เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
สิงห์ : ผู้คุ้มครองศาสนสถานเมืองกำแพงเพชร
ทวารบาล หมายถึง นายประตูหรือผู้ปกปักรักษาประตู ไม่ให้สิ่งที่เป็นอันตรายหรือสิ่งชั่วร้ายผ่านไปสู่พื้นที่ด้านหลังบานประตูนั้นได้ ศาสนสถานเปรียบเสมือนที่ประทับแห่งเทพหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นจึงต้องมีการสร้างรูปทวารบาลของศาสนสถานที่ดูน่าเกรงขามหรือทำให้เชื่อว่าป้องกันสิ่งที่ชั่วร้ายได้เพื่อเอาไว้คุ้มครองและอำนวยพรแก่ผู้มาสักการะให้รู้สึกปลอดภัยจากสิ่งชั่วร้าย จึงปรากฏการสร้างประติมากรรมรูปบุคคล และรูปสัตว์ชั้นสูงหรือสัตว์ที่เป็นมงคล บริเวณทางเข้าหรือประตูเพื่อเป็นทวารบาลในการปกป้องและคุ้มครองศาสนสถานแห่งต่าง ๆ
สิงห์ ความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถานพุทธศักราช ๒๕๕๔ หมายถึง สัตว์ในนิยาย ถือว่ามีความดุร้ายและมีกำลังมาก และมีที่มาจากสิงโตซึ่งเป็นสัตว์ในท้องถิ่นของประเทศอินเดีย เป็นตัวแทนของราชาแห่งสรรพสัตว์ทั้งหลาย สิงห์จึงเป็นสัญลักษณ์แห่งกษัตริย์ เมื่อพระพุทธเจ้านั้นเคยเป็นบุคคลในวรรณะกษัตริย์ สิงห์จึงถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ในทางพระพุทธศาสนาอีกทางหนึ่ง ดังนั้นจึงปรากฏประติมากรรมรูปสิงห์ในฐานะทวารบาลบริเวณทางเข้าของศาสนสถาน ก่อนจะส่งต่อคติดังกล่าวไปยังจีนและเขมรในเวลาต่อมา ในพื้นที่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตามลักษณะทางสัตวภูมิศาสตร์ไม่ปรากฏสิงโตตามธรรมชาติ แต่รูปสิงห์นี้ก็ปรากฏอยู่ในลวดลายเครื่องประดับของเขมรตามแบบที่ได้รับมาจากอินเดีย ต่อมาประติมากรรมรูปสิงห์ลอยตัวของเขมรก็ปรากฏขึ้น และตั้งอยู่หน้าบันไดทางเข้า ณ ศาสนสถานหลายแห่ง เช่น ปราสาทหมู่กลางหลังที่ ๑ ที่สมโบร์ไพรกุก และปราสาทถมอดอบ รวมถึงทางเข้าของปราสาทหินพิมายในประเทศไทย
ที่เมืองกำแพงเพชรปรากฏประติมากรรมสิงห์ในฐานะทวารบาลบริเวณทางเข้าโบราณสถานหลายแห่ง เช่น โบราณสถานวัดช้างรอบ พบโกลนศิลาแลงประติมากรรมรูปสิงห์และด้านหลังสิงห์เป็นโกลนประติมากรรมรูปบุคคลบริเวณเชิงบันไดทางขึ้นลานประทักษิณของเจดีย์ประธาน
โบราณสถานวัดสิงห์ พบร่องรอยประติมากรรมรูปสิงห์และด้านหลังเป็นโกลนประติมากรรมรูปบุคคลตั้งเป็นคู่กัน บริเวณด้านหน้าชานชาลาของอุโบสถ และโบราณวัดพระนอนพบร่องรอยประติมากรรมรูปสิงห์จำนวน ๑ คู่ บริเวณบันไดต่อจากทางเข้าวัดด้านทิศใต้ แต่ไม่ปรากฏร่องรอยประติมากรรมของรูปบุคคลด้านหลังแบบที่พบในวัดช้างรอบและวัดสิงห์ แม้ว่าร่องรอยประติมากรรมสิงห์ที่พบที่วัดสิงห์และวัดพระนอนปรากฏสภาพที่ไม่สมบูรณ์นัก แต่พบหลักฐานจากภาพถ่ายเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเมืองกำแพงเพชรเมื่อพุทธศักราช ๒๔๔๙ ปรากฏประติมากรรมรูปสิงห์ที่บริเวณดังกล่าวอย่างชัดเจน
นอกจากการพบประติมากรรมรูปสิงห์ในฐานะทวารบาลบริเวณทางเข้าของศาสนสถานแล้ว ที่เมืองกำแพงเพชรยังพบเจดีย์ทรงระฆังที่มีประติมากรรมสิงห์ล้อมที่ฐานเจดีย์พบที่วัดพระแก้ว ซึ่งเจดีย์รูปแบบดังกล่าวเป็นเจดีย์รูปแบบพิเศษพบที่กรุงศรีอยุธยา ๒ แห่ง คือเจดีย์ประธานวัดแม่นางปลื้มและเจดีย์ประธานวัดธรรมิกราช การประดับประติมากรรมรูปสิงห์ล้อมฐานเจดีย์ดังกล่าวนี้คงเทียบได้กับการทำรูปช้างล้อม กล่าวคือระเบียบในการประดับประติมากรรมรูปสัตว์ที่ฐานได้รับรูปแบบมาจากเจดีย์ช้างล้อมในศิลปะสุโขทัย แต่การประดับรูปสิงห์นั้นคงดัดแปลงเอามาจากศิลปะอยุธยาซึ่งได้รับอิทธิพลดังกล่าวมาจากศิลปะเขมร นอกจากนี้ที่โบราณสถานวัดอาวาสใหญ่ บริเวณฐานไพทีรูปตัวแอล (L) ที่รองรับเจดีย์บริวารจำนวน ๘ องค์ด้านบน ส่วนด้านทิศเหนือของวิหาร พบโกลนประติมากรรมรูปสิงห์ สันนิษฐานจากร่องรอยของสลักศิลาแลงที่ยื่นต่อออกมาจากฐานไพทีดังกล่าวน่าจะเป็นส่วนที่เคยรองรับประติมากรรมรูปสิงห์มาก่อน ซึ่งพบหลักฐานเฉพาะส่วนด้านทิศเหนือเท่านั้น และไม่พบสลักหรือโกลนประติมากรรมรูปสิงห์ที่ส่วนอื่นและฐานไพทีด้านทิศใต้แต่อย่างใด นอกจากนี้จากภาพถ่ายเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๔๙ ยังคงปรากฏประติมากรรมรูปสิงห์บริเวณชานชาลาหน้าวิหารในฐานะของทวารบาลอีกด้วย
จากรูปแบบการพบประติมากรรมรูปสิงห์ที่เมืองกำแพงเพชรทั้งส่วนที่เป็นประติมากรรมในฐานะทวารบาลและส่วนที่เป็นประติมากรรมล้อมฐานเจดีย์ จึงเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าที่เมืองกำแพงเพชรมีคติความเชื่อเรื่องการสร้างทวารบาลเพื่อปกป้องศาสนสถาน โดยใช้สิงห์เพื่อแสดงให้เห็นถึงสัญลักษณ์ของความมีพลังอำนาจและความดุร้ายเพื่อคุ้มครองดูแลศาสนสถาน
------------------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
------------------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
: กรมศิลปากร. ทวารบาลผู้รักษาศาสนสถาน. พิมพ์ครั้งที่ ๒ .กรุงเทพฯ : บริษัท อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง), ๒๕๔๖. สุรพล ดำริห์กุล. “เจดีย์ช้างล้อมและเจดีย์สิงห์ล้อมในกรุงศรีอยุธยา” .วารสารวิจิตรศิลป์. ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๒ (กรกฎาคม – ธันวาคม ๒๕๕๗) หน้าที่ ๑๐๑ – ๑๓๑. สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพุทธศักราช ๒๕๕๔. กรุงเทพฯ : สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, ๒๕๕๔. หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล. ศิลปะขอม.กรุงเทพฯ : บริษัท อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, ๒๕๔๗.
(จำนวนผู้เข้าชม 4868 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน