเนินงานขณะนี้ยังคงอยู่ในระหว่างการวิเคราะห์โบราณวัตถุ หากมีการวิเคราะห์เสร็จสิ้นแล้วก็จะช่วยให้มองเห็นภาพพัฒนาการของเวียงแก้วได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
           การดำเนินงานขุดค้นและขุดแต่งทางโบราณคดีได้เสร็จสิ้นลงแล้ว เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๖๔ ที่ผ่านมา โดยทางสำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่ ได้ทำการขุดค้น ขุดแต่งจนถึงชั้นดินพื้นที่ใช้งานเดิมสมัยล้านนา และทำการรื้อถอนอาคารทัณฑสถานเดิมออกบางส่วน เหลือเพียงอาคารที่ยังคงมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ด้านการศาลไว้ ๓ หลัง คือ อาคารบัญชาการ เรือนเพ็ญ และอาคารแว่นแก้ว รวมไปถึงป้อมปราการด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้และกำแพงเรือนจำบางส่วนเท่านั้น ขณะที่แนวอิฐที่เป็นกำแพงเวียงแก้วและฐานรากอาคารต่างๆ ที่ขุดค้นพบ จะทำการถมกลับไว้ เพื่อป้องกันการถูกทำลายจากปัจจัยต่างๆ และจะทำการขุดเปิดอีกครั้งเมื่อมีแผนการปรับปรุงพื้นที่ตามโครงการพัฒนาข่วงหลวงเวียงแก้วของจังหวัดเชียงใหม่ในอนาคต
           เครื่องถ้วยที่จัดแสดงในนิทรรศการ
           ๑. เครื่องถ้วยจีน ได้แก่
           - สมัยราชวงศ์หยวน ได้แก่ กลุ่มเครื่องถ้วยลายคราม เขียนสีนํ้าเงินใต้เคลือบ และกลุ่มเครื่องเคลือบสีเขียว

ภาพ : เครื่องถ้วยจีนจากราชวงศ์หยวน (ซ้ายมือ) และราชวงศ์ชิง (ขวามือ)





           - สมัยราชวงศ์หมิง ได้แก่ กลุ่มเครื่องถ้วยเคลือบสีนํ้าเงิน จากแหล่งเตาเต๋อฮั่ว มณฑลฝูเจี้ยน กลุ่มเครื่องถ้วยลายคราม เขียนสีนํ้าเงินใต้เคลือบ จากแหล่งเตาจิ่งเต๋อเจิ้น มณฑลเจียงซี และเตาในมณฑลฝูเจี้ยน ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยเคลือบสีเขียว จากแหล่งเตาฉือเส้า มณฑลฝูเจี้ยน เครื่องถ้วยเขียนสีบนเคลือบ จากแหล่งเตาจิ่งเต๋อเจิ้น มณฑลเจียงซี





ภาพ : เครื่องถ้วยจีนราชวงศ์หมิง


           - สมัยราชวงศ์ชิง ได้แก่ เครื่องถ้วยลายคราม เขียนสีนํ้าเงินใต้เคลือบ สมัยราชวงศ์ชิง แหล่งเตาเต๋อฮั้ว มณฑลฝูเจี้ยน และแหล่งเตาจิ่งเจ๋อเจิ้น มณฑลเจียงซี
           - สมัยสาธารณรัฐจีน ได้แก่ กระปุกเคลือบสีนํ้าตาล แหล่งเตาจิโจว และเศษเครื่องถ้วยเขียนสีบนเคลือบ หรือที่รู้จักกันดีในนาม “ชามตราไก่” จากแหล่งเตาต้าปู้ มณฑลกว่างตง และเครื่องถ้วยเขียนสีนํ้าเงินใต้เคลือบ

ภาพ ; เครื่องถ้วยจีนสมัยสาธารณรัฐ (ซ้าย) และเครื่องถ้วยจากเวียดนามและญี่ปุ่น (ขวา)


           ๒. กลุ่มเครื่องถ้วยแหล่งเตาล้านนา/ท้องถิ่น อาทิ เบี้ยขุดลายจากแหล่งเตาพะเยา (เวียงบัว) ก้นภาชนะเขียนลายสีดำบนพื้นขาวจากแหล่งเตาสุโขทัย เครื่องถ้วยเคลือบสีเขียวขุดลายจากแหล่งเตาศรีสัชนาลัย เครื่องถ้วยเคลือบสีขาว และเขียนสีดำบนพื้นขาวใต้เคลือบจากแหล่งเตาเวียงกาหลง จังหวัดเชียงราย เครื่องถ้วยเคลือบสีเขียวจากแหล่งเตาสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ตุ๊กตาดินเผาเคลือบสีเขียว ชิ้นส่วนพระพุทธรูปดินเผา รวมถึงภาชนะดินเผาเนื้อดินที่ผลิตในแหล่งเตาท้องถิ่น เช่น กุณฑี (คนโท) ตะคันดินเผา หม้อปากผายออกขนาดเล็ก และครกดินเผา ครกหิน และสาก ที่ได้จากการขุดค้นในแหล่งโบราณคดีเวียงแก้วด้วย







ภาพ : เครื่องถ้วยจากแหล่งเตาในล้านนาและภาคเหนือ


ภาพ : กุณฑี (คนโท) และภาชนะดินเผาเนื้อดินชนิดอื่นๆ ที่พบในแหล่งโบราณคดีเวียงแก้ว


ภาพ : ครกดินเผา ครกหิน และสาก

           ๓. กลุ่มเครื่องถ้วยจากประเทศเวียดนาม และญี่ปุ่น ได้แก่ เครื่องถ้วยเคลือบสีเขียว และเขียนสีนํ้าเงินใต้เคลือบจากประเทศเวียดนาม ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยเขียนสีแดงลายโชกุน สมัยเอโดะ ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยพิมพ์ลายสีนํ้าเงินใต้เคลือบ สมัยเมจิ - ไทโช และแจกันเขียนลายสีนํ้าเงินและทอง ราวสมัยเมจิ จากประเทศญี่ปุ่น





           นิทรรศการเครื่องถ้วยเวียงแก้วครั้งนี้ ได้นำเอาเครื่องถ้วยที่ได้จากการขุดค้นพบในแหล่งโบราณคดีเวียงแก้ว มาจัดลำดับตามอายุสมัยของเครื่องถ้วย เทียบกับเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเวียงแก้วจากหลักฐานเอกสารทางประวัติศาสตร์ โดยนำเสนอในรูปแบบของไทม์ไลน์ เพื่อให้ผู้เข้าชมสามารถเข้าใจบริบทของเครื่องถ้วยที่พบในเวียงแก้วได้มากยิ่งขึ้น
           นิทรรศการพิเศษ เรื่อง "เครื่องถ้วยเวียงแก้ว จากวัตถุสู่พัฒนาการวังหลวงแห่งเวียงเชียงใหม่" จัดแสดงระหว่างวันที่ ๑ กันยายน - ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๔ ณ อาคารจัดแสดงชั้น ๒ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ เปิดให้บริการทุกวันพุธ – วันอาทิตย์ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. (ปิดวันจันทร์ อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์) สอบถามเพิ่มเติม โทร. ๐ ๕๓๒๒ ๑๓๐๘

(จำนวนผู้เข้าชม 3355 ครั้ง)

Messenger