จารึกปุษยคีรี : ชื่อภูเขาศักดิ์สิทธ์แห่งเมืองอู่ทอง

          ศิลาจารึกปุษยคีรี (หนังสือจารึกในประเทศไทย เล่มที่ ๑ เรียกว่า จารึกเขาปุมยะคีรี เลขทะเบียน รบ.๓) พบบริเวณเมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จารึก ๑ ด้าน ๑ บรรทัด ด้วยอักษรหลังปัลลวะ ภาษาสันสกฤต เป็นชื่อเฉพาะ แปลว่า “ปุษยคิริ” (ปุษย หมายถึง ดอกไม้ และ คิริ หมายถึง ภูเขา) พิจารณาจากรูปแบบอักษรสามารถกำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๔ (ราว ๑,๒๐๐ – ๑,๓๐๐ ปีมาแล้ว) นักวิชาการได้ศึกษาและตีความจารึกดังกล่าว มีประเด็นสำคัญในการศึกษา แบ่งเป็น ๓ ประเด็น ดังนี้
          ๑. คำอ่านและคำแปลจารึก นักวิชาการได้อ่านและแปลจารึกแผ่นนี้เป็น ๒ แนวทาง ได้แก่ อ่านว่า “ปุมฺยคิริ” แปลว่า ปุมยคิริ หรือ เขาปุมยะ และ “ปุษยคิริ” แปลว่า ปุษยคิริ หรือ เขาปุษยะ ทั้งนี้ หากแปลว่า “ปุษยคิริ” น่าจะตรงกับการเทียบเคียงรูปแบบตัวอักษรสมัยหลังปัลลวะ และการแปลความหมายในภาษาสันสกฤตมากกว่า
          ๒. การตีความชื่อเขาปุษยคีรีกับหลักฐานด้านภูมิศาสตร์และหลักฐานทางโบราณคดีในเมืองโบราณอู่ทอง โดยนักวิชาการส่วนใหญ่ตีความว่าชื่อ “ปุษยคีรี” ที่ปรากฏในจารึกดังกล่าว หมายถึงเขาทำเทียม ตั้งอยู่บริเวณด้านทิศตะวันตกของเมืองโบราณอู่ทอง ซึ่งพบโบราณสถานสำคัญในสมัยทวารวดีจนถึงสมัยอยุธยา รวมทั้งมีการขุดค้นพบโบราณวัตถุสำคัญจำนวนมากในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว ทั้งนี้คงเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของเมืองอู่ทองมายาวนาน ตั้งแต่สมัยทวารวดี จนถึงสมัยอยุธยา โดยอาจเกี่ยวข้องกับความเชื่อท้องถิ่นผสมผสานกับความเชื่อที่แพร่หลายเข้ามาจากวัฒนธรรมอินเดีย และอาจเป็นภูเขาที่ใช้เป็นหลักหมาย (landmark) ในการเดินทางของนักเดินทาง
          ๓. ความสัมพันธ์กับการรับวัฒนธรรมอินเดีย มีผู้เสนอว่า การพบจารึกปุษยคีรีในดินแดนไทย เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นถึงการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชของอินเดียมายังประเทศไทย เนื่องจากมีความพ้องกับชื่อภูเขาศักดิ์สิทธ์ ได้แก่ ปุษฺปคีรี ในรัฐโอริสสา ซึ่งเชื่อว่าพระเจ้าอโศกมหาราช (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๗๐ – ๓๑๑) ทรงสถาปนา และเป็นเมืองที่เป็นศูนย์กลางการติดต่อกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในระยะเวลาต่อมา ทั้งนี้ในเมืองโบราณอู่ทองยังไม่พบหลักฐานที่มีอายุเก่าไปถึงช่วงเวลาดังกล่าวที่จะช่วยสนับสนุนแนวคิดนี้ อย่างไรก็ตาม ชื่อเขาปุษยคิริ ในอินเดียคงเป็นชื่อมงคลที่ส่งอิทธิพลมาถึงการเรียกชื่อสถานที่สำคัญในวัฒนธรรมทวารวดี ให้มีความเกี่ยวข้องกับดินแดนศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของพระพุทธศาสนา ก็เป็นได้
          จารึกปุษยคีรี จึงเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงสถานที่สำคัญที่ตั้งอยู่บริเวณเมืองโบราณอู่ทอง ในวัฒนธรรมทวารวดี ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๔ ซึ่งสัมพันธ์กับการรับวัฒนธรรมและความเชื่อจากอินเดียในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ภูเขาปุษยคีรีอาจเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของคนในท้องถิ่นตั้งแต่สมัยทวารวดีจนถึงสมัยอยุธยา

---------------------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
---------------------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร, จารึกในประเทศไทย เล่ม ๑ (อักษรปัลลวะ อักษรหลังปัลลวะ พุทธศตวรรษที่ ๑๑ – ๑๔), กรุงเทพฯ : สำนักหอสมุดแห่งชาติ, ๒๕๕๙. นพชัย แดงดีเลิศ, จารึกทวารวดี : การศึกษาเชิงอักขรวิทยา, วิทยานิพนธ์หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจารึกภาษาไทย, บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๒. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล, “ปุษยคิริ : เขาศักดิ์สิทธิ์ของเมืองอู่ทองที่ถูกลืมเลือน”, วารสารดำรงวิชาการ, ๑๓,๑ (มกราคม-มิถุนายน ๒๕๕๗), หน้า ๑๓๓ – ๑๕๘.

ที่มาของสำเนาภาพจารึก กรมศิลปากร, จารึกในประเทศไทย เล่ม ๑ (อักษรปัลลวะ อักษรหลังปัลลวะ พุทธศตวรรษที่ ๑๑ – ๑๔), กรุงเทพฯ : สำนักหอสมุดแห่งชาติ, ๒๕๕๙, หน้า ๓๑๐.

(จำนวนผู้เข้าชม 1765 ครั้ง)

Messenger