เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
ปราสาทเขาโล้น : ทับหลังและซุ้มประตูด้านตะวันออกของปราสาทประธาน
เป็นที่ทราบกันดีว่าภาพถ่ายทับหลังปราสาทเขาโล้น ได้รับการตีพิมพ์เมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๐ ในหนังสือ “ศิลปสมัยลพบุรี” โดยศาสตราจารย์ หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล ซึ่งภาพถ่ายนี้เป็นหลักฐานสำคัญในการทวงคืนทับหลังชิ้นนี้กลับสู่ประเทศไทย นอกจากนี้หน่วยศิลปากรที่ ๕ กรมศิลปากร ได้เคยบันทึกภาพทับหลังปราสาทเขาโล้นไว้เมื่อราวพุทธศักราช ๒๕๐๓ ด้วยเช่นกัน
ภาพถ่ายทั้งสองครั้งนั้นทำให้ทราบว่าทับหลังที่ซุ้มประตูด้านตะวันออกของปราสาทเขาโล้น ประกอบด้วยเทวดานั่งชันเข่าบนเกียรติมุข (หน้ากาล) ใต้ลิ้นของเกียรติมุขมีท่อนพวงมาลัยแยกออกทั้งสองด้าน ปลายท่อนพวงมาลัยขมวดเป็นวงโค้งสลับกัน จัดเป็นทับหลังศิลปะเขมรในประเทศไทยแบบบาปวนตอนต้น ซึ่งปัจจุบันรูปเทวดาได้ถูกกะเทาะหายไป
นอกจากทับหลังแล้ว ส่วนประกอบซุ้มประตูทำจากหินทราย ได้แก่ แถวกลีบบัวเหนือทับหลัง ซึ่งมี ๒ ชิ้นนั้น สำนักศิลปากรที่ ๕ ปราจีนบุรี ได้พบชิ้นที่เคยประดับด้านบนขวาของทับหลังจากการขุดแต่งปราสาทเขาโล้น เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๖๐ ดังที่ได้นำเรียนไปแล้วในบทความตอนที่ ๒ เสาประดับกรอบประตู แปดเหลี่ยม สลักลวดลายที่กำหนดอายุได้ในศิลปะเขมรในประเทศไทยแบบเกลียง ปัจจุบันยังไม่พบว่าอยู่ที่ใด
กรอบประตู สลักลายลวดบัวขนานกันไป ในพุทธศักราช ๒๔๔๗ เอเตียน เอโมนิเยร์ (Étienne Aymonier) ได้ระบุว่ามีจารึกภาษาสันสกฤตและเขมรบนกรอบประตูด้านเหนือและใต้ ซึ่งต่อมาในพุทธศักราช ๒๔๙๗ ฌอช เซแด็ส (George Cœdès) ได้อ่าน-แปลและได้กำหนดทะเบียนเป็น K.232 เนื้อความในกรอบประตูด้านใต้ ระบุว่า ศรีมันนฤปทินทร ขุนนางของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ ที่ได้มาปกครองดินแดนบริเวณนี้ ได้สร้างเทวสถาน ไว้บนภูเขา “มฤตสังชญกะ” เพื่อประดิษฐานรูปพระศัมภุ (พระศิวะ) พระเทวีและพระศิวลึงค์ (อีศลิงคะ) เมื่อมหาศักราช ๙๒๙ (พุทธศักราช ๑๕๕๐) ซึ่งจากการขุดค้นของกรมศิลปากรก็พบว่าปราสาทเขาโล้น เป็นปราสาท ๓ หลัง ดังที่ได้นำเรียนไปแล้วในบทความตอนที่ ๑ ดังนั้นปราสาทเขาโล้นจึงเป็นศาสนสถานที่สร้างขึ้นเนื่องในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกายหรือนิกายที่นับถือพระศิวะเป็นใหญ่
ส่วนกรอบประตูด้านเหนือระบุว่าในมหาศักราช ๙๓๘ (พุทธศักราช ๑๕๕๙) พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ โปรดเกล้าฯ ให้ มรตาญโขลญศรีวีรวรมัน มาประดิษฐาน “เสาจารึก” ที่ “ภูเขาดิน” หมายถึงภูเขา “มฤตสังชญกะ” แห่งนี้ ปัจจุบันกรอบประตูทั้งด้านเหนือและใต้นี้ เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด โดยสำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้สำรวจและให้ทะเบียนกรอบประตูด้านเหนือเป็น จารึกวังสวนผักกาด (กท.๕๓) และกรอบประตูด้านใต้เป็นจารึกวังสวนผักกาด ๒ (กท.๕๔)
อย่างไรก็ตามกรอบประตูทั้งสองชิ้นนี้แตกหัก จึงได้พบชิ้นส่วนกรอบประตูจากการขุดค้นด้วย ดังนั้นจึงไม่สามารถนำกรอบประตูทั้ง ๒ ชิ้นนี้มาติดตั้งในตำแหน่งเดิมได้ ในการบูรณะจึงได้เสริมกรอบประตูและเสาประดับกรอบประตูหินทราย ร่วมกับกรอบประตูชิ้นบนที่พบบริเวณปราสาท เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับติดตั้ง ทับหลังในอนาคต ดังที่ได้นำเรียนไปแล้วในบทความตอนที่ ๓
ภาพที่ ๑ ทับหลังปราสาทเขาโล้น ในขณะที่จัดแสดงในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มา: Asian Art Museum Online Collection
ภาพที่ ๒ ภาพถ่ายทับหลังปราสาทเขาโล้น ที่มา: หนังสือ ศิลปะสมัยลพบุรี
ภาพที่ ๓ ภาพถ่ายทับหลังปราสาทเขาโล้น
ภาพที่ ๔ ภาพถ่ายทับหลังปราสาทเขาโล้น ภาพที่ ๕ แถวกลีบบัวเหนือทับหลัง พบจากการขุดค้น
ภาพที่ ๖ และ ๗ ปราสาทเขาโล้น หลังการอนุรักษ์
(จำนวนผู้เข้าชม 2237 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน