เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
ลูกเต๋า : การละเล่นโบราณ ? ในวัฒนธรรมทวารวดี ที่เมืองอู่ทอง
บริเวณเมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ได้มีการขุดพบลูกเต๋าโบราณทำจากดินเผา กระดูกสัตว์ และงาช้าง มีรูปทรง ๒ ลักษณะ ได้แก่ ลูกเต๋าทรงลูกบาศก์ (สี่เหลี่ยมจัตุรัส) ที่มีลักษณะเช่นเดียวกับลูกเต๋าในปัจจุบัน คือ เป็นลูกเต๋าที่มี ๖ ด้าน แต่ละด้านมีรอยขูดขีดลึกลงไปเป็นจุดกลม ๑ ถึง ๖ จุด และรูปทรงอีกแบบหนึ่งมีลักษณะเป็นแท่งยาวทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า มี ๔ ด้าน แต่ละด้านสลักเป็นจุดวงกลมล้อมรอบด้วยเส้นวงกลมหลายเส้น ด้านละ ๑, ๒, ๓ และ ๔ จุด ตามลำดับ
ลูกเต๋าโบราณทั้งสองแบบ ได้พบแพร่หลายในหลายพื้นที่ ทั้งในดินแดนตะวันออกกลาง (อาณาจักรเปอร์เชีย) ยุโรป รวมทั้งดินแดนชมพูทวีป (อินเดียตอนเหนือและพื้นที่ด้านตะวันตก)
จากการค้นพบลูกเต๋าตามแหล่งโบราณคดีต่าง ๆ ทำให้สันนิษฐานว่า ลูกเต๋าเป็นอุปกรณ์ที่เป็นส่วนหนึ่งของการละเล่น กีฬา หรือการพนัน ในอินเดียได้พบลูกเต๋าทรงลูกบาศก์ ตั้งแต่อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุหรือในวัฒนธรรมยุคทองแดง อายุ ๔,๕๐๐ – ๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว (๓,๐๐๐ – ๒,๕๐๐ ปีก่อนคริสตกาล) ในบางแห่งขุดพบลูกเต๋าร่วมกับแผ่นดินเผาที่มีการตีเส้นตาราง สันนิษฐานว่าใช้เป็นอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการละเล่นหรือกีฬาของคนสมัยโบราณ และอาจเป็นต้นเค้าของกีฬาหมากรุกในปัจจุบัน ในอินเดียได้พบลูกเต๋าแพร่หลายมากในชั้นวัฒนธรรมสมัยราชวงศ์โมริยะ-ศุงคะ (สมัยเหล็กตอนปลาย) ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๓-๗ (ประมาณ ๑,๙๐๐ - ๒,๓๐๐ ปีมาแล้ว) ต่อเนื่องมาถึงสมัยคุปตะ ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๙-๑๐ (ประมาณ ๑,๖๐๐ - ๑,๗๐๐ ปีมาแล้ว)
ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากที่เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ยังพบลูกเต๋าที่แหล่งโบราณคดีเนินมะกอก อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี และที่แหล่งโบราณคดีบ้านท่าแค ในพื้นที่อำเภอเมืองฯ จังหวัดลพบุรี กำหนดอายุช่วงพุทธศตวรรษที่ ๙ - ๑๐ หรือเมื่อ ๑,๖๐๐ – ๑,๗๐๐ ปีมาแล้ว)
การค้นพบลูกเต๋าที่เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จึงเป็นหลักฐานที่ยืนยันได้ถึงการติดต่อแลกเปลี่ยนกับชาวอินเดียในช่วงก่อนสมัยทวารวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๙ – ๑๐ แสดงถึงความสำคัญในฐานะเมืองท่าค้าขายช่วงเวลานั้น
--------------------------------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
--------------------------------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. เนินมะกอก : รายงานเบื้องต้นเฉพาะเรื่องชั้นดินและหลักฐานโบราณคดีบางประเภท. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, ๒๕๓๒. กรมศิลปากร. โบราณคดีเมืองอู่ทอง. นนทบุรี : สหมิตรพริ้นติ้ง, ๒๕๔๕. ผาสุข อินทราวุธ. ทวารวดี : การศึกษาเชิงวิเคราะห์จากหลักฐานทางโบราณคดี. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์อักษรสมัย, ๒๕๔๒. Alex Fox. Ancient Roman Board Game found in Norwegian Burial Mound: researchers unearthed a four-sided dice and 18 circular tokens. [Online.] Available from https://www.smithsonianmag.com/smart-news/ancient-roman-board-game-unearthed-norway-180975082/ Shahid Naeem. An Ancient Indus Die. [Online.] Available from https://www.harappa.com/blog/ancient-indus-die [June 15th, 2015] Shahr-e-Sukhteh: the Burnt City. [Online.] Available from http://turquoisedomes.com/2020/01/24/shahr-e-sukhteh/ [January 24, 2020.]
(จำนวนผู้เข้าชม 2252 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน